“ดาต้า” นั้นสำคัญไฉน ในงานประชาสัมพันธ์

ก็เหมือนกับทุกวงการที่ต้องมีดาต้า หรือข้อมูล “ที่ใช่” ไว้ใช้ในการทำงาน งานประชาสัมพันธ์ (PR) นั้นเกี่ยวกับการบริหารจัดการและส่งต่อสารเพื่อเผยแพร่ข้อมูลไปยังสื่อสาธารณะเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว หากจับข้อมูลมานำเสนอได้ถูกจุดย่อมสามารถสร้างผลลัพธ์ที่ดีให้กับแบรนด์ได้อย่างที่วางแผนไว้

 

ทำการบ้านตั้งแต่ระดับ “คำ/ข้อความ” (Adjust messaging)

ดาต้าที่ได้จากคำค้นหรือการพูดถึงของผู้คนสามารถช่วยนักประชาสัมพันธ์เลือกใช้เมสเสจที่มีความเชื่อมโยงกับกลุ่มเป้าหมาย รวมถึงบริบทการเล่าเรื่อง ทำไมถึงต้องสร้างความเชื่อมโยง? นั่นเพราะรูปแบบและการใช้คำสามารถส่งอิทธิพลกับการสร้าง “react” ของผู้อ่านหรือผู้ฟัง การใช้ข้อความที่ไม่เหมาะสมอาจสร้างหายนะให้กับแบรนด์หรือบุคคลนั้น ๆ ได้ในชั่วพริบตา ในมุมของนักประชาสัมพันธ์ จึงมีการทำการบ้านเรื่อง keyword การใช้คำศัพท์เพื่อเจาะกลุ่มเป้าหมายที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้น การเก็บเกี่ยวข้อมูลจากเครื่องมือจำพวก google trends หรือ social listening tool ก็สามารถจับทางแนวทางของข้อความที่น่าจะดึงความสนใจของกลุ่มเป้าหมายได้ โดยกระบวนการคิดการเลือกใช้คำนั้นต้องคำนึงถึงการนำไปใช้ ไม่ว่าจะเป็นการเลือกใช้คำที่ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย รูปแบบของสารที่นำเสนอ หรือการเลือกใช้คำให้ตรงกับการคำค้นใน SERP ซึ่งมีทั้งในรูปแบบการค้นแบบตัวอักษรหรือค้นหาทางเสียง แล้วแต่การใช้งาน รวมถึง CTA ที่อยากให้เกิดขึ้น ก็จะเป็นตัวกำกับคำที่ใช้และรูปแบบการเล่าเรื่อง

 

“ปัง” หรือ “แป๊ก” ให้ดาต้าเป็นตัวบอก (Proof of PR activities)

ดาต้าจะเป็นหนึ่งในเครื่องพิสูจน์ว่าแคมเปญที่จัดนั้น “ปัง” หรือ “แป๊ก” ด้วยการใช้เครื่องมือวิเคราะห์ข้อมูลที่สามารถแสดงผลลัพธ์ที่จับต้องได้มากขึ้น ตัวอย่างเช่น บริษัท ConnectWise ได้นำ Onclusive’s media analytics platform แพลตฟอร์มวิเคราะห์ข้อมูลด้านสื่อมาใช้ในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นการมอนิเตอร์ข่าวสารไปจนถึงสามารถทำการบ้านเรื่องนักข่าว ดึงข้อมูลย้อนหลังที่นักข่าวให้ความสนใจและเขียนถึงขึ้นมาใช้ประกอบการ pitch ได้ นอกเหนือไปจากจำนวนพื้นที่สื่อที่สามารถเข้าถึงได้แล้ว การตรวจวัดลงไปถึงระดับ Earned Media Brand Sentiment, Share of Voice, และ Power of Voice ของแบรนด์และคู่แข่ง เป็นอีก factor ที่ปรากฏในรีพอร์ตงานประชาสัมพันธ์มากขึ้น

ดาต้า_ประชาสัมพันธ์
ตัวอย่างรายงานการแสดงผลค่า Sentiment และ Share of Voice ระหว่างแบรนด์

ร่องรอยดาต้าที่ถูกทิ้งไว้ในโลกโซเชียล (Behavioral insight)

การทำแคมเปญหรือกิจกรรมประชาสัมพันธ์แต่ละครั้ง ต้องวิเคราะห์ลึกไปถึงพฤติกรรมผู้บริโภคผ่านการเสพคอนเทนต์ในแชนแนลต่าง ๆ ซึ่งจะเป็นส่วนที่ช่วยตัดสินใจการลงคอนเทนต์กับสื่อหรืออินฟลูเอนเซอร์นั้น ๆ ปัจจุบันเครื่องมือดิจิทัลฟรีบางประเภทออกแบบมาเพื่ออำนวยความสะดวกทีมพีอาร์ในการเกาะติดข้อมูลเหล่านี้

ระบบ https://starngage.com/ แสดงข้อมูลผู้ติดตามอินฟลูเอนเซอร์บนแพลตฟอร์มอินสตาแกรม ระบุเรื่องเพศ สัญชาติ ฯลฯ ซึ่งสามารถนำมาช่วยประเมินอะไรบางอย่างก่อนไปต่อในการทำกิจกรรมใด ๆ

มีคำกล่าวในแวดวงประชาสัมพันธ์ว่า 65% ของประชาสัมพันธ์ยุคใหม่มองการวิเคราะห์ข้อมูลเป็นทักษะสำคัญในอนาคต เพราะต่อไปดาต้าจะเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยตัดสินใจที่ทรงพลังสำหรับงานพีอาร์ ไม่ว่าจะเป็นการวางแผนกลยุทธ์, การวัดผล, และการสร้างสรรค์ผลงานอื่น ๆ ปรับปรุงภาพลักษณ์ แบรนด์ และเซอร์วิส อย่างไรก็ตามข้อมูลที่ถอดรหัสได้จะไม่มีประโยชน์เลยหากขาดการวิเคราะห์ สังเคราะห์ที่ดีจากผู้นำไปใช้ ฉะนั้นจึงเป็นเรื่องที่นักประชาสัมพันธ์ควรให้ความสำคัญกับการฝึกสกิลขุดคุ้ยดาต้าและนำไปใช้ต่อให้เป็น