อสังหาฯ ยังชะลอตัว ดัชนีราคาต่ำลงต่อเนื่อง หวังมาตรการรัฐผนึกกำลังซื้อต่างชาติปลุกตลาดโตโค้งสุดท้ายปี 64

DDproperty

อสังหาฯ ยังชะลอตัว ดัชนีราคาต่ำลงต่อเนื่อง หวังมาตรการรัฐผนึกกำลังซื้อต่างชาติปลุกตลาดโตโค้งสุดท้ายปี 64

ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ (DDproperty) เว็บไซต์มาร์เก็ตเพลสด้านอสังหาริมทรัพย์อันดับ 1 ของไทย เผยตลาดอสังหาฯ ไตรมาสสุดท้ายยังคงชะลอตัวตามสภาพเศรษฐกิจโดยรวมที่ยังไม่ฟื้นตัว หลังจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกล่าสุดยาวนานกว่าที่คาด ส่งผลให้ดัชนีราคาที่อยู่อาศัยไตรมาสล่าสุดลดลงต่อเนื่อง สวนทางดัชนีอุปทานที่เพิ่มขึ้นถึง 7% สะท้อนให้เห็นถึงกำลังซื้อที่ยังคงชะลอตัว ด้านบ้านเดี่ยวยังครองความนิยมต่อเนื่องจากการตอบโจทย์ผู้ซื้อเพื่ออยู่อาศัยจริง (Real Demand) ในช่วงโควิด-19 อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการคลายล็อกดาวน์ฯ แต่กำลังซื้อผู้บริโภคยังไม่กลับมา หวังมาตรการช่วยเหลือภาคอสังหาฯ ที่ตรงจุดจากภาครัฐ ผนึกกำลังกับนักลงทุนต่างชาติหลังเปิดประเทศ ช่วยปลุกกำลังซื้อในตลาดอสังหาฯ ให้กลับมาคึกคักส่งท้ายปี

 

DDproperty

ข้อมูลล่าสุดจากรายงาน DDproperty Thailand Property Market Index ฉบับล่าสุด เผยดัชนีราคาที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 178 จุด จาก 183 จุด หรือลดลง 2% จากไตรมาสก่อน ถือเป็นดัชนีราคาที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 2559 ดัชนีราคาคอนโดมิเนียมยังคงมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง โดยลดลง 2% จากไตรมาสก่อน และลดลงถึง 11% ในรอบปี สวนทางกับบ้านเดี่ยวที่มีดัชนีราคาเพิ่มขึ้นถึง 6% จากไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้น 6% จากปีก่อนหน้า ส่วนดัชนีราคาทาวน์เฮ้าส์ทรงตัวจากไตรมาสก่อน และลดลง 1% จากปีก่อนหน้า ทั้งนี้ การแพร่ระบาดฯ เป็นปัจจัยช่วยผลักดันให้ดัชนีราคาที่อยู่อาศัยแนวราบมีการเติบโต จากการที่ผู้บริโภคหันมาสนใจโครงการแนวราบมากขึ้น ประกอบกับการที่ผู้ซื้อและนักลงทุน โดยเฉพาะชาวต่างชาติหายไปจากตลาดเป็นจำนวนมากกินระยะเวลายาวนาน จึงทำให้ตลาดคอนโดฯ ไม่คึกคักเหมือนที่เคย

ในขณะดัชนีอุปทานหรือจำนวนที่อยู่อาศัยในตลาดได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 458 จุด จาก 428 จุด หรือเพิ่มขึ้นถึง 7% จากไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้น 10% จากปีก่อน ข้อมูลที่น่าสนใจคือโครงการแนวราบมีจำนวนอุปทานเพิ่มขึ้นมากที่สุด เป็นผลจากการที่ผู้พัฒนาอสังหาฯ หันมาจับตลาดนี้เพื่อตอบรับเทรนด์ความต้องการที่อยู่อาศัยที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภค เห็นได้จากดัชนีอุปทานของบ้านเดี่ยวที่เพิ่มขึ้นถึง 10% และทาวน์เฮ้าส์ที่เพิ่มขึ้น 8% ส่วนคอนโดฯ ยังทรงตัวจากไตรมาสก่อน เนื่องจากผู้พัฒนาอสังหาฯ เน้นจัดโปรโมชั่นเพื่อเร่งระบายสต็อกคงค้างที่มีอยู่แทนการเปิดตัวโครงการใหม่ รวมทั้งเริ่มเห็นผู้พัฒนาอสังหาฯ หลายราย กลับมาเปิดตัวโครงการคอนโดฯ ใหม่ในช่วงปลายปี เพื่อรองรับกำลังซื้อจากต่างชาติที่กลับเข้ามาหลังเปิดประเทศ และตอบรับความเชื่อมั่นในการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่มีทิศทางฟื้นตัว

DDproperty PMI

นางกมลภัทร แสวงกิจ ผู้จัดการใหญ่ประจำประเทศไทยของดีดีพร็อพเพอร์ตี้ กล่าวว่า “แม้ปีนี้จะมีการระดมฉีดวัคซีนอย่างต่อเนื่องทั่วประเทศ แต่ความรุนแรงของการแพร่ระบาดฯ ยังถือเป็นเรื่องที่เหนือความคาดหมาย สภาพเศรษฐกิจและกำลังซื้อของผู้บริโภคยังคงได้รับผลกระทบ ทุกธุรกิจจึงต้องปรับกลยุทธ์เพื่อให้พร้อมรับมือทุกการเปลี่ยนแปลง คาดว่านโยบายการเปิดประเทศจะเป็นอีกความหวังสำคัญที่จะช่วยฟื้นเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะในตลาดอสังหาฯ ให้กลับมาเติบโตอีกครั้ง เนื่องจากกำลังซื้อจากนักลงทุนต่างชาติยังถือเป็นอีกหนึ่งกำลังสำคัญที่ได้หายจากตลาดอสังหาฯ ไทยเป็นระยะเวลานาน ประกอบกับการที่ภาครัฐมีมาตรการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีความมั่งคั่ง รวมทั้งร่างกฎหมายการถือครองอสังหาฯ และที่ดินของชาวต่างชาติฉบับใหม่ ล้วนเป็นปัจจัยบวกที่จะช่วยดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้พิจารณาอสังหาฯ ในไทยมากขึ้น ต้องจับตาดูว่าภาครัฐจะมีการบริหารจัดการมาตรการเหล่านี้อย่างไรให้เห็นผลอย่างรวดเร็วและเกิดประโยชน์สูงสุด

ด้านผู้บริโภคชาวไทยเองยังคงต้องการแรงสนับสนุนจากภาครัฐทั้งการสร้างความเชื่อมั่นจากการระดมฉีดวัคซีน พร้อมมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดฯ ที่มีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกัน หากภาครัฐออกมาตรการช่วยเหลือภาคอสังหาฯ เพิ่มเติม อาทิ ต่ออายุมาตรการลดค่าโอนกรรมสิทธิ์และค่าจดจำนอง พร้อมทั้งขยายเพดานที่อยู่อาศัยขึ้นมาเป็นราคาไม่เกิน 5 ล้านบาท จะยิ่งช่วยเร่งการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคระดับกลาง-ล่างมากขึ้น นอกเหนือไปจากปัจจัยบวกจากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ผ่อนคลายหลักเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่ออื่นที่เกี่ยวเนื่องกับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (Loan-to-Value: LTV) เป็นการชั่วคราว ซึ่งมาตรการช่วยเหลือที่ตรงจุดเหล่านี้จะช่วยขับเคลื่อนการเติบโตให้กลับมาได้ไวขึ้น สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมในเดือนกันยายน 2564 ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 42.1 จากระดับ 37.2 ในเดือนก่อนหน้า ซึ่งเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่สอง ส่งสัญญาณว่ากำลังซื้อผู้บริโภคกำลังจะฟื้นตัวอีกครั้ง ประกอบกับการที่ราคาที่อยู่อาศัยปัจจุบันมีราคาไม่สูงมาก ถือเป็นโอกาสที่ดีในการดึงดูดผู้ซื้อที่มีความพร้อมด้านการเงินให้ตัดสินซื้อได้ง่ายขึ้น”

ตลาดคอนโดฯ ยังรอเวลาฟื้น
“อย่างไรก็ตาม แม้ดัชนีราคาและอุปทานของคอนโดฯ จะปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องในไตรมาสล่าสุด แต่ไม่ได้ถือเป็นการส่งสัญญาณว่าตลาดคอนโดฯ จะตาย เนื่องจากยังมีความต้องการในตลาดอยู่ เพียงแต่ผู้บริโภคเลือกวางแผนการเงินอย่างรัดกุมและรอเวลาที่เหมาะสมในการซื้อ ขณะที่ผู้พัฒนาอสังหาฯ ปรับตัวรับมือกับสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนจากวิกฤติโควิด-19 ด้วยการชะลอแผนเปิดตัวโครงการใหม่ออกไปก่อนและหันมาเร่งระบายสินค้าคงค้างแทนเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายในการดูแลห้องชุดเหล่านั้น พร้อมหันไปเจาะกลุ่มผู้ซื้อที่สนใจโครงการแนวราบ ส่วนผู้บริโภคที่เป็นเจ้าของคอนโดฯ ควรจะชะลอการขายออกไปเพื่อรอเวลาที่ได้ผลตอบแทนที่ดีกว่า ผู้ขายและนักลงทุนควรศึกษาความต้องการที่อยู่อาศัยของผู้บริโภคในยุคโควิด-19 ไม่เพียงแต่การเลือกประเภทที่อยู่อาศัยจะเปลี่ยนไปเท่านั้น อีกเรื่องที่น่าสนใจคือผู้บริโภคเริ่มมองหาที่อยู่อาศัยในพื้นที่กรุงเทพฯ รอบนอกและชานเมืองมากขึ้น เห็นได้ชัดจากทำเลที่อยู่อาศัยที่ดัชนีราคาเติบโตสูงสุดในแต่ละไตรมาสที่เริ่มขยายตัวออกมานอกเขตใจกลางเมืองอย่างต่อเนื่อง” นางกมลภัทรกล่าวเสริม

ส่องทำเลน่าจับตา ย่านรถไฟฟ้าสายสีเหลืองมาแรง ดันราคาอสังหาฯ พุ่ง
รายงาน DDproperty Thailand Property Market Index ฉบับล่าสุด เผยข้อมูลทำเลที่อยู่อาศัยมาแรงและมีศักยภาพเติบโตในพื้นที่กรุงเทพฯ โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองเป็นปัจจัยสำคัญผลักดันดัชนีราคาและดัชนีอุปทานในหลายทำเลโตต่อเนื่อง สร้างโอกาสเติบโตทางเศรษฐกิจ สอดคล้องความต้องการผู้บริโภคที่มองหาที่อยู่อาศัยนอกเขตใจกลางเมืองมากขึ้น

    • เขตวังทองหลาง กลายมาเป็นทำเลทองที่น่าจับตามองมากที่สุดแม้อยู่นอกเขตศูนย์กลางธุรกิจของกรุงเทพฯ (CBD) เห็นได้ชัดจากดัชนีราคาที่เพิ่มสูงที่สุดถึง 6% จากไตรมาสก่อน ปัจจัยหลักที่ดึงดูดให้เขตวังทองหลางกลายมาเป็นทำเลที่เติบโตมากที่สุดในรอบไตรมาสมาจากโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ซึ่งมีแผนจะเปิดให้ใช้บริการในปี 2565 สะท้อนความต้องการของผู้บริโภคที่มองหาที่อยู่อาศัยที่สามารถเดินทางไปทำงานสะดวกด้วยรถไฟฟ้า เมื่อพิจารณาสัดส่วนอุปทานตามระดับราคาของที่อยู่อาศัยแต่ละประเภท พบว่า คอนโดฯ และทาวน์เฮ้าส์ส่วนใหญ่อยู่ในระดับราคา 5-10 ล้านบาท (35% และ 61% ตามลำดับ) ในขณะที่บ้านเดี่ยวระดับราคามากกว่า 15 ล้านบาท ครองส่วนแบ่งถึง 4 ใน 5 ของจำนวนบ้านเดี่ยวทั้งหมดในเขตนี้ (83%)
    • เขตลาดพร้าว อีกหนึ่งทำเลมาแรงที่มีดัชนีราคาเพิ่มขึ้นเป็นอันดับสองอยู่ที่ 5% ในรอบไตรมาส ความเจริญจากการเป็นย่านพาณิชย์ที่รวมแหล่งช้อปปิ้งและแหล่งงานทำให้ย่านนี้เป็นที่จับตามองว่ามีโอกาสก้าวเป็นศูนย์กลางธุรกิจแห่งใหม่หรือ New CBD โดยเฉพาะเมื่อมีโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรงพาดผ่าน ยิ่งทำให้ความต้องการอสังหาฯ ย่านนี้สูงตามไปด้วย ถือเป็นอีกทำเลที่ผู้พัฒนาอสังหาฯ ต่างจับจองพื้นที่เพื่อนำมาพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยอย่างต่อเนื่อง สัดส่วนราคาอุปทานแบ่งตามระดับราคาของแต่ละประเภท พบว่าคอนโดฯ ในระดับราคา 1-3 ล้านบาทมีจำนวนมากถึง 3 ใน 4 ของคอนโดฯ ทั้งหมดในย่านนี้ (72%) ในขณะที่ทาวน์เฮ้าส์ระดับราคา 5-10 ล้านบาทมีจำนวนมากที่สุด 44% ส่วนบ้านเดี่ยวในระดับราคามากกว่า 15 ล้านบาท ครองส่วนแบ่งมากที่สุดเช่นเดียวกับเขตวังทองหลาง อยู่ที่ 44%
    • เขตสายไหม พื้นที่รอบนอกกรุงเทพฯ ที่มีความน่าสนใจจากความเจริญของโครงการคมนาคมทั้งถนนตัดใหม่หลายสาย รวมทั้งปัจจัยบวกจากโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต–สะพานใหม่–คูคต ส่งผลให้ดัชนีราคาเพิ่มขึ้นสูงเป็นอันดับที่สามอยู่ที่ 5% จากไตรมาสก่อน เมื่อจำแนกสัดส่วนอุปทานตามระดับราคา พบว่า ที่อยู่อาศัยแต่ละประเภทส่วนใหญ่มีระดับราคาไม่สูงเท่าเขตวังทองหลางและเขตลาดพร้าว โดยคอนโดฯ และทาวน์เฮ้าส์ระดับราคา 1-3 ล้านบาท มีจำนวนมากที่สุดด้วยสัดส่วน 71% และ 75% ตามลำดับ ด้านบ้านเดี่ยวพบว่า มากกว่าครึ่ง (51%) อยู่ในระดับราคา 5-10 ล้านบาท

จับตาอสังหาฯ หัวเมืองใหญ่ พร้อมรับกำลังซื้อต่างชาติหลังเปิดประเทศหรือไม่

Pattaya

จับตาอสังหาฯ หัวเมืองใหญ่ พร้อมรับกำลังซื้อต่างชาติหลังเปิดประเทศหรือไม่

แผนเปิดประเทศในวันที่ 1 พ.ย. นี้ เป็นความหวังในการฟื้นฟูการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศ ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า การเปิดประเทศจะช่วยเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปีนี้ประมาณ 64% เมื่อเทียบกับช่วงที่ไม่มีมาตรการ โดยจะสร้างรายได้ไม่ต่ำกว่า 1.35 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะส่งผลดีต่อการฟื้นตัวของภาคธุรกิจต่าง ๆ ในประเทศ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว ในขณะที่ภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับผลกระทบจากกำลังซื้อชะลอตัวยาวนาน การเปิดประเทศจึงเป็นโอกาสที่จะฟื้นตลาดที่อยู่อาศัยให้กลับมาคึกคักเช่นกัน สอดคล้องกับข้อมูลจากนายอธิป พีชานนท์ รองประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และประธานคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาสมาคมการค้า เผยว่า นักลงทุนที่เป็นกลุ่มคนจีนคิดเป็นสัดส่วนกว่า 50% ของนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาซื้ออสังหาฯ ในไทยที่ยังไม่มีการโอน และบางรายต้องทิ้งการโอนไปเนื่องจากไม่สามารถเดินทางมาทำธุรกรรมต่าง ๆ ได้ รวมเป็นเม็ดเงินราว 5 หมื่นล้านบาท ดังนั้นนโยบายการเปิดประเทศและการแก้ไขร่างกฎหมายการถือครองอสังหาฯ และที่ดินใหม่สำหรับชาวต่างชาติจึงถือเป็นปัจจัยสำคัญที่มีบทบาทในการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจและตลาดอสังหาฯ ไทยอีกครั้ง

ข้อมูลผู้เข้าเยี่ยมชมในเว็บไซต์ DDproperty.com พบว่า ช่วง 8 เดือนแรกของปี 2564 มีการเข้าค้นหาข้อมูลอสังหาฯ ในประเทศไทยจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น 31% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สะท้อนให้เห็นความสนใจจากกลุ่มชาวต่างชาติที่มีต่ออสังหาฯ ในไทยไม่น้อย สอดคล้องกับข้อมูลของเว็บไซต์อสังหาริมทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดในจีนอย่าง Anjuke ที่เผยว่า ไทยติดอันดับสอง (21%) ของประเทศที่ชาวจีนค้นหาอสังหาฯ มากที่สุดในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 รองจากญี่ปุ่น (22%) ตามมาด้วยสหรัฐฯ และมาเลเซียในสัดส่วนเท่ากัน (12%) ปัจจัยสำคัญที่ดึงดูดให้ชาวจีนสนใจมาจากความคุ้มค่าของผลตอบแทนจากการปล่อยเช่าของอสังหาฯ ในไทยซึ่งอยู่ที่ประมาณ 5-10% สูงกว่าการลงทุนในจีนที่ให้ผลตอบแทนประมาณ 2% นอกจากนี้ชาวจีนยังถือเป็นกลุ่มนักลงทุนอสังหาฯ ที่มีศักยภาพสำหรับไทย เห็นได้จากสถิติการถือครองกรรมสิทธิ์ห้องชุดของคนต่างชาติในภาพรวมทั้งประเทศของศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) เผยว่า ผู้ซื้อสัญชาติจีนถือครองกรรมสิทธิ์มาเป็นอันดับ 1 ตามมาด้วยรัสเซีย และสหราชอาณาจักร โดยจังหวัดที่มีพื้นที่การโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดของคนต่างชาติสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพฯ 49.4% จังหวัดชลบุรี 30.2% จังหวัดเชียงใหม่ 7.1% และจังหวัดภูเก็ต 4.9% ซึ่งเป็นหัวเมืองใหญ่ที่มีศักยภาพและมีจุดเด่นด้านการท่องเที่ยว

DDproperty
  • จับตาแนวโน้มดัชนีราคาและอุปทานหัวเมืองใหญ่ พร้อมรับกำลังซื้อต่างชาติแค่ไหน
    ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ (DDproperty) เว็บไซต์มาร์เก็ตเพลสด้านอสังหาริมทรัพย์อันดับ 1 ของไทย เผยข้อมูลเชิงลึกอัปเดตตลาดที่อยู่อาศัยไทยใน 5 จังหวัดหัวเมืองใหญ่ที่เป็นจุดหมายปลายทางสำคัญของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ได้แก่ กรุงเทพฯ, ภูเก็ต, เชียงใหม่, เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี และอำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พร้อมเผยความต้องการซื้อ/เช่าล่าสุดจากข้อมูลผู้เข้าเยี่ยมชมในเว็บไซต์ DDproperty.com ทั่วประเทศในเดือนกันยายนที่ผ่านมา สะท้อนทิศทางการเติบโตของตลาดอสังหาฯ ควบคู่ไปกับแนวโน้มความต้องการที่อยู่อาศัยของผู้บริโภคที่ไม่ควรมองข้าม
    • กรุงเทพมหานคร การแพร่ระบาดฯ ที่ยาวนานตั้งแต่ต้นปี ทำให้กรุงเทพฯ กลายเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (พื้นที่สีแดงเข้ม) ส่งผลให้แนวโน้มดัชนีราคาที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ ในช่วงไตรมาส 3 นี้ ลดลงจากไตรมาสก่อน 2% ซึ่งเป็นผลมาจากสภาพเศรษฐกิจที่ซบเซาต่อเนื่อง ส่งผลให้ผู้บริโภคชะลอการซื้อออกไป อีกทั้งยังขาดกำลังซื้อจากชาวต่างชาติที่ไม่สามารถเข้าประเทศไทยได้ ด้านดัชนีอุปทานเพิ่มขึ้น 7% จากไตรมาสก่อนหน้า สะท้อนให้เห็นว่าอัตราการดูดซับยังไม่กลับมาเท่าที่ควร อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาความสนใจซื้อในพื้นที่กรุงเทพฯ ในเดือนกันยายนที่ผ่านมา พบว่า เพิ่มขึ้นถึง 10% จากเดือนก่อนหน้า สะท้อนความต้องการที่อยู่อาศัยในเมืองหลวงที่เริ่มกลับมาหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดฯ คลี่คลาย ประกอบกับการจัดโปรโมชั่นดึงดูดใจอย่างต่อเนื่องจากผู้พัฒนาอสังหาฯ ขณะที่ความสนใจเช่าก็เพิ่มขึ้น 2% จากเดือนก่อนหน้าเช่นกัน
    • ภูเก็ต ถือเป็นหัวเมืองท่องเที่ยวสำคัญของไทยที่แทบทุกธุรกิจในจังหวัดล้วนได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 กันอย่างถ้วนหน้า ส่งผลให้ตลาดที่อยู่อาศัยในภูเก็ตชะลอตัวตามกำลังซื้อผู้บริโภคไปด้วย โดยแนวโน้มดัชนีราคาในภูเก็ตลดลงถึง 22% จากไตรมาสก่อน ในขณะที่เมื่อเปรียบเทียบกับช่วง 2 ปีก่อนที่จะมีแพร่ระบาดฯ ดัชนีราคาลดลง 6% ส่วนดัชนีอุปทานลดลงถึง 16% จากไตรมาสก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม หลังการเปิดโครงการ “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” (Phuket Sandbox) ได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดีและมีแนวโน้มที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ช่วยเรียกความเชื่อมั่นในการใช้จ่ายของผู้บริโภคให้กลับมา ส่งผลให้ความสนใจซื้อที่อยู่อาศัยในเดือนกันยายนนี้เพิ่มขึ้น 14% จากเดือนก่อนหน้า ในขณะที่ความสนใจเช่าเพิ่มขึ้น 29%
    • เชียงใหม่ แม้การแพร่ระบาดฯ ระลอกล่าสุดจะส่งผลให้ภาคการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจของเชียงใหม่ซบเซาลงไปตั้งแต่ต้นปี อย่างไรก็ดี ตลาดอสังหาฯ ในเชียงใหม่ยังคงมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากแนวโน้มดัชนีราคาที่อยู่อาศัยที่เพิ่มขึ้น 1% จากไตรมาสก่อน เมื่อเทียบกับช่วงเวลาก่อนที่จะมีการแพร่ระบาดฯ ในช่วง 2 ปีก่อนหน้า พบว่า ดัชนีราคาเพิ่มขึ้นถึง 9% ส่วนดัชนีอุปทานเพิ่มขึ้น 15% จากไตรมาสก่อนหน้า ด้านความต้องการซื้อของผู้บริโภคเริ่มมีสัญญาณบวกเห็นได้จากความสนใจซื้อที่อยู่อาศัยในเดือนกันยายนที่เพิ่มขึ้น 11% สวนทางกับความสนใจเช่าที่ลดลง 11% จากเดือนก่อนหน้า ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ราคาที่อยู่อาศัยมีความเหมาะสมและคุ้มค่า จึงดึงดูดให้ผู้บริโภคตัดสินซื้อแทนการเช่าอยู่
Chiangmai
    • พัทยา ด้วยจุดเด่นของทำเลที่ตั้งที่อยู่ไม่ไกลจากเมืองหลวง ทำให้พัทยาเป็นเมืองท่องเที่ยวที่ผู้บริโภคซื้อไว้เป็นบ้านหลังที่สอง หรือนักลงทุนสนใจเลือกซื้ออสังหาฯ ไว้เพื่อปล่อยเช่า แม้ช่วงที่ผ่านมาภาพรวมเศรษฐกิจจะซบเซา ส่งผลให้ตลาดอสังหาฯ ได้รับผลกระทบไปด้วยเช่นกัน พบว่าแนวโน้มดัชนีราคาที่อยู่อาศัยในพัทยาลดลง 7% จากไตรมาสที่แล้ว โดยลดลงถึง 47% เมื่อเทียบกับช่วง 2 ปีก่อนหน้าที่ยังไม่มีการแพร่ระบาดฯ ในไทย ในขณะที่อัตราดูดซับยังคงไม่กลับมาเป็นปกติ เห็นได้ชัดจากดัชนีอุปทานในตลาดที่เพิ่มขึ้นถึง 52% จากไตรมาสก่อน อย่างไรก็ดี ตลาดที่อยู่อาศัยเมืองพัทยายังคงมีสัญญาณบวกจากความสนใจซื้อในเดือนกันยายนที่เพิ่มขึ้น 22% จากเดือนก่อนหน้า แม้ว่าความสนใจเช่าจะลดลงถึง 25% ก็ตาม
    • หัวหิน สถานการณ์การแพร่ระบาดฯ ส่งผลให้การเติบโตของภาคธุรกิจในเมืองท่องเที่ยวต้องหยุดชะงักตามไปด้วย โดยเฉพาะในตลาดอสังหาฯ ในช่วงไตรมาส 3 ของปีนี้พบว่าแนวโน้มดัชนีราคาที่อยู่อาศัยในหัวหินลดลงถึง 24% จากไตรมาสก่อน โดยลดลงถึง 64% เมื่อเทียบกับช่วง 2 ปีก่อนเกิดการแพร่ระบาดฯ ในขณะที่ดัชนีอุปทานลดลง 18% จากไตรมาสก่อน สะท้อนให้เห็นการปรับตัวของผู้พัฒนาอสังหาฯ ในพื้นที่ที่ชะลอการเปิดตัวโครงการใหม่ออกไปก่อน เพื่อรอให้กำลังซื้อผู้บริโภคกลับมา อย่างไรก็ตาม เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดฯ เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น ตลาดอสังหาฯ ก็ได้รับอานิสงส์ด้วยเช่นกัน พบว่าความสนใจซื้อที่อยู่อาศัยในเดือนกันยายนนี้เพิ่มขึ้น 18% จากเดือนก่อนหน้า ส่วนความสนใจเช่าลดลง 38%

กำลังซื้อจากชาวต่างชาติถือเป็นกุญแจสำคัญที่มีอิทธิพลในการกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย ภาครัฐเองได้พยายามออกมาตรการ/นโยบายเพื่อช่วยดึงดูดกำลังซื้อต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในภาคอสังหาฯ มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากผลสำรวจความคิดเห็นของผู้บริโภคที่มีต่อตลาดที่อยู่อาศัยในไทย DDproperty’s Thailand Consumer Sentiment Study ฉบับล่าสุด เผยมุมมองผู้บริโภคชาวไทยที่มีต่อร่างกฎหมายการถือครองอสังหาฯ และที่ดินของชาวต่างชาติฉบับใหม่ พบว่า มีผู้บริโภคเห็นด้วย 26% และไม่เห็นด้วยในสัดส่วนไล่เลี่ยกันที่ 24% เมื่อพิจารณาจากเหตุผลหลักของฝ่ายที่เห็นด้วย 79% มองว่าร่างกฎหมายนี้จะช่วยผลักดันการเติบโตของตลาดอสังหาฯ และเศรษฐกิจไทยโดยรวม ในขณะที่ 62% ของฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย เนื่องจากเกรงว่าร่างกฎหมายนี้จะทำให้ราคาที่ดินและอสังหาฯ ในไทยแพงขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงกับคนไทยที่อยากมีบ้าน ดังนั้น การแก้ไขร่างกฎหมายการถือครองอสังหาฯ และที่ดินของชาวต่างชาติฉบับใหม่จึงถือเป็นเรื่องสำคัญที่ภาครัฐควรศึกษาผลกระทบทั้งข้อดีและข้อเสียอย่างรอบด้าน พร้อมเร่งทำความเข้าใจและสร้างความเชื่อมั่นกับประชาชน หากต้องการผลักดันนโยบายนี้ให้เกิดประโยชน์กับเศรษฐกิจประเทศและมีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการในระยะยาว

ทำความรู้จักการขายคอนโดฯ เลือกขายแบบไหนให้โดนใจผู้บริโภค

DDproperty

ทำความรู้จักการขายคอนโดฯ เลือกขายแบบไหนให้โดนใจผู้บริโภค

เทรนด์ Work from Home และการเว้นระยะห่างทางสังคมมีผลต่อมุมมองผู้บริโภคในการเลือกที่อยู่อาศัย อย่างไรก็ดี แม้ตลาดคอนโดมิเนียมไม่ได้เติบโตอย่างหวือหวาในช่วงที่ผ่านมา แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่ายังคงเป็นตัวเลือกที่อยู่อาศัยอันดับต้น ๆ ของผู้บริโภค ข้อมูลจากผลสำรวจความคิดเห็นของผู้บริโภคที่มีต่อตลาดที่อยู่อาศัยในไทย DDproperty’s Thailand Consumer Sentiment Study ฉบับล่าสุด พบว่า คนไทยส่วนใหญ่ต้องการซื้อคอนโดฯ มาเป็นอันดับสอง (16%) รองจากบ้านเดี่ยว (53%) เนื่องจากสามารถตอบโจทย์กลุ่มผู้บริโภคที่เป็นนักศึกษาหรือวัยทำงานได้มากกว่า ประกอบกับการที่ผู้ประกอบการหันมาแข่งขันสงครามราคาเพื่อเร่งระบายสินค้าในช่วงที่ผ่านมา จึงทำให้ราคาคอนโดฯ อยู่ในราคาที่เอื้อมถึงและคุ้มค่าสำหรับกลุ่มผู้ซื้อเพื่ออยู่อาศัยจริง (Real Demand) หรือนักลงทุนที่มีความพร้อมทางการเงิน เห็นได้จากรายงาน DDproperty Thailand Property Market Index ฉบับล่าสุด เผยว่า ดัชนีราคาคอนโดมิเนียมลดลง 3% จากไตรมาสก่อน และลดลงมากถึง 8% ในรอบปีเลยทีเดียว

จากข้อมูลผู้เข้าเยี่ยมชมในเว็บไซต์ DDproperty.com ทั่วประเทศในเดือนกันยายน 2564 ซึ่งเป็นเดือนแรกที่มีการคลายล็อกดาวน์หลังจากมีการระบาดฯ ระลอกล่าสุด พบว่า ความสนใจซื้อคอนโดฯ ภาพรวมในประเทศเพิ่มขึ้น 6% จากเดือนก่อนหน้า ส่วนความสนใจซื้อคอนโดฯ ในกรุงเทพฯ เพิ่มขึ้น 3% จากเดือนก่อนหน้า โดย 3 ทำเลที่มีความสนใจซื้อเพิ่มขึ้นมากที่สุด ได้แก่ บางแค เพิ่มขึ้น 115%, บางพลัด เพิ่มขึ้น 54% และหลักสี่ เพิ่มขึ้น 49% ด้วยความคุ้มค่าจากราคาและโปรโมชั่นที่ร้อนแรงเป็นปัจจัยสำคัญที่ดึงดูดให้ผู้บริโภคและนักลงทุนที่มีความพร้อมหันมาพิจารณาในการซื้อคอนโดฯ มากขึ้น โดยมีตัวเลือกหลากหลายทั้งโครงการใหม่จากผู้พัฒนาอสังหาฯ หรือการประกาศขายจากผู้ที่มีสินค้าอยู่ในมือ หากผู้บริโภคที่เป็นเจ้าของคอนโดฯ แต่ไม่ได้อยู่อาศัยเองหรือจองไปแล้วแต่ขาดสภาพคล่องทางการเงิน ไม่พร้อมผ่อนต่อ หรือต้องการแบ่งเบาภาระหนี้อสังหาฯ ด้วยการประกาศขายคอนโดฯ ก็ควรเข้าใจเทคนิคหรือรูปแบบวิธีการขายและความต้องการในตลาดให้ดีเสียก่อน

  • ขายคอนโดฯ อย่างไรให้ปล่อยได้เร็ว
    การซื้อขายคอนโดมิเนียมมี 3 รูปแบบหลัก ๆ ได้แก่ การขายใบจอง การขายดาวน์ และการขายโอนกรรมสิทธิ์คอนโดฯ ซึ่งจะมีรายละเอียดที่แตกต่างกันออกไปตามช่วงระยะเวลาที่ดำเนินธุรกรรม ผู้บริโภคหรือนักลงทุนมือใหม่จึงควรศึกษาและทำความเข้าใจขั้นตอนต่าง ๆ ให้ดี เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาหนี้ก้อนโตตามมาในภายหลัง

    • การขายใบจองคอนโดฯ ใบจองคอนโดฯ คือเอกสารยืนยันความสนใจของบุคคลที่มีต่อคอนโดมิเนียม ใบจองจะเป็นเอกสารที่เป็นหลักฐานแสดงว่ายูนิตที่สนใจจะถูกล็อกไว้สำหรับผู้จอง แต่ไม่ได้หมายความว่าจะมีกรรมสิทธิ์ในการเป็นเจ้าของยูนิตนั้น ๆ หากผู้บริโภคสนใจโครงการใดแล้วควรติดตามประกาศของโครงการเพื่อไม่ให้พลาดการจอง โดยเฉพาะโครงการที่อยู่ในความสนใจของตลาดพร้อมกับโปรโมชั่นที่คุ้มค่า ซึ่งหากจองไปแล้วเกิดเปลี่ยนใจภายหลังก็สามารถนำใบจองคอนโดฯ มาประกาศขายต่อได้ ถือเป็นการลงทุนเก็งกำไรระยะสั้นในรูปแบบหนึ่ง โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือผู้ที่จองคอนโดฯ ไม่ทัน หรือพลาดวันเปิดจองและอยากได้โครงการนั้นจริง ๆ ส่วนใหญ่จะเป็นคอนโดฯ ในทำเลที่มีศักยภาพและตอบโจทย์ของผู้บริโภค เช่น ติดรถไฟฟ้า ราคาดี คุ้มค่าแก่การลงทุน จนทำให้ยอมจ่ายส่วนต่างให้กับผู้ขายใบจองคอนโดฯ ซึ่งส่วนนี้จะถือเป็นกำไรที่ผู้ขายจะได้รับ

      อย่างไรก็ดี การขายใบจองเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงไม่น้อย เนื่องจากต้องขายต่อให้ได้ก่อนถึงช่วงผ่อนดาวน์ ผู้ขายใบจองคอนโดฯ จึงควรศึกษาปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้สามารถขายใบจองได้เร็วขึ้น นอกจากนี้ควรมีเงินสำรองไว้สำหรับการผ่อนดาวน์ 2-3 เดือน ในกรณีที่ยังไม่สามารถขายได้ทันกำหนด ซึ่งนับเป็นต้นทุนที่ต้องคำนวณเพิ่มขึ้นเมื่อประกาศขายเช่นกัน

    • การขายดาวน์คอนโดฯ โครงการส่วนใหญ่มักเปิดขายตั้งแต่ก่อนการก่อสร้างเพื่อระดมทุน ผู้สนใจซื้อสามารถทำสัญญาจองห้องที่ต้องการได้ทันที โดยผ่อนดาวน์ในระหว่างรอการก่อสร้างแล้วเสร็จพร้อมโอนกรรมสิทธิ์ตามเงื่อนไขที่โครงการกำหนดไว้ ซึ่งหากผู้ซื้อกู้ไม่ผ่านหรือสนใจไปซื้อโครงการอื่นแทนก็สามารถขายดาวน์ให้กับผู้อื่นไปผ่อนดาวน์ต่อก่อนถึงเวลาโอนกรรมสิทธิ์ได้ ด้วยการเปลี่ยนสัญญาจะซื้อจะขายกับทางโครงการ ซึ่งบางโครงการอาจมีค่าธรรมเนียมในการเปลี่ยนสัญญา กรณีเป็นโครงการที่มีศักยภาพและปิดการขายไปแล้ว (Sold Out) แต่ยังมีความต้องการสูงอยู่จะยิ่งมีโอกาสขายได้มากขึ้น

      การขายรูปแบบนี้ผู้ขายสามารถเป็นเจ้าของคอนโดฯ ได้โดยชำระค่าจอง ค่าทำสัญญา และเงินผ่อนดาวน์ในแต่ละเดือน หากคอนโดฯ ที่มีได้รับความนิยมสูงจะสามารถขายต่อได้ราคาดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันโครงการส่วนใหญ่มีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมหรือค่าปรับการเปลี่ยนสัญญาจะซื้อจะขาย เพื่อป้องกันการลงทุนขายดาวน์คอนโดฯ เพื่อเก็งกำไร

    • การขายโอนคอนโดฯ หรือการขายคอนโดฯ มือสอง เกิดขึ้นเมื่อผู้ขายมีกรรมสิทธิ์การเป็นเจ้าของคอนโดฯ อย่างถูกต้องตามกฎหมาย (แม้ว่ายังต้องผ่อนกับธนาคารอยู่) ข้อดีของการขายคอนโดฯ รูปแบบนี้คือผู้ซื้อจะตัดสินใจได้ง่ายขึ้น เนื่องจากได้เห็นห้องชุดของจริง และหากเป็นโครงการที่เป็นที่ต้องการในตลาดก็จะยิ่งเพิ่มมูลค่าให้กับห้องชุดนั้น ๆ นอกจากนี้ การนำเสนอจุดเด่นที่สร้างความแตกต่าง เช่น การตกแต่ง แถมเฟอร์นิเจอร์ ฟรีค่าโอนกรรมสิทธิ์หรือค่าส่วนกลาง 1 ปี จะช่วยดึงดูดให้ผู้ซื้อสนใจห้องชุดนั้น ๆ มากขึ้น

      อย่างไรก็ตาม การขายโอนคอนโดฯ จะเสร็จสมบูรณ์ได้เมื่อมีการโอนกรรมสิทธิ์แล้ว ซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายต่าง ๆ อาทิ ค่าธรรมเนียมการโอน 2% ของราคาประเมินหรือราคาขายคอนโดฯ, ค่าอากรแสตมป์ 0.5% หรือภาษีธุรกิจเฉพาะ 3% ของราคาประเมิน, ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามขั้นบันไดจากราคาประเมินและปีที่ถือครอง และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เช่น ค่าประกัน นอกจากนี้ในระหว่างรอการขาย ผู้ขายมีหน้าที่รับผิดชอบค่าส่วนกลางและค่าสาธารณูปโภคต่าง ๆ จนกว่าจะขายออก

ศึกษาความต้องการตลาด เพิ่มโอกาสทำกำไรเมื่อคิดขาย
รายงาน DDproperty Thailand Property Market Index ฉบับล่าสุดเผยว่า จำนวนคอนโดมิเนียมมีสัดส่วนสูงถึง 87% ของจำนวนอุปทานทั้งหมดในกรุงเทพฯ ดังนั้นจึงมีการแข่งขันและมีความเสี่ยงสูงสำหรับผู้ขายมือใหม่ที่ไม่ใช่นักลงทุนหรือนายหน้าที่มีความเชี่ยวชาญในตลาดอสังหาฯ ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ (DDproperty) เว็บไซต์มาร์เก็ตเพลสด้านอสังหาริมทรัพย์อันดับ 1 ของไทย ขอแนะนำแนวทางในการวางแผนขายคอนโดฯ สำหรับผู้บริโภคที่ไม่สามารถผ่อนคอนโดฯ ต่อได้จากปัญหาสภาพคล่องการเงิน กู้ไม่ผ่าน รวมไปถึงผู้ที่ต้องการเริ่มลงทุนสร้างกำไรจากคอนโดฯ ที่มีอยู่

    • เริ่มต้นวางแผนการขายอย่างรอบคอบ คำนวณต้นทุนให้ครบถ้วน ผู้บริโภคต้องมีเป้าหมายการจองหรือซื้อที่ชัดเจน ศึกษา/ทำความเข้าใจรูปแบบการขายคอนโดฯ แต่ละประเภทก่อนจอง เช่น ซื้อเพื่ออยู่อาศัยเอง หรือปล่อยเช่าในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ ก่อนขาย หรือเน้นการลงทุนระยะยาว นอกจากนี้ต้องคำนวณต้นทุนค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นตลอดช่วงเวลาการเป็นเจ้าของ ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนจากการจอง ผ่อนดาวน์คอนโดฯ ราคาสุทธิของคอนโดฯ และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เช่น ค่าโอนกรรมสิทธิ์ ก่อนที่จะตั้งราคาขายคอนโดฯ โดยคำนวณกำไรให้เหมาะสมกับมูลค่าโครงการในตลาด หรือถ้าจำเป็นต้องขายอย่างเร่งด่วน ควรตั้งราคาให้ต่ำแต่ไม่ขาดทุน หรือรอจังหวะที่เหมาะสม หากเป็นการขายโอน เจ้าของห้องชุดควรมีชื่อในทะเบียนบ้านของห้องชุดนั้นอย่างน้อย 1 ปี เพื่อลดภาระในส่วนของภาษีธุรกิจเฉพาะที่จะเป็นต้นทุนเพิ่มเติม

    • ศึกษาความต้องการในตลาด เพิ่มโอกาสเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย การศึกษาอุปสงค์และอุปทานในตลาดโดยเฉพาะในทำเลของห้องชุดเพื่อนำมาใช้เป็นจุดขาย ช่วยดึงดูดและกระตุ้นการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคได้ง่ายขึ้น การเลือกซื้อคอนโดฯ ในโครงการที่มีชื่อเสียงและสิ่งอำนวยความสะดวกครบครันจะช่วยเพิ่มโอกาสให้ขายออกได้ง่ายขึ้น รวมไปถึงการเลือกลงทุนในระดับราคาคอนโดฯ ที่ตอบโจทย์ความต้องการในตลาดก็จะช่วยเพิ่มโอกาสเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้มากขึ้นเช่นกัน ข้อมูลจากรายงาน DDproperty Thailand Property Market Index พบว่า เกือบ 1 ใน 4 ของผู้บริโภค (24%) สนใจที่อยู่อาศัยระดับราคา 1-3 ล้านบาท สะท้อนให้เห็นความต้องการที่สอดคล้องกับสภาพคล่องทางการเงินของผู้บริโภคในช่วงนี้

      นอกจากนี้ทำเลที่ตั้งโครงการเป็นปัจจัยแรก ๆ ที่มีผลในการพิจารณาก่อนตัดสินใจซื้อ หากผู้ขายเลือกลงทุนในทำเลที่มีความต้องการสูงก็ย่อมเพิ่มโอกาสในการขายที่มากขึ้น โดย 5 ทำเลยอดนิยมน่าลงทุนในกรุงเทพฯ ที่ราคาคอนโดฯ เติบโตมากที่สุดในรอบไตรมาสที่ผ่านมา อันดับ 1 ได้แก่ แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน ราคาเพิ่มขึ้นสูงที่สุด 6% จากการเปิดให้บริการรถไฟฟ้า BTS สายสีเขียวส่วนต่อขยาย ตามมาด้วยแขวงคลองจั่น เขตบางกะปิ, แขวงตลาดบางเขน เขตหลักสี่, แขวงบางโคล่ เขตบางคอแหลม ราคาเพิ่มขึ้นในสัดส่วนเท่ากันที่ 5% และแขวงลาดยาว เขตจตุจักร มีราคาคอนโดฯ เพิ่มขึ้น 4%
DDproperty
    • อยากเก็งกำไรแบบไม่ขาดทุน ต้องเลือกขายให้ถูกประเภท หากต้องการลงทุนกับคอนโดฯ เพื่อเก็งกำไรระยะสั้น วิธีการขายใบจองและขายดาวน์คอนโดฯ ก่อนจะมีการโอนกรรมสิทธิ์ถือเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ เนื่องจากผู้ขายไม่จำเป็นต้องใช้เงินจำนวนมากในการลงทุน แต่ผู้ขายต้องศึกษาอุปสงค์และอุปทานในตลาดพร้อมทั้งจองยูนิตที่น่าสนใจให้ทัน ซึ่งมักจะมีความต้องการในตลาดรองรับอยู่แล้ว ในกรณีที่เจ้าของห้องชุดต้องการเก็งกำไรระยะยาว แนะนำให้ขายโอน โดยรอเวลาที่เหมาะสมเพื่อขายอีกครั้ง เนื่องจากมูลค่าของคอนโดฯ มีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี อย่างไรก็ตาม การประกาศขายในช่วงนี้อาจไม่ใช่เวลาที่ดีนัก เพราะนอกจากสงครามราคาที่ดุเดือดจากผู้พัฒนาอสังหาฯ แล้ว สภาพเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวอาจทำให้ผู้ขายไม่ได้กำไรตามที่ตั้งเป้าไว้ จึงควรชะลอการขายออกไปก่อน ซึ่งผู้ขายต้องมีความพร้อมทางการเงินและความรู้ความเข้าใจเรื่องการลงทุนพอสมควร

การขายคอนโดฯ แต่ละรูปแบบล้วนมีความแตกต่างและเป็นโอกาสในการทำกำไรได้ เจ้าของคอนโดฯ จึงควรทำความเข้าใจเพื่อเสริมความรู้ประกอบการตัดสินใจหากต้องขายคอนโดฯ ในอนาคต ในขณะเดียวกัน ผู้ขายและนักลงทุนควรพิจารณาก่อนตัดสินใจลงทุนคอนโดฯ ให้รอบคอบ โดยประเมินความพร้อมทางการเงินและโอกาสในตลาดควบคู่กันไป เนื่องจากทุกการลงทุนล้วนมีความเสี่ยงแฝงอยู่เสมอ ปัจจุบันการค้นหาที่อยู่อาศัยผ่านช่องทางออนไลน์ถือเป็นอีกตัวเลือกที่ช่วยเชื่อมต่อความต้องการของผู้ขายและผู้ซื้อให้มาบรรจบกันได้ง่ายขึ้น เพิ่มความสะดวกและลดข้อจำกัดด้านการเดินทาง เว็บไซต์มาร์เก็ตเพลสด้านอสังหาริมทรัพย์อันดับ 1 ของไทยอย่างดีดีพร็อพเพอร์ตี้ (https://www.ddproperty.com) ได้รวบรวมข้อมูลประกาศซื้อ/ขาย/เช่าอสังหาฯ ที่น่าสนใจทั้งโครงการใหม่และมือสองในหลากหลายทำเลทั่วประเทศ พร้อมนำเสนอความรู้ที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์ในการซื้อ/ขาย/เช่า เพื่อเตรียมความพร้อมให้ทุกคนสามารถมีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเองได้ง่ายยิ่งขึ้น และตอบโจทย์ความต้องการได้มากที่สุด

“เศรษฐกิจซบเซา-กำลังซื้อยังไม่ฟื้น” อุปสรรคสำคัญของคนอาเซียนที่อยากมีบ้าน

DDProperty

"เศรษฐกิจซบเซา-กำลังซื้อยังไม่ฟื้น" อุปสรรคสำคัญของคนอาเซียนที่อยากมีบ้าน

ทุกประเทศในอาเซียนเจ็บป่วยจากวิกฤติการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่นอกจากจะส่งผลโดยตรงต่อด้านสาธารณสุขแล้วยังฉุดการเติบโตทางเศรษฐกิจ แม้จะมีการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมประชากร พร้อมออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจให้กลับมาฟื้นตัวเร็วที่สุดก็ตาม เห็นได้จากรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลกฉบับล่าสุด (World Economic Outlook) ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ที่ได้ปรับลดการคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของ 5 ประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, ไทย และเวียดนาม) ว่าจะขยายตัวเฉลี่ย 4.3% ลดลง 0.6% จากการคาดการณ์เมื่อ 3 เดือนที่แล้ว

นอกจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและภายในประเทศจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อกำลังซื้อและความเชื่อมั่นในการใช้จ่ายของผู้บริโภคแล้ว ภาคอสังหาฯ ก็ได้รับผลกระทบไปด้วยเช่นกัน แม้มีความต้องการเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยแต่ยังมีปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ ที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อในช่วงนี้ ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ (DDproperty) เว็บไซต์มาร์เก็ตเพลสด้านอสังหาริมทรัพย์อันดับ 1 ของไทย เผยผลสำรวจความคิดเห็นของผู้บริโภคที่มีต่อตลาดที่อยู่อาศัยในไทย DDproperty’s Thailand Consumer Sentiment Study ฉบับล่าสุด และผลสำรวจความคิดเห็นผู้บริโภคในอาเซียน (สิงคโปร์, มาเลเซีย และอินโดนีเซีย) จากเว็บไซต์ในเครือ PropertyGuru Group (พร็อพเพอร์ตี้กูรู กรุ๊ป) เผยว่าคะแนนความพึงพอใจต่อบรรยากาศตลาดที่อยู่อาศัยของผู้บริโภคในอาเซียนส่วนใหญ่มีแนวโน้มลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564 อันเป็นผลมาจากโควิด-19 กลายพันธุ์ที่กระจายเร็วและส่งผลรุนแรง โดยคะแนนความพึงพอใจในรอบล่าสุดของชาวอินโดนีเซียลดลงจาก 73% มาอยู่ที่ 69% ส่วนชาวสิงคโปร์ลดลงจาก 48% เหลือเพียง 41% ด้านชาวไทยลดลงจาก 48% เหลือ 43% มีเพียงชาวมาเลเซียที่ให้คะแนนความพึงพอใจเพิ่มขึ้นจาก 43% เป็น 46% อันเป็นผลมาจากการที่รัฐบาลได้ออกมาตรการมากมายเพื่อควบคุมการเก็งกำไรและป้องกันไม่ให้เกิดภาวะอุปทานล้นตลาดอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ มีเพียงผู้บริโภคในประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์ที่มองว่าอัตราดอกเบี้ยของสินเชื่อที่อยู่อาศัยปัจจุบันมีความเหมาะสม (41% และ 45% ตามลำดับ) ในขณะที่ชาวอินโดนีเซีย (44%) และชาวไทย (39%) มองว่าการกู้ซื้อที่อยู่อาศัยมีอัตราดอกเบี้ยสูง โดยแค่ 19% ของผู้บริโภคไทยคิดว่าอัตราดอกเบี้ยสมเหตุสมผลแล้ว ซึ่งต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับผู้บริโภคในประเทศอื่นในอาเซียน

สะท้อนให้เห็นถึงความท้าทายที่คนอยากมีบ้านต้องเผชิญซึ่งจำเป็นต้องพึ่งพาการเติบโตทางเศรษฐกิจและมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาฯ จากภาครัฐ ที่จะมีบทบาทสำคัญในการช่วยกระตุ้นการตัดสินใจซื้ออสังหาฯ ให้กลับมาดังเดิม

จับตากำลังซื้อชาวมิลเลนเนียล หันลงทุนสร้างความมั่นคงก่อนมีบ้าน

ดีดีพร็อพเพอร์ตี้เจาะลึกมุมมองความต้องการที่อยู่อาศัยและการวางแผนการเงินของผู้บริโภคกลุ่มมิลเลนเนียลหรือ Gen Y ในแถบอาเซียนที่อยู่ในช่วงวัยทำงานและเริ่มซื้อที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักในตลาดอสังหาฯ ท่ามกลางความท้าทายและอุปสรรครอบด้าน ทั้งจากโควิด-19 และสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลต่อการเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยในเวลานี้

     ●  หนี้ครัวเรือนฉุดชาวไทยไม่พร้อมย้ายออก สวนทางเพื่อนบ้าน ผลสำรวจพบว่า ชาวมิลเลนเนียลอาเซียนส่วนใหญ่มีความพร้อมและวางแผนที่จะย้ายออกจากบ้านพ่อแม่ในช่วง 1 ปีข้างหน้านี้ โดยชาวอินโดนีเซียมีความพร้อมมากที่สุด กว่า 4 ใน 5 (84%) ตั้งใจย้ายออกเพื่อไปหาที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง ในขณะที่กว่า 3 ใน 4 ของชาวมาเลเซียและชาวสิงคโปร์ต่างมีแนวโน้มจะย้ายออกจากบ้านเช่นกัน (79% และ 77% ตามลำดับ) สวนทางกับกลุ่มมิลเลนเนียลชาวไทยที่มากกว่าครึ่ง (58%) เผยว่ายังไม่มีแผนจะย้ายออกในช่วง 1 ปีข้างหน้านี้ สาเหตุมาจากปัญหาหนี้ครัวเรือนและค่าใช้จ่ายที่มากขึ้น สอดคล้องกับศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี (ttb analytics) ที่คาดการณ์ว่าระดับหนี้ครัวเรือนของไทยอาจเพิ่มขึ้นไปถึง 93% ในสิ้นปี 2564 โดยพบว่าสัดส่วนหนี้ครัวเรือนในไตรมาส 1 ของปี 2564 ใช้เพื่อซื้ออสังหาฯ สูงที่สุดถึง 34% นอกจากนี้ ลูกหนี้ที่เข้าโครงการรับการช่วยเหลือในช่วงไตรมาส 2 ของปีนี้ยังมาจากหนี้ที่อยู่อาศัยเป็นหลัก มียอดขอความช่วยเหลือรวมสูงถึง 4.5% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) เทียบกับยอดหนี้เสีย (Non-Performing Loan: NPL) ที่ 0.6% ของ GDP

     ●  “ปัญหาการเงิน-ไม่ได้แต่งงาน” อุปสรรคใหญ่เมื่อคิดมีบ้าน กลุ่มมิลเลนเนียลชาวอาเซียนที่อาศัยอยู่กับพ่อแม่เผยว่าสภาพคล่องทางการเงินและการครองตัวเป็นโสดเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ยังไม่ย้ายออก รวมทั้งมีปัจจัยอื่น ๆ ที่แตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ ปัญหาหลักที่ทำให้ชาวมาเลเซียไม่ย้ายออกไปซื้อบ้านของตัวเอง โดย 62% ของชาวมาเลเซียที่ทำแบบสอบถามฯ เผยว่ามีเงินเก็บไม่เพียงพอที่จะซื้อหรือเช่าบ้าน ตามมาด้วยไม่ย้ายออกเนื่องจากยังไม่ได้แต่งงาน (48%) และมองว่าราคาอสังหาฯ ยังมีราคาแพงเกินไป จึงขอเก็บเงินไว้ดีกว่าจะนำไปซื้อบ้าน (31%) ในขณะที่ชาวอินโดนีเซียมีมุมมองคล้ายกับชาวมาเลเซีย คือมีเงินไม่พอที่จะซื้อหรือเช่าที่อยู่ใหม่ของตัวเองทำให้ไม่ตัดสินใจย้ายออก (55%) ตามมาด้วยยังไม่ได้แต่งงาน (45%) ในขณะที่อันดับสามเผยว่าอยากอยู่ดูแลพ่อแม่ (31%)

         แตกต่างจากชาวสิงคโปร์และชาวไทยอย่างเห็นได้ชัด โดยชาวสิงคโปร์ส่วนใหญ่มองว่าการที่ยังไม่แต่งงานและโครงการที่อยู่อาศัยแบบ BTO (Build-to-Order) มีความล่าช้าเป็นอุปสรรคใหญ่ในสัดส่วนเท่ากันที่ 41% ตามมาด้วยปัญหาการเงิน (24%) ส่วนสาเหตุหลักที่ทำให้ชาวไทยไม่ย้ายออกจากบ้านพ่อแม่ เกือบครึ่ง (49%) เผยว่าต้องการอยู่กับครอบครัวและคอยดูแลพ่อแม่ ตามมาด้วยไม่มีเงินเพียงพอในการหาที่อยู่อาศัยใหม่ (43%) และตั้งใจที่จะรับช่วงต่อบ้านจากพ่อแม่อยู่แล้ว (22%) สะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมและรูปแบบการใช้ชีวิตแบบครอบครัวขยายที่หล่อหลอมความผูกพันและคุ้นเคยกับการอยู่ร่วมบ้านเป็นครอบครัวใหญ่มากกว่า

ดีดีพร็อพเพอร์ตี้

     ●  ความมั่นคงคือคำตอบ ดันเทรนด์เงินฉุกเฉินมาแรง เมื่อพูดถึงการวางแผนการใช้จ่ายใน 1 ปีข้างหน้าของกลุ่มมิลเลนเนียลในอาเซียน พบว่าเทรนด์เงินสำรองฉุกเฉิน ซึ่งเป็นอีกทางเลือกการออมเงินในบัญชีออมทรัพย์ดอกเบี้ยสูงหรือกองทุนมาแรงอย่างเห็นได้ชัด สะท้อนให้เห็นว่าชาวมิลเลนเนียลได้เรียนรู้จากประสบการณ์ที่ต้องเผชิญการแพร่ระบาดฯ ทำให้หันมาสนใจวางแผนการเงินเพื่อเตรียมพร้อมรับมือเหตุฉุกเฉินที่อาจส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องทางการเงินในอนาคตมากขึ้น กว่า 3 ใน 4 ของชาวสิงคโปร์ 76% วางแผนเก็บเงินไว้เป็นเงินสำรองฉุกเฉิน ตามมาด้วยเก็บเงินไว้ชำระหนี้ (39%) และนำไปใช้เพื่อท่องเที่ยวในวันหยุด (35%) ด้านชาวมาเลเซีย 65% ให้ความสนใจในการเก็บเงินเพื่อสร้างกองทุนฉุกเฉินมาเป็นอันดับแรกเช่นกัน อย่างไรก็ดี ครึ่งหนึ่ง (50%) เผยว่าจะนำเงินไปซื้อที่อยู่อาศัย และ 40% ต้องการนำเงินไปใช้หนี้ที่ค้างอยู่ ในขณะที่แผนการใช้จ่ายของชาวไทยยังคงให้ความสนใจไปที่การบริหารจัดการเงินให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดผ่านการสร้างกองทุนฉุกเฉิน 61% ตามมาด้วยนำเงินไปใช้จ่ายภายในครอบครัวในสัดส่วนไล่เลี่ยกันที่ 60% และเลือกเก็บเงินไว้ชำระหนี้ที่ค้างอยู่ 54% สะท้อนให้เห็นภาระหน้าที่ของผู้บริโภคในช่วงวัยนี้ที่มีบทบาทในการบริหารจัดการสภาพคล่องทางการเงินของครอบครัวและรับผิดชอบค่าใช้จ่ายส่วนอื่นมากขึ้น

ดีดีพร็อพเพอร์ตี้_DDproperty_ตลาดที่อยู่อาศัยซบเซา

กฎหมายต้องรู้ก่อนซื้อบ้าน เสริมเกราะความมั่นใจ ไม่ต้องกลัวโดนเท

กฎหมายต้องรู้ก่อนซื้อบ้าน เสริมเกราะความมั่นใจ ไม่ต้องกลัวโดนเท

การซื้อที่อยู่อาศัยมีปัจจัยหลายประการที่ผู้บริโภคจะพิจารณาไม่ว่าจะเป็นทำเล พื้นที่ใช้สอย การออกแบบรวมไปถึงความคุ้มค่าด้านราคา และยังมีปัจจัยสำคัญอีกเรื่องหนึ่งที่หลายคนอาจมองข้ามไป คือข้อกฎหมาย โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการควบคุมดูแลการก่อสร้างโครงการบ้านจัดสรรและคอนโดมิเนียมโดยตรง ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องศึกษาและตรวจสอบความถูกต้องให้แน่ใจก่อนตัดสินใจซื้อ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของตนเองและป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาในภายหลัง

ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ (DDproperty) เว็บไซต์มาร์เก็ตเพลสด้านอสังหาริมทรัพย์อันดับ 1 ของไทย ขอแนะนำข้อกฎหมายหลัก ๆ เกี่ยวกับบ้านจัดสรรและคอนโดมิเนียมที่ผู้บริโภคควรรู้ เพื่อวางแผนและสร้างความมั่นใจก่อนตัดสินใจซื้อบ้าน รวมทั้งช่วยหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดข้อพิพาทในภายหลังโดยไม่คาดคิด

กฎหมายจัดสรร และกฎหมายควบคุมอาคาร” เรื่องที่คนซื้อบ้านห้ามมองข้าม

ในการซื้อบ้านสักหลัง ผู้ซื้อจำเป็นต้องมีข้อมูลและความเข้าใจข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจตามมาภายหลัง โดยกฎหมายหลัก ๆ ที่น่าสนใจจะมี พระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน หรือกฎหมายจัดสรรเพื่อควบคุมและจำกัดสิทธิของการจัดสรรที่ดินประเภทต่าง ๆ โดยมีประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับสาธารณูปโภคตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 (ปว.286) มีใจความสำคัญว่า “สาธารณูปโภคซึ่งผู้จัดสรรที่ดินจัดให้มีขึ้นเพื่อการจัดสรรที่ดินตามแผนผังและโครงการที่ได้รับอนุญาต เช่น ถนน สวนสาธารณะ สนามเด็กเล่น ให้ถือว่าตกอยู่ในภาระจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินจัดสรร และให้เป็นหน้าที่ของผู้จัดสรรที่ดินหรือผู้รับโอนกรรมสิทธิ์คนต่อไป ที่จะบำรุงรักษากิจการดังกล่าวให้คงสภาพดังเช่นที่ได้จัดทำขึ้นโดยตลอดไป และจะกระทำการใด ๆ อันเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวกมิได้”

ภายหลังมีการแก้ไขปรับปรุงตราพระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 ออกใช้บังคับแทน โดยมีใจความสำคัญเดิมที่ยังคงกำหนดให้สาธารณูปโภคที่จัดให้มีขึ้นในโครงการจัดสรรต้องคงสภาพเดิมตลอดไป ซึ่งประเด็นนี้โครงการอสังหาฯ ส่วนใหญ่จะไม่ได้แจ้งผู้ซื้อถึงความเป็นมาของที่ดินว่าเคยเป็นที่ดินจัดสรรเก่าตามกฎหมายที่ไม่สามารถนำมาใช้เชิงพาณิชย์หรือไม่ ดังนั้นก่อนที่จะซื้อบ้านจัดสรร ผู้ซื้อจึงควรตรวจสอบหาข้อมูลกับสำนักงานที่ดินในท้องที่นั้น ๆ ก่อน ว่าที่ดินในโครงการดังกล่าวทำถูกกฎหมายจัดสรรหรือไม่ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาตามมาในภายหลัง

นอกจากนี้ยังมี พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร ที่ผู้ซื้อแม้จะเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์บ้านนั้นโดยตรง แต่การต่อเติมเพิ่มนั้นจะต้องดำเนินการภายใต้กฎหมายควบคุมการก่อสร้างและดัดแปลงอาคาร โดยหลัก ๆ แล้วเจ้าของบ้านไม่สามารถต่อเติมบ้านจนเต็มพื้นที่ได้ เนื่องจากกฎหมายได้กำหนดระยะร่นและที่เว้นว่างสำหรับอาคารและเขตที่ดินไว้ ซึ่งเจ้าของบ้านจะต้องทำเรื่องขออนุญาตกับเจ้าพนักงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก่อน พร้อมแนบแบบแปลนที่ได้รับการรับรองจากสถาปนิกและวิศวกรผู้ควบคุมการก่อสร้างมาประกอบ นอกจากนี้การต่อเติมหรือขยายรั้วโครงการโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของโครงการ ยังถือว่าผิดกฎหมาย เนื่องจากรั้วโครงการสร้างขึ้นมากำหนดขอบเขตแยกระหว่างพื้นที่ส่วนตัวของบ้านและพื้นที่ของโครงการ จึงถือเป็นทรัพย์สินส่วนกลางและกรรมสิทธิ์ของเจ้าของโครงการโดยตรงเช่นกัน

อยากเป็นเจ้าของคอนโดฯ ควรศึกษากฎหมายอะไรบ้าง

คอนโดมิเนียมเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับความนิยมทั้งในกลุ่มผู้บริโภคที่เพิ่งมีบ้านหลังแรกหรือนักลงทุน มีโครงการใหม่ ๆ ออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง ที่เปิดให้จองห้องก่อนที่จะมีการก่อสร้างเกิดขึ้นจริง ถือเป็นช่วงโอกาสทองที่ผู้บริโภคจะได้จองห้องที่มีราคาถูก โปรโมชั่นที่คุ้มค่า และยังเลือกตำแหน่งห้องได้มากกว่า อย่างไรก็ตามการจองจากกระดาษมีความเสี่ยงกว่าการซื้อโครงการที่ก่อสร้างเสร็จแล้ว เพราะอาจเกิดเหตุไม่คาดคิดที่ทำให้การก่อสร้างถูกระงับหรือต้องเลื่อนเวลาส่งมอบออกไป ก่อนตัดสินใจจองหรือซื้อคอนโดฯ ผู้บริโภคจึงควรศึกษาว่าโครงการนั้น ๆ ปฏิบัติตามข้อบังคับของพระราชบัญญัติอาคารชุด และพระราชบัญญัติควบคุมอาคารครบถ้วนหรือไม่ โดยมีข้อควรพิจารณาหลัก ๆ ดังนี้

      ●  ใบอนุญาตก่อสร้างคอนโดฯ ส่วนใหญ่โครงการฯ จะต้องได้รับการอนุมัติรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA ก่อนจึงจะยื่นขอใบอนุญาตก่อสร้างคอนโดฯ ได้ โดยผู้สนใจสามารถสอบถามได้จากฝ่ายขายโครงการฯ นั้น

      ●  การจดทะเบียนเป็นอาคารชุด มีผลในด้านกรรมสิทธิ์ในห้องชุด การจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม การตั้งนิติบุคคลอาคารชุด ปัจจัยเหล่านี้ทำให้คอนโดฯ มีความแตกต่างจากอะพาร์ตเมนต์ และทำให้ผู้ซื้อสามารถถือครองกรรมสิทธิ์เป็นเจ้าของร่วมในโครงการฯ นั้น ๆ ได้

      ●  กฎหมายควบคุมอาคารด้านความปลอดภัย นอกจากจะส่งผลโดยตรงต่อความปลอดภัยของผู้อยู่อาศัยในระยะยาว ยังแสดงให้เห็นถึงความรับผิดชอบของเจ้าของโครงการที่มีต่อชุมชนข้างเคียง โดยโครงการจะต้องมีรายละเอียดแผนการปฏิบัติตามกฎหมายควบคุมอาคารด้านความปลอดภัย อาทิ ระบบป้องกันอัคคีภัย ระบบระบายอากาศ ระยะร่นของอาคาร ระบบบำบัดน้ำเสียก่อนปล่อยลงสู่ทางระบายน้ำสาธารณะ เป็นต้น

      ●  การกำหนดแนวร่นอาคารวัดจากกึ่งกลางถนนสาธารณะ โครงการที่มีอาคารติดกับถนนสาธารณะต้องมีระยะร่นของอาคารจากกึ่งกลางของถนนสาธารณะนั้นตามความกว้างที่กำหนด โดยแตกต่างกันไปตามความกว้างของถนนที่โครงการตั้งอยู่

นอกจากนี้ เมื่อแบ่งตามประเภทคอนโดฯ แบบไฮไรส์ (High Rise) และคอนโดฯ แบบโลว์ไรส์ (Low Rise) ยังมีข้อกฎหมายควบคุมที่แตกต่างกันออกไป ดังนี้

คอนโดฯ โลว์ไรส์ (Low Rise)

      ●  การกำหนดที่ว่างภายนอกอาคาร โครงการที่สูงไม่เกิน 8 ชั้น ต้องมีที่ว่างภายนอกอาคารไม่น้อยกว่า 30% ของพื้นที่ชั้นใดชั้นหนึ่งที่มากที่สุดของอาคาร

      ●  ระยะร่น กำหนดไว้ว่าโครงการฯ ที่มีความสูงไม่เกิน 8 ชั้น ด้านที่ชิดกับที่ดินอื่นจะต้องทำช่องเปิด ประตู หน้าต่าง ช่องระบายอากาศ หรือที่ริมระเบียงชั้น 2 ลงมา หรือคอนโดฯ ที่สูงไม่เกิน 9 เมตร ต้องมีระยะห่างจากเขตที่ดินอื่นไม่น้อยกว่า 2 เมตร และสำหรับชั้นที่ 3 ขึ้นไปหรือสูงเกินกว่า 9 เมตรแต่ไม่ถึง 23 เมตร ผนังหรือระเบียงต้องอยู่ห่างเขตที่ดินไม่น้อยกว่า 3 เมตร

คอนโดฯ ไฮไรส์ (High Rise)

      ●  การกำหนดที่ว่างภายนอกอาคาร กฎหมายกำหนดไว้ว่าคอนโดฯ ที่เป็นอาคารขนาดใหญ่หรือสูงเกิน 23 เมตรขึ้นไป หรือที่มีพื้นที่อาคารรวมกันทุกชั้นในหลังเดียวกันตั้งแต่ 10,000 ตารางเมตรขึ้นไป ต้องมีที่ว่างไม่น้อยกว่า 30% ของพื้นที่ดินที่ใช้เป็นที่ตั้งของอาคาร

      ●  ข้อกำหนดด้านความปลอดภัยในการก่อสร้าง ในการกำหนดระยะร่นของโครงการที่มีความสูงเกิน 23 เมตรขึ้นไป หรือมีพื้นที่ใช้สอยรวมกันทั้งหมดตั้งแต่ 10,000 ตารางเมตรขึ้นไป จะต้องมีระยะห่างจากที่ดินผู้อื่นมากกว่า 6 เมตรขึ้นไป

      ●  ความกว้างของที่ดินด้านหน้าอาคารและขนาดถนน ที่ดินด้านหน้าโครงการจะต้องมีความกว้างของที่ดินหน้าอาคารและมีขนาดของถนน ดังนี้

            ○  อาคารที่มีพื้นที่อาคารรวมกันทุกชั้นไม่เกิน 30,000 ตารางเมตร จะต้องมีด้านหนึ่งด้านใดของที่ดินยาวไม่น้อยกว่า 12 เมตร ติดถนนสาธารณะที่กว้างไม่น้อยกว่า 10 เมตร ยาวต่อเนื่องกันโดยตลอดจนไปเชื่อมต่อกับถนนสาธารณะอื่นที่มีเขตทางกว้างไม่น้อยกว่า 10 เมตร

            ○  อาคารที่มีพื้นที่อาคารรวมกันทุกชั้นมากกว่า 30,000 ตารางเมตรขึ้นไป จะต้องมีด้านหนึ่งด้านใดของที่ดินยาวไม่น้อยกว่า 12 เมตร ติดถนนสาธารณะที่มีเขตกว้างไม่น้อยกว่า 18 เมตร ยาวต่อเนื่องกันโดยตลอดจนไปเชื่อมต่อกับถนนสาธารณะอื่นที่มีเขตกว้างไม่น้อยกว่า 18 เมตร

            ○  ที่ดินด้านที่ติดถนนสาธารณะของที่ดินทั้งสองกรณี จะต้องมีความกว้างไม่น้อยกว่า 12 เมตร ยาวต่อเนื่องกันโดยตลอดจนถึงบริเวณที่ตั้งของอาคาร และที่ดินนั้นจะต้องว่างไว้เพื่อใช้เป็นทางเข้าออกของรถดับเพลิงได้สะดวกด้วย

โครงการผ่าน “EIA” การันตีไม่กระทบสิ่งแวดล้อม

นอกจากกฎหมายควบคุมที่แตกต่างกันไปของโครงการบ้านจัดสรรและคอนโดฯ แล้ว โครงการทั้งสองประเภทจำเป็นต้องผ่านการอนุมัติรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment Report หรือ EIA) ซึ่งเป็นรายงานที่ภาครัฐและเอกชนจำเป็นต้องจัดทำขึ้นก่อนการก่อสร้างบ้านจัดสรร คอนโดมิเนียม และโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่แทบทุกประเภท โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันไม่ให้โครงการก่อสร้างดังกล่าวก่อให้เกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม และสุขอนามัยของชุมชนโดยรอบในระยะยาว ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ทั้งในระหว่างทำการก่อสร้าง และหลังก่อสร้างแล้วเสร็จ

พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ได้กำหนดไว้ว่า โครงการก่อสร้างขนาดใหญ่จะสามารถดำเนินการก่อสร้างได้เมื่อผ่านการอนุมัติ EIA แล้วเท่านั้น ผู้พัฒนาอสังหาฯ จึงมักนำผลการอนุมัติ EIA นี้มาเป็นอีกจุดขายเพื่อดึงดูดความสนใจและเสริมสร้างความมั่นใจให้กับผู้ซื้อตั้งแต่ก่อนจองซื้อ ว่าโครงการนี้สามารถดำเนินการก่อสร้างได้จริงแน่นอน ในขณะที่โครงการอสังหาฯ ใดที่ทำ EIA ไม่ผ่าน ก็ไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างต่อได้ แม้จะเปิดให้ผู้ซื้อจองไปก่อนหน้าแล้วก็ตาม จึงถือเป็นความเสี่ยงที่ผู้ซื้อต้องแบกรับไว้หากตัดสินใจเลือกจองและผ่อนดาวน์โครงการที่ยังไม่ผ่านการอนุมัติ EIA ซึ่งพร้อมที่จะถูกยกเลิกการก่อสร้างได้ทุกเมื่อ

สำหรับโครงการที่อยู่อาศัยที่กฎหมายกำหนดให้ต้องผ่านการอนุมัติ EIA นั้น หากเป็นโครงการบ้านจัดสรรจะต้องมีพื้นที่ในโครงการมากกว่า 100 ไร่ หรือแบ่งแปลงที่ดินตั้งแต่ 500 แปลงขึ้นไป ในขณะที่โครงการคอนโดมิเนียมที่ต้องทำ EIA จะต้องเป็นโครงการที่มีพื้นที่ใช้สอยรวมกันตั้งแต่ 4,000 ตารางเมตรขึ้นไป หรือมีจำนวนห้องชุดตั้งแต่ 80 ห้องขึ้นไป ทำให้โครงการคอนโดฯ แบบไฮไรส์ (High Rise) ส่วนใหญ่จะต้องทำ EIA เพื่อประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมทั้งหมด ในขณะที่โครงการคอนโดฯ แบบโลว์ไรส์ (Low Rise) บางโครงการอาจไม่ต้องทำ EIA เลย

อย่างไรก็ตาม การเลือกซื้อบ้านเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้บริโภคต้องตัดสินใจอย่างรอบคอบและถี่ถ้วน เนื่องจากเป็นทรัพย์สินที่มีราคาสูงและมีระยะเวลาผ่อนชำระที่ยาวนาน การศึกษาข้อกฎหมายเพื่อนำมาประกอบการพิจารณาเพื่อช่วยลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นก่อนตัดสินใจซื้อ จึงถือเป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม เพราะในช่วงชีวิตของผู้บริโภคอาจไม่ได้ทำการซื้อที่อยู่อาศัยบ่อยนัก เว็บไซต์มาร์เก็ตเพลสด้านอสังหาริมทรัพย์อันดับ 1 ของไทยอย่างดีดีพร็อพเพอร์ตี้ (https://www.ddproperty.com) ได้รวบรวมบทความที่น่าสนใจเพื่อเป็นแหล่งรวมความรู้สำหรับคนอยากมีบ้าน พร้อมอัปเดตข่าวสารในแวดวงอสังหาฯ และรวบรวมประกาศซื้อ/ขาย/เช่าครอบคลุมหลากหลายทำเลทั่วประเทศ รวมทั้งรีวิวโครงการใหม่ที่น่าสนใจ เพื่อช่วยให้ผู้ที่อยากมีบ้าน/คอนโดฯ เป็นของตัวเอง สามารถเลือกที่อยู่อาศัยที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตได้ตรงใจมากที่สุด