อะไรซ่อนอยู่ใน Metaverse
บทความโดย เซลินา หยวน ผู้จัดการทั่วไป หน่วยงานด้านธุรกิจระหว่างประเทศ อาลีบาบา คลาวด์ อินเทลลิเจนซ์
เมตาเวิร์ส (metaverse) คือโลกแห่งความเป็นไปได้อันไม่มีที่สิ้นสุด ที่เราเคยเห็นได้จากนวนิยายทางวิทยาศาสตร์ วิธีการง่ายที่สุดที่จะเข้าใจ metaverse ได้ดีคือการชมภาพยนตร์ฮอลลีวูดยอดนิยม เช่น Avatar และ Ready, Player One
เมตาเวิร์ส (metaverse) คือโลกแห่งความเป็นไปได้อันไม่มีที่สิ้นสุด ที่เราเคยเห็นได้จากนวนิยายทางวิทยาศาสตร์ วิธีการง่ายที่สุดที่จะเข้าใจ metaverse ได้ดีคือการชมภาพยนตร์ฮอลลีวูดยอดนิยม เช่น Avatar และ Ready, Player One
ในภาพยนตร์เหล่านี้ metaverse คือจักรวาลดิจิทัลสามมิติที่นักแสดงสามารถหลีกหนีจากความจริงทางกายภาพ สามารถมีส่วนร่วมกับผู้อื่นผ่านตัวตนจำลองในโลกเสมือนจริง (avatar: อวาตาร์) ของตนที่สร้างขึ้นมา และสามารถหาประสบการณ์จากทุกสิ่งที่ต้องการได้ โดยมีข้อจำกัดเพียงจินตนาการของมนุษย์และเทคโนโลยีเท่านั้น
นอกจาก metaverse จะเป็นคู่แฝดทางดิจิทัลของความเป็นจริงในโลกทางกายภาพที่ยอดเยี่ยมของเราแล้ว ยังมีศักยภาพที่แท้จริงซ่อนอยู่ นั่นคือความสามารถในการใช้ความชาญฉลาดทางดิจิทัลที่เราใช้ประโยชน์อยู่แล้วให้มีประสิทธิผลมากขึ้น และทำให้มองเห็นแนวทางการเปิดเผยข้อมูลเชิงลึกใหม่ ๆ ที่ไม่เช่นนั้นก็อาจยังคงซ่อนอยู่ออกมา และนี่อาจเป็นหัวใจสำคัญที่จะช่วยให้เราแก้ปัญหาต่าง ๆ ของโลกแห่งความเป็นจริง และสร้างโลกที่เขียวชอุ่มมากขึ้น มีความเสมอภาคและมีส่วนร่วมซึ่งกันและกันมากขึ้น และเป็นโลกที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี
การจัดการผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ
Metaverse ไม่เพียงเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการสร้างโลกเวอร์ชวลที่สมบูรณ์แบบเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวข้องกับการนำเทคโนโลยีต่าง ๆ ไปใช้จัดการปัญหาเร่งด่วนมากมายได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นต้น
การคาดการณ์ด้านต่าง ๆ จากรายงานของ Institute of Chartered Accountants in England and Wales และ British Chamber of Commerce Singapore แสดงให้เห็นว่าภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นหนึ่งในภูมิภาคที่มีความสุ่มเสี่ยงมากที่สุดในโลก โดยหกในยี่สิบประเทศทั่วโลกที่มีความสุ่มเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศอยู่ในภูมิภาคนี้ คือ ประเทศอินโดนีเซีย ไทย เมียนมาร์ มาเลเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์
อุทกภัยคร่าชีวิตผู้คนมากกว่า 250,000 ราย และสร้างความเสียหายมากกว่า 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ทั่วโลก ตั้งแต่ปี 2523 คิดเป็นประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ของความเสียหายที่เกิดจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นและสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงแบบสุดขั้ว เป็นภัยคุกคามที่แท้จริงต่อหมู่เกาะจำนวนมากตามชายฝั่งทะเลที่อยู่ในภูมิภาคนี้และที่มีพื้นที่ลุ่มต่ำ ภัยธรรมชาติเหล่านี้อาจทำลายบ้านเรือนจนอยู่อาศัยไม่ได้ และสร้างความกดดันต่อเนื่องมายังเรื่องของการจัดหาเสบียงอาหารและระบบเศรษฐกิจต่าง ๆ
ในเบื้องต้นอาลีบาบา คลาวด์ ได้สร้างแพลตฟอร์มที่มีการนำข้อมูลที่มีอยู่ในปัจจุบันมาใช้คาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้น (nowcasting platform) เพื่อใช้คาดการณ์สภาพอากาศในช่วงสั้น ๆ ซึ่งจะช่วยให้ภูมิภาคนี้สามารถควบคุมและรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับสภาพอากาศได้ เทคโนโลยีที่ทำงานโดยการดึงภาพถ่ายดาวเทียมด้านอุตุนิยมวิทยาด้วยความแม่นยำสูงและในเวลาเรียลไทม์นี้ สามารถช่วยติดตามปริมาณน้ำฝน ความเร็วลม และสภาพอากาศที่รุนแรงต่าง ๆ เพื่อลดความเสียหายต่อพืชผลทางการเกษตรและปศุสัตว์ให้เหลือน้อยที่สุด ทั้งยังช่วยให้ผู้จัดส่งผลผลิตสามารถจัดเส้นทางการจัดส่งได้อย่างมีประสิทธิภาพ
แต่หากเราสามารถแปลงความชาญฉลาดนี้ให้กลายเป็น metaverse ได้ จะมีประโยชน์มหาศาล เช่น การแปลงและทำแผนที่ข้อมูลสาธารณะที่เกี่ยวกับสภาพอากาศแปรปรวนที่เกิดในรูปแบบต่าง ๆ หรือความถี่ของการเกิดภัยธรรมชาติให้เป็น metaverse จะช่วยให้เราเข้าใจความสัมพันธ์ของเหตุการณ์ต่าง ๆ เหล่านี้ และแนวโน้มที่จะเกิดขึ้น ในขณะที่การเก็บข้อมูลฝนที่ตกหนักเพียงอย่างเดียวโดยลำพัง จะให้ข้อมูลเกี่ยวกับช่วงเวลาที่จะเกิดน้ำท่วมรุนแรงได้เท่านั้น
ผลกระทบอันเนื่องมาจากภัยที่เกิดจากสภาพอากาศต่าง ๆ ไม่ใช่เรื่องแปลก แต่จะเป็นเรื่องหนักหนาขึ้นมาทันที หากภัยเหล่านั้นเกิดขึ้นกับสภาพแวดล้อมที่คุ้นเคยของใครสักคน เช่น ที่บ้าน หรือที่โรงเรียนของบุตรหลาน การสร้างสถานที่ต่าง ๆ ที่จำลองโลกจริงแบบสามมิติ (3D) ช่วยให้เราเห็นภาพภัยพิบัติจริงที่จะเกิดขึ้นในแต่ละสถานที่ที่เราคุ้นเคย โดยที่เหตุการณ์นั้นยังไม่เกิดขึ้นบนโลกจริง ซึ่งหากเกิดขึ้นอาจถึงกับต้องแลกด้วยชีวิต ผลกระทบแบบเสมือนจริงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นใน metaverse จะเป็นเหมือนเครื่องเตือนใจที่จริงจังว่ามนุษย์ควรดำเนินชีวิตและปกป้องสิ่งแวดล้อมอย่างไร
ปรับปรุงการดำเนินงานและการออกแบบสิ่งต่าง ๆ ที่สร้างขึ้นไว้ในสภาพแวดล้อมและในภาคการผลิต ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
metaverse มีความเกี่ยวข้องทันทีกับเมืองต่าง ๆ ที่เราอาศัยอยู่ทุกวันนี้ การที่เราก้าวเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 ซึ่งเทคโนโลยีคลาวด์และ IoT ต่าง ๆ มีอิทธิพลสูง metaverse จะเป็นเทคโนโลยีที่เหมาะสมในการจัดการและทดสอบสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ ในอนาคต ก่อนที่จะนำไปใช้ในโลกจริง
ลองจินตนาการถึงฐานข้อมูลที่มีประสิทธิภาพสูงมากแห่งหนึ่งที่สามารถวิเคราะห์ข้อมูลเชิงพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ที่เป็นรูปทรงเรขาคณิตได้อย่างรวดเร็ว ถอดผลการคำนวณ และแสดงผลได้แบบเรียลไทม์ ผ่านแผนที่สามมิติที่สื่อสารกันได้ สิ่งนี้คือสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ฐานข้อมูลของอาลีบาบา คลาวด์ได้คำนึงถึงเมื่อตอนสร้าง GanosBase ขึ้นมาเป็นครั้งแรก GanosBase เป็นกลไกฐานข้อมูลแบบคลาวด์-เนทีฟ ที่สามารถวิเคราะห์และแปลข้อมูล 3D และ 4D เพื่อสร้างฝาแฝดดิจิทัล ทำการจำลองโลกทางกายภาพ
ในส่วนของการสร้างสภาพแวดล้อมนั้น การใช้ประโยชน์จากความเข้าใจเชิงลึกที่จำลองมาด้วยความชาญฉลาดแบบเรียลไทม์ จะช่วยสร้างโอกาสในการผสมผสานการออกแบบที่ยั่งยืนได้ดีกว่า ผู้ออกแบบสามารถเห็นภาพเสมือนจริงของโครงสร้างในการก่อสร้างอาคารหนึ่ง ๆ ใน metaverse และนำมาใช้ประโยชน์ เช่น เพื่อหาอัตราส่วนที่ลงตัวระหว่างหน้าต่างและผนัง, ใช้แสงจากธรรมชาติให้มากที่สุด, คาดการณ์วัสดุต่าง ๆ ที่ใช้ว่าจะทนทานและยั่งยืนเพียงใด และเพื่อวางแผนแนวทางใหม่ ๆ ในการสร้างพื้นที่สีเขียวและอนุรักษ์ธรรมชาติ
การสร้างสภาพแวดล้อมเสมือนจริงที่สอดคล้องกับแผนการผลิตจริงผ่านเทคโนโลยี AR/VA และโฮโลแกรม (holographic) สามารถทรานส์ฟอร์มอุตสาหกรรมแบบดั้งเดิมต่าง ๆ เช่น อุตสาหกรรมการผลิตได้ โรงงานที่มีการนำเซ็นเซอร์ต่าง ๆ ที่เชื่อมต่อถึงกัน หรืออุปกรณ์อินเทอร์เน็ตออฟธิงค์ (Internet of Things: IoT) มาใช้ จะช่วยให้ผู้ผลิตสามารถจำลองการตั้งค่าการผลิตจริงใน metaverse ก่อนได้ เพื่อช่วยให้ผู้ปฏิบัติงานได้ฝึกฝนวิธีควบคุมการทำงานแบบเสมือนจริง และตรวจหาข้อผิดพลาดที่เกิดกับการตั้งค่าการผลิตต่าง ๆ ได้ โดยยังไม่ต้องสร้างสิ่งใดจริง ๆ เลย เช่นในสถานการณ์โควิด-19 ที่มีข้อจำกัดในการเดินทาง พนักงานที่อยู่ต่างประเทศจะได้รับการฝึกอบรมจากระยะไกล เพื่อให้ได้รู้จักและคุ้นเคยกับการทำงานแบบเสมือน ก่อนที่จะได้ทำงานกับเครื่องจักรจริง โดยไม่ต้องเสียเวลารอให้สถานการณ์ดีขึ้นจนเดินทางเข้าอบรมด้วยตนเองได้
เชาวน์ปัญญาที่เกิดใน metaverse นี้ สามารถถ่ายโอนไปยังโลกแห่งความจริงได้ เพื่อนำไปใช้เพิ่มประสิทธิภาพให้กับ AI algorithms, เพื่อสนับสนุนการทรานส์ฟอร์มที่ชาญฉลาด และอัปเกรดโรงงานต่าง ๆ ทั้งยังใช้เพื่อทำเวิร์กช็อปและกำหนดสายการผลิตโดยไม่ต้องเสียเวลาที่ต้องเดินทางเข้าปฏิบัติงานด้วยตนเอง และลดการสิ้นเปลืองทรัพยากร
เพิ่มสมรรถนะ metaverse ในอนาคต
การเพิ่มสมรรถนะให้กับสี่เทคโนโลยีเลเยอร์ของ metaverse ต้องใช้ความล้ำหน้าทางเทคโนโลยีอย่างมาก เลเยอร์ที่ 1 จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยี AI, คลาวด์ และ IoT ที่มีประสิทธิภาพสูง เพื่อสร้างแบบจำลองทางเรขาคณิตของสภาพแวดล้อมทางกายภาพ และแสดงผลผ่านอุปกรณ์ปลายทางที่หลากหลาย เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่สมจริง
เทคโนโลยีอื่น เช่น การเรนเดอร์จากระยะไกล ซึ่งทำการสตรีมอินพุตแบบเสมือนไปยังอุปกรณ์ต่าง ๆ แบบเรียลไทม์ และระบบการวิเคราะห์ข้อมูลต่าง ๆ เป็นหัวใจสำคัญในการสร้างโลกเสมือนให้ใกล้เคียงกับโลกทางกายภาพ และทำให้มั่นใจว่าผู้คนและวัตถุในโลกเสมือนเป็นไปตามหลักเกณฑ์ทางกายภาพที่อยู่ในโลกของความเป็นจริง
การสลายแนวแบ่งเขตของโลกเสมือนและโลกจริงให้หมดไป จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยี AR และ VR เพื่อสร้างแผนที่สามมิติที่มีความแม่นยำสูง ในขณะเดียวกันก็มอบประสบการณ์ที่เป็นการเฉพาะให้ด้วย เช่น การบริการลูกค้าและการให้คำแนะนำแบบเสมือน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีต่าง ๆ เหล่านี้จะต้องทำงานร่วมกันเพื่อเชื่อมสองโลกเข้าด้วยกัน
แม้ว่า metaverse เป็นการพัฒนาที่น่าตื่นเต้น แต่ก็ชัดเจนว่าจะทำให้เกิดความต้องการใช้พลังงานและมีการผลิตเพิ่มขึ้นอย่างมาก องค์กรต่าง ๆ สามารถจัดการกับความท้าทายเหล่านี้ได้ด้วยการพิจารณาใช้บริการดาต้าเซ็นเตอร์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้รับการออกแบบ สร้าง และดำเนินงาน เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้เหลือน้อยที่สุด โดยผสานกับเทคโนโลยีหลักที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น การระบายความร้อนด้วยของเหลวเพื่อลดการใช้พลังงาน การเพิ่มประสิทธิภาพในการประมวลผลเพื่อประหยัดการใช้ไฟฟ้า การใช้ระบบติดตามตรวจสอบที่เป็นอัตโนมัติ การบำรุงรักษาและการเพิ่มประสิทธิภาพให้กับงานอื่น ๆ ที่ใช้พลังงานมาก
การที่เราต้องพึ่งพาเทคโนโลยีมากขึ้น รวมถึงการใช้ metaverse ที่ต้องใช้พลังงานมากขึ้น ทำให้เราต้องยึดมั่นกับแนวทางการทำงานเพื่อความยั่งยืนและมีความรับผิดชอบทั้งในปัจจุบันและในอนาคต