ครั้งแรกของการนำเทคโนโลยีระบบหลัก ที่ใช้ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว มาทำงานบนอาลีบาบา คลาวด์

อาลีบาบา สนับสนุนระบบดิจิทัลให้กับการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว เพิ่มประสิทธิภาพ ความยั่งยืน และความทั่วถึง

ด้วยความมุ่งมั่นของคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) ในการนำระบบดิจิทัลมาใช้ ทำให้การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวที่ปักกิ่ง ประจำปี 2022 (ปักกิ่งเกมส์ 2022) ประสบความสำเร็จในการนำบริการทางเทคโนโลยีที่ใช้ในการแข่งขันไปทำงานบนอาลีบาบา คลาวด์ ซึ่งเป็นธุรกิจด้านเทคโนโลยีดิจิทัลและหน่วยงานหลักด้านอินเทลลิเจนซ์ของอาลีบาบา กรุ๊ป  การโยกย้ายเทคโนโลยีหลักของปักกิ่งเกมส์ไปทำงานบนอาลีบาบา คลาวด์ ครั้งนี้ เกิดขึ้นท่ามกลางการระบาดใหญ่ของโควิด-19 เพื่อให้ผู้เข้าร่วมงานและผู้รับชมทั่วโลกได้รับความปลอดภัย ด้วยประสิทธิภาพที่มากขึ้น ยั่งยืน และครบถ้วนทั่วถึง

Jeff Zhang ประธานอาลีบาบา คลาวด์ อินเทลลิเจนซ์ กล่าวว่า “ปักกิ่งเกมส์ 2022 ไม่เพียงแต่จะได้รับการจดจำถึงเรื่องความตื่นเต้นและความสำเร็จอันน่าทึ่งของเหล่านักกีฬาจากทั่วโลก แต่ยังรวมไปถึงการจัดการรูปแบบใหม่ในการแข่งขัน เพื่อทำให้การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกดำเนินไปได้อย่างราบรื่น มีประสิทธิภาพ ยั่งยืน และครอบคลุม เราภูมิใจที่ได้มีส่วนสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก และเราหวังว่าประสบการณ์ของเราในการเป็นผู้ให้บริการระบบปฏิบัติการหลักของปักกิ่งเกมส์ 2022 ด้วยอาลีบาบาคลาวด์ จะเป็นประโยชน์ต่อการแข่งขันกีฬาต่าง ๆ ในอนาคต”

ช้สมรรถนะที่ล้ำหน้าของคลาวด์เพิ่มประสิทธิภาพให้กับผู้จัดงาน

IOC และ คณะกรรมการผู้จัดงานการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิกฤดูหนาวปี 2022 ปักกิ่งเกมส์ (BOCOG) ได้ดำเนินงานตามแผนแม่บทการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว รวมถึงการใช้งานระบบปฏิบัติการหลักที่ให้บริการโดย Atos ผู้เป็นพันธมิตรด้านไอทีระดับโลกของ IOC เช่น ระบบการจัดการเกม (Game Management System -GMS) ระบบการจัดการโอลิมปิก (Olympics Management System – OMS) และระบบกระจายข้อมูลโอลิมปิก (Olympics Distribution System – ODS) ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนทำงานบนโครงสร้างพื้นฐานคลาวด์ของอาลีบาบา

ปักกิ่งเกมส์ 2020 ได้รับประโยชน์จากความสำเร็จในการใช้บริการต่าง ๆ ที่ทำงานบนคลาวด์ สามารถลดเวลาและลดการลงทุนด้านค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานไอที ฮาร์ดแวร์ และการบริหารจัดการที่เกี่ยวข้องกัน  ความสามารถในการวิเคราะห์ข้อมูลอย่างชาญฉลาดแบบเรียลไทม์ที่ล้ำหน้าของคลาวด์ ช่วยให้สามารถวางแผนงานและบริหารจัดการปักกิ่งเกมส์ 2022 ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดและทันสมัย เพื่อเพิ่มประสบการณ์การใช้งานที่ราบรื่นให้กับผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย

ผู้จัดงานต่าง ๆ เช่น IOC สามารถใช้ประโยชน์จากคุณสมบัติของโครงสร้างพื้นฐานคลาวด์ เช่น ความสามารถในการปรับขนาดการทำงาน ความเชื่อถือได้ และความปลอดภัย เพื่อลดความซับซ้อนของการวางแผนการแข่งขัน โดยทำการตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ จากข้อมูลที่วิเคราะห์มาแล้วอย่างชาญฉลาด ช่วยให้เกิดความสมดุลระหว่างการเพิ่มประสิทธิภาพให้กับทรัพยากรที่มีอยู่ และการสร้างทรัพยากรใหม่ และนั่นทำให้เมืองที่เป็นเจ้าภาพสามารถลดเวลาและค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพแบบเดิมได้ตั้งแต่เริ่มต้น

เทคโนโลยีคลาวด์ช่วยให้ผู้คนทั่วโลกใกล้ชิดกันมากขึ้น

ปักกิ่งเกมส์ 2022 ยังได้แสดงให้เห็นถึงการพัฒนากลุ่มนวัตกรรมทางเทคโนโลยีที่นำมาซึ่งการมอบประสบการณ์ที่ครอบคลุมมากขึ้นให้กับแฟนกีฬาที่อยู่ในสถานที่ต่าง ๆ  โดยอาลีบาบา ได้เปิดตัว Cloud ME ซึ่งเป็นเทคโนโลยีในการฉายภาพเสมือนจริงที่ใช้คลาวด์เป็นพลังขับเคลื่อน และช่วยให้การปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกันจากระยะไกลทำได้อย่างสะดวกและง่ายดาย เทคโนโลยีนี้ท้าทายข้อจำกัดด้านระยะทาง ด้วยการทำให้ผู้คนพบและสนทนากันได้เสมือนจริง ทั้งจากการฉายภาพขนาดเท่าตัวจริง และเสมือนอยู่ในสถานที่เดียวกัน

อาลีบาบายังได้เปิดตัว ตง ตง (Dong Dong) เวอร์ชวล อินฟลูเอนเซอร์วัย 22 ปี ตง ตง เป็นหญิงสาวชาวปักกิ่ง ที่สร้างขึ้นเพื่อให้สามารถโต้ตอบกับแฟน ๆ กีฬาทั่วโลก ร่วมแบ่งปันความสนุกสนานและข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับกีฬาโอลิมปิก ด้วยน้ำเสียงที่เป็นธรรมชาติ ทั้งยังสามารถถ่ายทอดอารมณ์ได้หลากหลาย ช่วยเพิ่มปฏิสัมพันธ์กับผู้ชมวัยรุ่นได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 4 ถึง 20 กุมภาพันธ์ มีผู้รับชมการถ่ายทอดสดของ ตง ตง กว่า 2 ล้านคน และ ตง ตง มีแฟนคลับมากกว่า 100,000 คน

เพื่อนำเสนอเนื้อหาในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่ดีที่สุดแก่ผู้ชมทั่วโลก เทคโนโลยีคลาวด์คอมพิวติ้งของอาลีบาบายังสนับสนุน Olympic Channel Services ที่จะนำโปรแกรมการถ่ายทอดการแข่งขันกีฬาคุณภาพสูงมาสู่แฟน ๆ กีฬาทั่วโลก เพื่อให้มีส่วนร่วมในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกได้จากทุกที่ ทุกเวลา และจากทุกอุปกรณ์

นวัตกรรมที่ยั่งยืนสำหรับโอลิมปิกในอนาคต

นับเป็นครั้งแรกที่มีการกระจายสัญญาณสดของการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกผ่านระบบคลาวด์ ทำให้ผู้ออกอากาศที่ซื้อสิทธิ์ทางโทรทัศน์และวิทยุในการแข่งขัน (Rights Holding Broadcasters: RHBs)  มีตัวเลือกที่มีความคล่องตัวและคุ้มค่า ตลอดช่วงการแข่งขันปักกิ่งเกมส์ OBS ได้ทำการผลิตฟุตเทจที่มีความยาวรวมกว่า 6,000 ชั่วโมง และแพร่ภาพและเสียงไปยังพื้นที่และประเทศต่าง ๆ มากกว่า 220 แห่ง

OBS Video Server ซึ่งติดตั้งทำงานอยู่บนคลาวด์อย่างเต็มรูปแบบ ช่วยให้ RHBs สามารถปรับขนาดการทำงานของระบบได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งยังลดการลงทุนด้านฮาร์ดแวร์ที่ต้องติดตั้งไว้ ณ หน้างาน นอกจากนี้ Content+ ยังช่วยให้ RHBs สามารถเข้าถึงเนื้อหาทั้งหมดที่ผลิตระหว่างการแข่งขันได้จากระยะไกล และการรายงานข่าวจากระยะไกลได้อย่างไม่ยุ่งยาก  การใช้ OBS Live Cloud ยังช่วยให้ RHBs และเมืองที่เป็นเจ้าภาพจัดงานมีทางเลือกอื่นนอกจากการต้องลงทุนจำนวนมาก การที่สามารถส่งข้อมูลและเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการแข่งขันโอลิมปิกผ่านพับลิคคลาวด์ได้นั้น เป็นการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากการทำงานที่เกี่ยวกับการแพร่ภาพกระจายเสียงได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ OBS ยังใช้ประสิทธิภาพจากการเล่นภาพซ้ำจากมุมกล้องหลาย ๆ ตัวของอาลีบาบา ในการฉายภาพซ้ำของไฮไลท์ในการแข่งขันกีฬา เช่น มุมเลี้ยวและความเร็วในการแข่งขันสเก็ตที่เกิดขึ้นในไม่กีวินาทีนำประสบการณ์การรับชมที่สมจริง และมีชีวิตชีวามาสู่ผู้ชมทั่วโลกผ่าน RHBs บนคลาวด์

Ilario Corna ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศของ IOC กล่าวว่า “นวัตกรรมในปักกิ่งเกมส์ 2022 เป็นสิ่งที่ยอดเยี่ยมเช่นเดียวกับความสำเร็จด้านกีฬา ผมตื่นเต้นที่ได้เห็นการนำเทคโนโลยีคลาวด์มาใช้ในปักกิ่งเกมส์ ที่ไม่เพียงแต่เป็นประโยชน์กับนักกีฬา แฟนกีฬา และเจ้าหน้าที่ที่ทำงานเท่านั้น แต่ยังเป็นการให้เกียรติกับความปรารถนาอันแรงกล้าของเราที่จะทำให้การแข่งขันโอลิมปิกเป็นการจัดการแข่งขันกีฬาที่อยู่ในระดับแนวหน้าที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืน”