“การจัดการพลังงานไฟฟ้าอัจฉริยะ” ช่วยสร้างความยั่งยืนแก่ธุรกิจและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

“การจัดการพลังงานไฟฟ้าอัจฉริยะ” ช่วยสร้างความยั่งยืนแก่ธุรกิจและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

โดย นางสุวรรณี สิงห์ฤาเดช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและซีอีโอ ซีเมนส์ ประเทศไทย

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2563 จนถึงวันนี้ ได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงไปยังทุกภาคส่วน ภาครัฐและเอกชนต่างมุ่งจัดการปัญหาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดที่ล้วนเป็นเรื่องเร่งด่วนในทุก ๆ ด้าน อย่างไรก็ตามเราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกและสิ่งแวดล้อม” เป็นอีกปัญหาใหญ่ที่ต้องได้รับการจัดการอย่างเร่งด่วนเช่นกัน จากเหตุภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นบ่อยและมีความรุนแรงมากขึ้น อันเป็นผลจากสภาวะโลกร้อนในหลายประเทศทุกภูมิภาคทั่วโลก

แท้จริงแล้วภาคอุตสาหกรรมมีบทบาทสำคัญต่อประเด็นนี้ เนื่องจากกระบวนการผลิตที่ใช้พลังงานมากถึงหนึ่งในสามของการใช้พลังงานทั้งหมดในโลก ซึ่งเทคโนโลยีการจัดการพลังงานไฟฟ้าที่ก้าวหน้าไปมากในปัจจุบันช่วยให้ภาคอุตสาหกรรมมีส่วนสำคัญช่วยลดสภาวะโลกร้อนโดยอาศัยการจัดการพลังงานอย่างชาญฉลาดด้วยเทคโนโลยี
ดังกล่าว

การจัดการพลังงานไฟฟ้าสำหรับภาคอุตสาหกรรมมีส่วนช่วยลดสภาวะโลกร้อนได้อย่างไร

เรามาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญซึ่งทุกภาคส่วนเห็นร่วมกันชัดเจนถึงความจำเป็นที่จะต้องร่วมมือกันอย่างเต็มที่ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) ในขณะที่ภาคส่วนอื่น ๆ อาทิ การผลิตพลังงานไฟฟ้า การเกษตร และการบริโภคในครัวเรือน ได้เริ่มลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาระดับหนึ่งแล้ว แต่ภาคอุตสาหกรรมนั้นแทบจะไม่มีการปรับเปลี่ยนเลย แม้แต่ในประเทศเยอรมนีที่เป็นผู้นำในโลกอุตสาหกรรมยุคใหม่เองก็ตาม

เพื่อจัดการปัญหานี้ ซีเมนส์เห็นแนวทางขับเคลื่อนสำคัญ 3 ประการที่จะช่วยให้ภาคอุตสาหกรรมสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนี้

  1. การสร้างความยืดหยุ่นในการนำพลังงานมาใช้ เช่น การใช้โซลูชั่นการกักเก็บพลังงานและการใช้ระบบโรงไฟฟ้าเสมือน (Virtual Power Plants : VPP)

  2. การปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานให้เป็นดิจิทัล เพื่อให้มั่นใจว่าการใช้พลังงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งสามารถทำได้โดยการติดตั้งอุปกรณ์ IoT (Internet of Things) เซ็นเซอร์ และซอฟต์แวร์ควบคุม

  3. การนำการจัดการพลังงานไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Electrification) มาใช้ ในการดำเนินงานให้ครอบคลุมทุกกระบวนการทำงาน

จากสามแนวทางข้างต้น “การจัดการพลังงานไฟฟ้าอัจฉริยะ” เป็นหนทางที่ดีที่สุดในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ทั้งยังสามารถสร้างประโยชน์สูงสุดจากปัจจัยการขับเคลื่อนที่เหลือ

ในการจัดการพลังงานไฟฟ้าอัจฉริยะนั้น มี 2 ปัจจัยที่ต้องคำนึงถึง ได้แก่ หนึ่ง – ความเป็นไปได้ที่จะนำพลังงานสะอาด ซึ่งไม่มีการปล่อยคาร์บอนสู่สิ่งแวดล้อมมาป้อนเข้าสู่สถานประกอบการอุตสาหกรรม อาทิ พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานน้ำ และ สอง – การจัดการพลังงานของสถานประกอบการอุตสาหกรรม เช่น การจัดการความต้องการใช้พลังงานด้วยซอฟต์แวร์ เป็นต้น

เหตุผลที่การจัดการพลังงานไฟฟ้าอัจฉริยะมีผลอย่างมากต่อการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ก็คือ เมื่อจัดการการใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพจะทำให้สามารถเพิ่มการใช้พลังงานสะอาดซึ่งสามารถผลิตไฟฟ้าได้โดยไม่ก่อมลภาวะ แทนที่การผลิตไฟฟ้าด้วยเทคโนโลยีแบบเดิม เช่น เครื่องกำเนิดไฟฟ้าพลังงานดีเซลที่มีการก่อมลภาวะสูง

การจัดการพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพคือ “หัวใจสำคัญ” ในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในภาคอุตสาหกรรม
กรณีศึกษาจากบริษัท Gestamp ผู้ผลิตชิ้นส่วนโลหะยานยนต์ในสเปนซึ่งมีหลายกระบวนการผลิตที่ต้องใช้พลังงานเป็นจำนวนมากแต่ขาดข้อมูลการใช้พลังงานที่ชัดเจนทำให้โรงงานต้องเผชิญกับค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้นเรื่อยๆ

แต่ด้วยการติดตั้งอุปกรณ์มาตรวัดพลังงานและการใช้โซลูชันการสื่อสารรับส่งข้อมูลขนาดใหญ่จากโรงงาน 15 แห่งใน 6 ประเทศแล้วนำมาวิเคราะห์ Gestamp สามารถระบุ
จุดที่เป็นปัญหาและปรับปรุงการดำเนินงาน ทำให้สามารถลดการใช้ไฟฟ้าลงถึง 15 เปอร์เซ็นต์และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงได้ถึง 14,000 ตันต่อปี

การจัดการพลังงานไฟฟ้าอัจฉริยะช่วยให้การผลิตมีความยืดหยุ่นมากขึ้น ช่วยในบริหารรอบการทำงานให้ได้ประโยชน์สูงสุดและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต นอกเหนือจากนั้น
ยังลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของภาคอุตสาหกรรม พร้อมเพิ่มโอกาสใหม่ ๆ ในการนำพลังงานไฟฟ้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมาปรับใช้อย่างมีประสิทธิภาพ

ปัจจุบันการจัดการพลังงานไฟฟ้าให้มีประสิทธิภาพสูงทำได้ง่ายขึ้น ด้วยการปรับกระบวนการจัดการให้เป็นระบบดิจิทัล (Digitalization) และนำการจัดการพลังงานไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Electrification) มาใช้ ผลที่ตามมาไม่เพียงแต่เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน แต่ยังเพิ่มความยืดหยุ่นในการดำเนินงานและทำให้การใช้ทรัพยากรเกิดประโยชน์สูงสุด

ยิ่งไปกว่านั้น การปรับกระบวนการทำงานเป็นระบบดิจิทัล (Digitalization) ทำให้เราสามารถพัฒนาระบบดิจิทัลทวิน (Digital Twin) สำหรับระบบไฟฟ้าของโรงงานได้
และเมื่อควบรวมกับระบบอัตโนมัติทางอุตสาหกรรม ผู้วางระบบงานสามารถทดสอบการจำลองสถานการณ์การทำงานต่าง ๆ เพื่อหาจุดที่เหมาะสมที่สุดในการวางระบบงาน
เพื่อลดความผิดพลาดและลดต้นทุนในการวางแผนงาน การก่อสร้าง และการบำรุงรักษา

วิกฤติการณ์การแพร่ระบาดทำให้เราต้องพิจารณาอีกครั้งเกี่ยวกับวิธีการดำเนินงานทางธุรกิจของเรา สำหรับอุตสาหกรรม ถึงเวลาแล้วที่จะสร้างรากฐานธุรกิจในอนาคตด้วยการผสมผสานการจัดการพลังงานไฟฟ้าอัจฉริยะเข้ากับแผนงานของกิจการ ผลลัพธ์ที่ได้จะไม่ใช่แค่ตัวเลขทางธุรกิจเท่านั้น แต่ยังเป็นการสร้างอนาคตที่มั่นคงและยั่งยืน ครอบคลุม ตั้งแต่ลูกค้า ชุมชน ประเทศ ไปจนถึงสังคมและสิ่งแวดล้อมในโลกของเราด้วย

แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม:
     ●  Gestamp reference:
     ●  Siemens DEGREE sustainability framework:

Infor ครองตำแหน่งผู้นำด้าน Cloud ERP for Product-Centric Enterprises จากการจัดลำดับของรายงาน Gartner Magic Quadrant

infor

Infor ครองตำแหน่งผู้นำด้าน Cloud ERP for Product-Centric Enterprises จากการจัดลำดับของรายงาน Gartner Magic Quadrant

โดยประเมินจากโซลูชัน CloudSuite ของ Inforที่มีคุณสมบัติเฉพาะสำหรับการใช้งานในอุตสาหกรรมแต่ละประเภท

อินฟอร์ (Infor) บริษัทผู้ให้บริการด้านคลาวด์ที่ออกแบบเฉพาะสำหรับใช้ในอุตสาหกรรมแต่ละประเภท ประกาศว่า Gartner® Inc. ได้จัดให้ Infor เป็นผู้นำด้าน Cloud ERP for Product-Centric Enterprises ในรายงาน Gartner Magic Quadrant™ ประจำปี 2021

การได้รับการจัดให้อยู่ในกลุ่มผู้นำในรายงาน Gartner Magic Quadrant ในครั้งนี้ มาจากการที่ Gartner ประเมินโซลูชันด้าน CloudSuite เฉพาะทางสำหรับอุตสาหกรรมแต่ละประเภท (Industry-specific CloudSuite) ของ Infor ซึ่งประกอบด้วยแพลตฟอร์มในการวางแผนและบริหารจัดการทรัพยากรขององค์กร (Enterprise Resource Planning: ERP) ของ Infor นำขบวนโดย LN (ระบบ ERP ที่ช่วยลดความซับซ้อนและทำให้การผลิตเป็นอัตโนมัติ), M3 (ระบบ ERP ด้านการผลิตและจัดจำหน่าย) และ SyteLine (ระบบ ERP เพื่อวางแผนการผลิตสำหรับการผลิตชิ้นส่วนและการผลิตแบบต่อเนื่อง)

ดาวน์โหลดรายงาน Gartner Magic Quadrant ประจำปี 2021 ด้าน Cloud ERP for Product-Centric Enterprises ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม ได้ที่นี่

นายโซมา โซมาซันดาราม หัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยีและประธานฝ่ายผลิตภัณฑ์ของ Infor กล่าวว่า “เราภูมิใจที่ได้รับการยอมรับให้เป็นผู้นำในรายงาน Gartner Magic Quadrant เราเชื่อว่า Infor สร้างความต่างให้กับผลิตภัณฑ์ของเราในตลาดด้วยโซลูชันด้าน multi-tenant cloud ERP ต่าง ๆ (CloudSuites) ซึ่งสร้างจากแนวคิด API-centricity และ data-centricity อย่างแท้จริง”

นายโซมากล่าวเสริมว่า “โซลูชันเหล่านี้ทำงานอย่างชาญฉลาด มีการกำหนดค่าไว้ล่วงหน้า และทันสมัย ทำให้เราสามารถช่วยลูกค้าให้เติบโตและทรานส์ฟอร์มธุรกิจสู่ดิจิทัล มี time-to-value เร็วขึ้น และสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ได้อย่างต่อเนื่อง ลูกค้าสามารถใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มที่ยืดหยุ่นและปรับขยายได้ของเรา ซึ่งรวมถึงแนวปฏิบัติต่าง ๆ ตามมาตรฐานอุตสาหกรรมที่ติดตั้งมาเบ็ดเสร็จ และการออกแบบที่ช่วยให้ใช้งานง่าย”

Gartner ได้ระบุไว้ในรายงาน Magic Quadrant for Cloud ERP for Product-Centric Enterprises ประจำปี 2021 ว่า “ตลาด ERP for product-centric enterprises กำลังเปลี่ยนเป็นรูปแบบการใช้งานบนคลาวด์อย่างรวดเร็ว ผู้นำด้านแอปพลิเคชัน ERP ควรใช้รายงาน Magic Quadrant นี้เพื่อประเมินชุดแอปพลิเคชันด้าน cloud ERP ให้เป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ ERP ที่รองรับการปรับเปลี่ยนได้”

รายงานของ Gartner ระบุว่า “ภายในปี 2023 องค์กรต่าง ๆ ที่ประสบความสำเร็จในการปรับปรุงแพลตฟอร์ม ERP จะมีความคล่องตัวด้านไอทีเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 40% เพื่อสร้างผลลัพธ์ทางธุรกิจได้ดีขึ้น”

นอกจากนี้ รายงานยังระบุว่า “ภายในปี 2023, 60% ขององค์กรที่ใช้แนวทาง product-centric จะใช้ความสามารถของ ERP ที่เป็นมาตรฐานต่าง ๆ บนแพลตฟอร์ม ERP ที่รองรับการปรับเปลี่ยนได้”

Gartner ยังได้ระบุว่า “ภายในปี 2024, 60% ของแอปพลิเคชัน SaaS ที่ใช้ในระดับองค์กรจะอยู่ในรูปแบบแพ็คเกจที่รวมความสามารถทางธุรกิจที่ให้บริการด้านข้อมูล ข้อมูลจากการวิเคราะห์เชิงลึก และแอปพลิเคชันในการทำงานไว้ด้วยกัน”

Infor CloudSuite เป็นโซลูชันที่ปรับให้เหมาะกับการใช้ในอุตสาหกรรมแต่ละประเภท และให้บริการในลักษณะ cloud services บน Amazon Web Services (AWS) ที่ปลอดภัยและปรับขนาดได้ ทั้งนี้ Infor CloudSuites ใช้ Infor OS ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มทางเทคโนโลยีระดับแนวหน้าของ Infor เพื่อมอบประสบการณ์การใช้งานให้กับผู้ใช้งาน เสริมประสิทธิภาพให้กับการบูรณาและเวิร์กโฟลว์ต่าง ๆ ซึ่งสามารถช่วยเพิ่มผลผลิตและทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

เยี่ยมชมข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://www.infor.com/solutions/erp/industry-erp

เทรนด์ “สุขภาพ-รักษ์โลก” มาแรง ผลสำรวจดีดีพร็อพเพอร์ตี้เผย กว่า 9 ใน 10 สนใจการอยู่อาศัยแบบยั่งยืน

ดีดีพร็อพเพอร์ตี้

เทรนด์ “สุขภาพ-รักษ์โลก” มาแรง ผลสำรวจดีดีพร็อพเพอร์ตี้เผย กว่า 9 ใน 10 สนใจการอยู่อาศัยแบบยั่งยืน

สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ผลักดันให้ทุกชีวิตบนโลกใบนี้ต้องเปลี่ยนรูปแบบวิถีชีวิตใหม่เพื่อรับมือและหาวิธีอยู่ร่วมกับสถานการณ์นี้ให้ได้ โดยเรื่องสุขภาพกลายเป็นปัจจัยหลักที่ทุกคนหันมาตระหนักถึงความสำคัญมากขึ้น รวมทั้งใส่ใจดูแลเรื่องอื่น ๆ อย่างรอบด้านในทุกมิติ ครอบคลุมไปถึงการพิจารณาคุณภาพของปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ ที่มีบทบาทในการใช้ชีวิต รวมไปถึงการเลือกที่อยู่อาศัย จากที่เคยมีบทบาทเป็นปัจจัยสี่ในการดำรงชีวิต ตอนนี้ได้กลายเป็นพื้นที่ส่วนรวมของคนในครอบครัวที่เป็นมากกว่าเพียงแค่การพักผ่อน ส่งผลให้ผู้บริโภคเริ่มมองหาความยั่งยืนที่จะเข้ามายกระดับที่อยู่อาศัยให้ตอบโจทย์การใช้ชีวิตในระยะยาวอย่างมีคุณภาพ

นางกมลภัทร แสวงกิจ ผู้จัดการใหญ่ประจำประเทศไทยของดีดีพร็อพเพอร์ตี้ กล่าวว่า “วิกฤติการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ไม่ได้ส่งผลกระทบในด้านการเติบโตของเศรษฐกิจและธุรกิจเพียงอย่างเดียว ในมุมผู้บริโภคถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินชีวิตไปอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นการปรับพฤติกรรมการเดินทาง การกิน การอยู่ การใช้จ่าย การทำงาน การเรียน หรือการพบแพทย์ ถือเป็นช่วงเวลาที่ท้าทายจากการที่ยังไม่สามารถคาดเดาตอนจบในอนาคตได้ ทุกคนได้ตระหนักถึงความสำคัญของการดูแลสุขภาพไปพร้อม ๆ กับเรื่องสิ่งแวดล้อมที่ส่งสัญญาณให้เห็นชัดขึ้นจากสถานการณ์ภัยพิบัติต่าง ๆ ทั่วโลก

การพัฒนาอย่างยั่งยืนจึงเป็นคำตอบในการใช้ชีวิตของผู้บริโภคยุคนี้ ทุกคนหันมาตระหนักถึงผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ทำให้แนวคิดเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) เข้ามามีอิทธิพลในการดำเนินชีวิต และชัดเจนขึ้นจากการปรับตัวของภาคธุรกิจต่าง ๆ เพื่อรับเทรนด์นี้ จากผลสำรวจ Global Consumer Insights Pulse Survey ของ PwC เผยว่า 76% ของผู้บริโภคชาวไทยต้องการซื้อสินค้าที่มีบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมหรือใช้บรรจุภัณฑ์น้อยที่สุด ขณะที่ 78% เลือกซื้อเฉพาะผลิตภัณฑ์จากบริษัทที่มีจิตสำนึกและสนับสนุนการปกป้องสิ่งแวดล้อมเท่านั้น เห็นได้ชัดถึงแนวโน้มการเติบโตของแนวคิดรักษ์โลกที่มีอิทธิพลชัดเจนยิ่งขึ้นในทุกธุรกิจ

ในขณะที่ความต้องการที่อยู่อาศัยก็มีทิศทางการเติบโตในเทรนด์นี้เช่นกัน ผลสำรวจ DDproperty’s Thailand Consumer Sentiment Study รอบล่าสุดเผยว่า ผู้บริโภคกว่า 9 ใน 10 (93%) ให้ความสำคัญกับการอยู่อาศัยแบบยั่งยืน ที่จะช่วยผสมผสานไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตเข้ากับบ้านที่เป็นสถานที่พักผ่อนได้อย่างลงตัว ที่อยู่อาศัยในอุดมคติจึงต้องมาพร้อมกับการออกแบบภายใต้แนวคิดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อสร้างความยั่งยืนในการอยู่อาศัยในระยะยาว ผู้พัฒนาอสังหาฯ จึงต้องหันมาให้ความสำคัญกับการออกแบบฟังก์ชั่นที่อยู่อาศัยทั้งในส่วนพื้นที่พักอาศัยและพื้นที่ส่วนกลางภายใต้แนวคิดการใช้ชีวิตที่ยั่งยืนและรักษาสิ่งแวดล้อม เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค และสร้างจุดต่างในการดึงดูดผู้บริโภคมากกว่าการแข่งขันสงครามราคาที่อาจจะดูฉาบฉวยในสายตาผู้ซื้อตอนนี้”

ความยั่งยืน” คำตอบของคนหาบ้านยุคใหม่

ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ (DDproperty) เว็บไซต์มาร์เก็ตเพลสด้านอสังหาริมทรัพย์อันดับ 1 ของไทย เผยผลสำรวจความคิดเห็นของผู้บริโภคที่มีต่อตลาดที่อยู่อาศัย DDproperty’s Thailand Consumer Sentiment Study รอบล่าสุด อัปเดตเทรนด์ที่อยู่อาศัยในอุดมคติของผู้บริโภคในยุค Next Normal เพื่อยกระดับการใช้ชีวิตอย่างราบรื่นและยั่งยืนในระยะยาว

    ●  เทรนด์รักษ์โลกส่งเสริมการใช้ชีวิตประหยัดพลังงาน การ Work from Home ทำให้บ้านกลายมาเป็นสถานที่ทำงาน/เรียนออนไลน์ หรือแม้แต่พื้นที่ออกกำลังกายดูแลสุขภาพ กิจกรรมเหล่านี้ทำให้เกิดการใช้ไฟฟ้ามากขึ้นและกลายเป็นค่าไฟที่ต้องจ่ายเพิ่มขึ้นเช่นกัน ทำให้ผู้บริโภคหันมาเลือกที่อยู่อาศัยที่มาพร้อมฟังก์ชั่นการใช้งานภายใต้แนวคิดรักษ์โลกที่ช่วยประหยัดการใช้พลังงาน โดยมากกว่าครึ่ง (62%) ต้องการบ้าน/คอนโดฯ ที่มีระบบหลังคาโซล่าเซลล์ (Solar Rooftop) เพื่อสร้างพลังงานทางเลือกทดแทนการใช้ไฟฟ้า นอกจากนี้ ผู้บริโภคยังให้ความสำคัญกับบ้าน/คอนโดฯ ที่มาพร้อมระบบระบายความร้อน (58%) และฟังก์ชั่นดูดซับมลพิษภายในบ้าน (48%) เพื่อช่วยให้การใช้ชีวิตภายในบ้านมีความสะดวกสบายและมั่นใจยิ่งขึ้น เมื่อต้องรับมือปัญหาภาวะโลกร้อนที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอยู่เรื่อย ๆ

    ●  นวัตกรรมมีบทบาทสำคัญในการดูแลสุขภาพ การที่ผู้บริโภคหันมาตระหนักถึงความสำคัญในการดูแลสุขภาพมากขึ้น ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงด้านพฤติกรรมที่ชัดเจนที่สุดหลังเผชิญวิกฤติการแพร่ระบาดฯ ทำให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรรมมาช่วยยกระดับการดูแลสุขภาพให้ง่ายขึ้นแม้ในช่วงที่ยังต้องเว้นระยะห่างทางสังคม ผ่านบริการดูแลสุขภาพแบบออนไลน์ รวมไปถึงการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) ที่ช่วยให้เข้าถึงการตรวจรักษาและรับการวินิจฉัยจากแพทย์ได้โดยตรง ในตลาดที่อยู่อาศัย นอกจากผู้พัฒนาอสังหาฯ จะหันมาจับมือโรงพยาบาลหรือศูนย์บริการสุขภาพเพื่อเพิ่มบริการดูแลสุขภาพหรือบริการทางการแพทย์ไว้ในโครงการฯ แล้ว นวัตกรรมที่เลือกใช้ในการก่อสร้างโดยตรงก็เป็นปัจจัยที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญเช่นกัน มากกว่าครึ่งนึงของผู้บริโภค (60%) มองว่า บ้าน/คอนโดฯ ที่ถูกออกแบบให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและสุขภาพเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการเลือกที่อยู่อาศัย ไม่ว่าจะเป็นนวัตกรรมการก่อสร้างที่ช่วยให้บ้านเย็นขึ้นและสะท้อนความร้อนภายนอก บ้านที่มีระบบสร้างอากาศบริสุทธิ์ ป้องกันฝุ่น PM 2.5 หรือบ้านปลอดไวรัส ก็ล้วนมีผลต่อการเลือกซื้อบ้าน/คอนโดฯ ที่ตอบโจทย์ผู้อยู่อาศัยไม่น้อย

    ●  พื้นที่ใช้สอยต้องพร้อมรองรับ Work from Home ระยะยาว แม้การทำงานที่บ้านจะไม่ใช่เรื่องใหม่และอาจกลายเป็นวิถีชีวิตที่ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องแม้การแพร่ระบาดฯ จะหมดไป แต่การลงทุนสร้างห้องทำงานไว้ที่บ้านอาจไม่ใช่เรื่องจำเป็นของทุกคน ดังนั้น พื้นที่ใช้สอยในบ้าน/คอนโดฯ จึงต้องสามารถปรับเปลี่ยนให้รองรับการ Work from Home และอำนวยความสะดวกให้สามารถทำงานออนไลน์ได้อย่างราบรื่นเช่นกัน ผู้บริโภคส่วนใหญ่ให้ความสำคัญในเรื่องการจัดแต่งสภาพแวดล้อมให้เหมาะกับการทำงาน ซึ่งจะส่งผลดีและช่วยให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเน้นไปที่สภาพแวดล้อมที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก (65%) ตามมาด้วยการมีระบบถ่ายเทความร้อนและประหยัดพลังงานภายในห้อง (49%) และมีสัญญาณอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงรองรับการทำงานที่ลื่นไหล (48%) ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ไม่ได้จำกัดเพียงการทำงานที่บ้านเท่านั้น แต่ยังอำนวยความสะดวกให้คนในครอบครัวสามารถใช้ชีวิตตามไลฟ์สไตล์ได้อย่างราบรื่นอีกด้วย

    ●  รถยนต์ไฟฟ้า พลิกโฉมการเดินทางยุคใหม่ การเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้าและขยายสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าอย่างต่อเนื่องทำให้ผู้บริโภคตื่นตัวและหันมาพิจารณาข้อดีของรถยนต์ไฟฟ้ากันมากขึ้น เพราะนอกจากจะช่วยลดการเกิดมลพิษแล้ว ยังประหยัดค่าใช้จ่ายเมื่อเทียบกับรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์แบบสันดาป ข้อมูลจากศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS เผยว่า ยอดใช้ยานยนต์ไฟฟ้าสะสมในไทยมีโอกาสแตะ 1 ล้านคันได้ในปี 2028 หรือขยายตัวเฉลี่ยปีละ 7% จากแรงผลักดันของยานยนต์ไฟฟ้าไฮบริดเป็นสำคัญ นอกจากนั้น รถยนต์ไฟฟ้ายังถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการตัดสินใจก่อนเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยอีกด้วย จากผลสำรวจ DDproperty’s Thailand Consumer Sentiment Study เผยว่า ผู้บริโภคเกือบ 2 ใน 3 (64%) มองว่า การมาของรถยนต์ไฟฟ้ามีอิทธิพลในการเปลี่ยนแผนการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยในอนาคต โดยผู้บริโภคจะให้ความสนใจพิจารณาบ้าน/คอนโดฯ ที่รองรับการติดตั้งที่ชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า หรือมีสถานีชาร์จให้บริการในพื้นที่ส่วนกลาง เพื่อรองรับการวางแผนเป็นเจ้าของรถยนต์ไฟฟ้าในอนาคต

แม้ผลกระทบจากภาพรวมเศรษฐกิจจะยังไม่สามารถฟื้นตัวได้เร็ว ๆ นี้ แต่ความท้าทายจากการใช้ชีวิตในสถานการณ์ปัจจุบันได้กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ผลักดันให้ผู้บริโภคเกิดการเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ และเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้รวดเร็วขึ้น การก้าวข้ามไปสู่ประสบการณ์ใหม่หลังรับมือวิกฤติในครั้งนี้ถือเป็นบททดสอบที่ทำให้ผู้บริโภคได้มองย้อนกลับไปทบทวนความต้องการและเป้าหมายในการใช้ชีวิต มองเห็นความสำคัญของการดำเนินชีวิตที่เชื่อมโยงเข้ากับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น การให้ความสำคัญกับแนวคิดเศรษฐกิจสีเขียวและความยั่งยืนในการใช้ชีวิตจึงถือเป็นเทรนด์ที่ภาคธุรกิจไม่ควรมองข้าม อย่างไรก็ตาม แม้การแพร่ระบาดฯ จะหมดไปในอนาคต แต่ความสำคัญด้านสุขภาพและความยั่งยืนในการดำเนินชีวิตจะเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ผู้บริโภคยังคงมองหาจากผู้ประกอบการ และช่วยกระตุ้นให้ทุกคนหันมาตระหนักถึงบทบาทที่ควรรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

ใช้ไฮบริดคลาวด์เพื่อความคล่องตัว และความได้เปรียบทางเศรษฐกิจ

ใช้ไฮบริดคลาวด์เพื่อความคล่องตัว และความได้เปรียบทางเศรษฐกิจ

ไฮบริดคลาวด์_ทวิพงษ์
บทความโดยนายทวิพงศ์ อโนทัยสินทวี ผู้จัดการประจำประเทศไทย นูทานิคซ์

แมคคินซีย์ บริษัทที่ปรึกษาด้านการบริหารองค์กรชั้นนำระดับโลก ระบุว่า ภายในปี พ.ศ. 2583 เศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะมีขนาดใหญ่คิดเป็นครึ่งหนึ่งของเศรษฐกิจโลก ภูมิภาคนี้มีความแข็งแกร่งหลายประการ ตั้งแต่การเป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีระดับโลก ไปจนถึงผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง การพัฒนาและการขยายตัวของเมือง ประชากร และกลุ่มคนวัยทำงานจึงเป็นภูมิภาคที่มีศักยภาพต่อการเติบโตของบริษัทต่าง ๆ เป็นอย่างดี

ภูมิภาคต่าง ๆ ในโลกมีความแตกต่างกันค่อนข้างมาก มีภาษาพูดหลายพันภาษา มีรูปแบบการปกครองที่หลากหลาย และมีแนวทางด้านเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน ประเทศเหล่านี้อยู่ท่ามกลางความพร้อมของตลาดที่เติบโตเต็มที่ ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเป็นภูมิภาคที่ธุรกิจมีโอกาสขยายตัวและทำกำไรได้อย่างแน่นอน แต่ความซับซ้อนต่าง ๆ ที่มีอยู่อาจทำให้โอกาสเหล่านี้ไม่ราบรื่นนัก

ความท้าทายสำคัญอย่างหนึ่งที่บริษัทจำนวนมากเผชิญในปีที่ผ่านมาคือ การเปลี่ยนไปใช้ดิจิทัลและการตัดสินใจด้านเทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อให้ธุรกิจสามารถดำเนินต่อไปได้ การระบาดของโควิด-19 ผลักดันให้ธุรกิจจำนวนมากต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองแบบก้าวกระโดด บ่อยครั้งหลายปีล่วงหน้าไปกว่าแผนการที่มีอยู่ และอาจเป็นไปได้ว่าโซลูชันคลาวด์จะเป็นทางเลือกที่ชัดเจน ธุรกิจที่ต้องทำการเปลี่ยนตัวเองอย่างรวดเร็วนี้ต้องพึ่งพาพับลิคคลาวด์อย่างมาก เพื่อทำให้พนักงานทำงานจากระยะไกลได้ และเป็นการแก้ปัญหาการขาดแคลนทักษะที่จำเป็นต่าง ๆ หรือเพื่อให้ปรับขนาดการทำงานได้ตามต้องการ

อย่างไรก็ตาม ถึงเวลาแล้วที่ผู้นำทางธุรกิจทั้งหลายควรหยุดคิดและทบทวนกลยุทธ์ด้านคลาวด์คอมพิวติ้งขององค์กร เพื่อให้มั่นใจและแสดงให้เห็นว่าองค์กรได้มีการพิจารณาทุกสิ่งทุกอย่างอย่างเหมาะสมเพื่อตอบโจทย์ความต้องการด้านกฎระเบียบของแต่ละประเทศที่พวกเขาทำธุรกิจอยู่หรือต้องการเข้าไปทำธุรกิจ และภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะเป็นบททดสอบการดำเนินการที่มีความท้าทายสูงให้กับองค์กรเหล่านี้

เมื่อปี พ.ศ. 2563 สหประชาชาติได้ตรวจสอบว่ามีภูมิภาคและประเทศใดบ้างที่มีการใช้มาตรการปกป้องข้อมูลและความเป็นส่วนตัวให้กับพลเมืองของตน และพบว่ามีเพียง 57 เปอร์เซ็นต์ของประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่มีกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลและคุ้มครองความเป็นส่วนตัวบังคับใช้เทียบกับ 69 เปอร์เซ็นต์ของประเทศในทวีปอเมริกาและ 96 เปอร์เซ็นต์ในทวีปยุโรปที่มีกฎหมายดังกล่าวบังคับใช้ ทำไมเรื่องนี้จึงเป็นความท้าทาย?

ในขณะที่สหภาพยุโรปมีการใช้กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่ประเทศสมาชิกทั้งหมดต้องปฏิบัติตามเหมือนกัน แต่ในเอเชียแปซิฟิกไม่มีกรอบการกำกับดูแลที่ใช้ร่วมกันทั้งภูมิภาค นอกจากนี้จำนวนประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกยังมีมากกว่าในทวีปอเมริกาเกือบสองเท่า นี่อาจเป็นความท้าทายสำคัญในการจัดการข้อมูลและการใช้โซลูชันทางเทคโนโลยสำหรับธุรกิจต่าง ๆ ที่จำเป็นต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบ 

ดังนั้นดูเหมือนว่าสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจนระหว่างประเทศต่าง ๆ ที่ใช้พับลิคคลาวด์ในปัจจุบัน คือการเพิ่มขึ้นของความท้าทายในการพัฒนาที่จะส่งผลสำคัญต่อองค์ประกอบทุกรูปแบบที่แตกต่างกัน ไม่มีวิธีการใดเพียงหนึ่งเดียวที่จะเหมาะกับทุกสถานการณ์และทุกสภาพแวดล้อม หรือเพียงวิธีเดียวที่ธุรกิจจะใช้ปรับตัวเพื่อดำเนินธุรกิจภายในภูมิภาคนี้ได้อย่างง่าย ๆ

ธุรกิจใดที่ตัดสินใจใช้ไพรเวทคลาวด์เพื่อเก็บข้อมูลและทรัพย์สินขององค์กร และปกป้องข้อมูลนั้นไว้ภายในสภาพแวดล้อมขององค์กรเอง เพื่อหลีกเลี่ยงข้อจำกัดด้านกฎระเบียบต่าง ๆ องค์กรนั้นอาจประสบกับอีกปัญหานั่นคือ การใช้ทรัพยากร แม้ว่าเครื่องมือที่ใช้ในการติดตามตรวจสอบและบริหารจัดการไพรเวทคลาวด์มีประสิทธิภาพค่อนข้างดี แต่การสรรหาพนักงานที่มีทักษะที่จำเป็นต้องใช้ในการคงประสิทธิภาพการทำงาน การบำรุงรักษา และใช้งานไพรเวทคลาวด์ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย และอาจทำให้การพัฒนาล่าช้า ปัญหานี้แก้ไขไม่ได้ง่ายในปัจจุบันโดยเฉพาะในประเทศที่มีการใช้คลาวด์อย่างจำกัด และในภาวะการระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้ผู้เชี่ยวชาญทางเทคนิคที่ต้องใช้ถูกจำกัดด้านการเดินทาง

ไฮบริดคลาวด์ คือโอกาสในวิกฤติ ไฮบริดคลาวด์ทำหน้าที่เป็นทางเชื่อมระหว่างพับลิคและไพรเวทคลาวด์ขององค์กรนั้นๆ องค์กรสามารถเลือกได้ว่าจะเก็บข้อมูลไว้บนไพรเวทคลาวด์ของตนโดยไม่ต้องกังวลเรื่องการปฏิบัติตามกฎระเบียบ ในขณะที่เลือกใช้พับลิคคลาวด์เพื่อเร่งความเร็วในการใช้งานและปรับขยายขนาดการทำงานมากน้อยได้ตามความจำเป็น และนี่คือการเชื่อมต่อคลาวด์สองระบบให้ทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด

การลดความซับซ้อนในการเชื่อมต่อระหว่างระบบต่าง ๆ บนไพรเวทและพับลิคคลาวด์ และการบริหารจัดการคลาวด์ทั้งสองประเภทด้วยระบบจัดการหนึ่งเดียว ทำให้สภาพแวดล้อมไฮบริดคลาวด์ไม่มีความซับซ้อน ซึ่งจะช่วยให้ธุรกิจสามารถควบคุมสภาพแวดล้อมในการทำงานขององค์กรได้ทั้งหมด องค์กรสามารถเคลื่อนย้ายแอปพลิเคชันไปทำงานบนคลาวด์ที่ต้องการได้อย่างราบรื่น ทั้งยังสามารถจัดเก็บและบริหารจัดการข้อมูลบนระบบที่ต้องการและในเวลาที่ต้องการ เพื่อให้สอดคล้องตามกฎระเบียบต่าง ๆ ณ เวลานั้นได้ นอกจากนี้ยังคงความคล่องตัว และเปิดการใช้งานต่าง ๆ ได้ในกรอบเวลาที่เร็วขึ้นมาก

แม้ว่าการระบาดของโควิด-19 ยังคงดำเนินต่อไป แต่เมื่อมีการฉีดวัคซีนทั่วโลก และการผ่อนคลายข้อจำกัดด้านการเดินทาง ธุรกิจจะยังคงลงทุนในการทำงานแบบผสมผสานมากขึ้น โดยสามารถทำงานจากที่ใดก็ได้ ผลสำรวจดัชนีการใช้คลาวด์ระดับองค์กรล่าสุดของนูทานิคซ์ระบุว่า จากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 องค์กรที่ตอบแบบสำรวจจัดลำดับความสำคัญด้านไอทีในอีก 12 ถึง 18 เดือนข้างหน้า โดยให้ความสำคัญกับการปรับปรุงประสิทธิภาพโครงสร้างพื้นฐานไอที (50 เปอร์เซ็นต์) และความสามารถในการทำงานจากที่บ้าน (47 เปอร์เซ็นต์)

เมื่อมองจากมุมด้านกฎระเบียบ จะมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอีกมาก ประเทศต่าง ๆ เช่น อินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ กำลังส่งเสริมการปกป้องความเป็นส่วนตัวของข้อมูลผ่านการออกกฎหมายต่าง ๆ 

ในมุมมองทางธุรกิจอาจกล่าวได้ว่าขณะนี้คือช่วงเวลาเหมาะสมที่จะพิจารณาโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีที่จะช่วยให้ธุรกิจขององค์กรมีความได้เปรียบทางเศรษฐกิจ ซึ่งไฮบริดคลาวด์สามารถสร้างความได้เปรียบสำคัญเหล่านี้ให้ธุรกิจได้ และผู้มีอำนาจตัดสินใจทางธุรกิจจะมีความสามารถในการพิจารณาวางเวิร์กโหลดต่าง ๆ และข้อมูลที่มีความละเอียดอ่อนสูงไว้บนสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมที่สุด ซึ่งจะช่วยขจัดความกังวลเกี่ยวกับการปฏิบัติตามกฎระเบียบได้

“หนี้บ้าน” มรดกที่ควรได้หรือภาระที่ต้องจ่าย

DDProperty

“หนี้บ้าน” มรดกที่ควรได้หรือภาระที่ต้องจ่าย

การกู้ซื้อที่อยู่อาศัยถือเป็นการกู้ที่มีวงเงินสูง และมีระยะเวลาผ่อนชำระสินเชื่อที่ยาวนาน ธนาคารจึงมีหลักเกณฑ์พิจารณาที่เข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อจากความสามารถของผู้ขอสินเชื่อ และหลักทรัพย์ที่นำมาเป็นหลักประกัน นอกจากนี้เพื่อกระจายความเสี่ยงในการค้างชำระหนี้ ธนาคารจะมีการนำเสนอประกันต่าง ๆ ที่มีความคุ้มครองในหลายรูปแบบเพื่อให้ผู้กู้ได้พิจารณาผลประโยชน์ที่ได้รับ ช่วยลดปัญหาการเกิดภาระหนี้จากเหตุสุดวิสัย รวมทั้งแนะนำประกันที่ช่วยลดความเสี่ยงในการผลักภาระการผ่อนชำระนี้ให้เป็นมรดกหนี้ก้อนโตตกทอดไปสู่ทายาทของผู้กู้แบบไม่ได้ตั้งใจ หากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดกับผู้กู้อีกด้วย ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงให้กับธนาคารจากการไม่ได้รับชำระหนี้ด้วยเช่นกัน

อสังหาริมทรัพย์ถือเป็นทรัพย์ที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในมุมมองผู้บริโภคจึงถือเป็นมรดกชิ้นสำคัญที่พ่อแม่จะส่งมอบให้กับบุตรหลานในอนาคต ข้อมูลจากผลสำรวจ DDproperty’s Thailand Consumer Sentiment Study รอบล่าสุด พบว่า แผนการซื้อที่อยู่อาศัยของกลุ่มมิลเลนเนียลชาวไทยซึ่งอยู่ในวัยทำงาน เกือบครึ่งนึง (49%) ยังต้องการอยู่บ้านเดิมเพื่อดูแลพ่อแม่อย่างใกล้ชิด ตามมาด้วย ยังไม่มีเงินออมเพียงพอสำหรับเช่าหรือซื้อบ้านเป็นของตนเองถึง 43% ในขณะที่อีก 22% มีความตั้งใจจะรับช่วงต่อบ้านหลังเดิมจากพ่อแม่อยู่แล้ว สะท้อนให้เห็นว่าการซื้อบ้านใหม่อาจจะยังไม่ใช่สิ่งจำเป็นมากนักเมื่อประเมินจากสภาพคล่องทางการเงินของผู้บริโภคในเวลานี้ นอกจากนี้ การรับมรดกที่อยู่อาศัยต่อจากพ่อแม่หรือผู้ปกครองก็เป็นความหวังในการมีบ้านเป็นของตัวเองที่หลายคนรอคอยเช่นกัน  

DDproperty

โดยทั่วไปแล้วผู้บริโภคส่วนใหญ่มักมีภาระในการผ่อนชำระสินเชื่ออื่น ๆ ไปพร้อมกับสินเชื่อที่อยู่อาศัย ทำให้เมื่อประเมินภาระหนี้แล้ว จำเป็นต้องกู้ร่วมกับคู่รักหรือญาติพี่น้องเพื่อให้ได้สินเชื่อบ้านตามวงเกินที่ต้องการ อย่างไรก็ดี ผู้บริโภคต้องไม่ลืมที่จะวางแผนสำรองเพื่อเตรียมรับมือเมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดในระยะยาวด้วย อาทิ ผู้กู้ร่วมอาจประสบปัญหาทางการเงินหรือตกงาน การเลิกรา/หย่าร้างของผู้กู้ร่วมในกรณีที่เป็นคู่รัก หรือการเสียชีวิตของตัวผู้กู้เอง หรือผู้กู้ร่วม ซึ่งล้วนมีผลต่อการผ่อนชำระหนี้โดยตรง อาจทำให้ต้องแบกรับภาระหนี้บ้านเพียงลำพังที่หนักเกินไป นอกจากนี้ยังอาจส่งผลให้เกิดปัญหาด้านกรรมสิทธิ์ของบ้าน/คอนโดฯ ที่เป็นเจ้าของร่วมกันตามมาได้ในภายหลัง

ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ (DDproperty) เว็บไซต์มาร์เก็ตเพลสด้านอสังหาริมทรัพย์อันดับ 1 ของไทย ชวนผู้บริโภคมาทำความเข้าใจเรื่องกรรมสิทธิ์ที่ควรรู้เมื่อคิดกู้ซื้อที่อยู่อาศัย พร้อมทำความเข้าใจบทบาทของสินเชื่ออสังหาฯ ว่าจะกลายเป็นมรดกตกทอดไปสู่ทายาทได้หรือไม่ หากผู้กู้เสียชีวิตระหว่างผ่อนชำระและไม่มีการทำพินัยกรรมไว้ก่อน

เมื่อผู้กู้จากไป กรรมสิทธิ์ “ที่อยู่อาศัย” ถือเป็นมรดกหรือไม่?

ปกติแล้วเมื่อผู้กู้ผ่อนชำระสินเชื่อบ้านครบเรียบร้อยแล้วกรรมสิทธิ์จะเป็นของผู้กู้โดยตรง หากในกรณีการกู้ร่วม ผู้กู้ร่วมจะต้องตกลงกันว่าจะให้ใครถือกรรมสิทธิ์อสังหาริมทรัพย์ หรือจะถือกรรมสิทธิ์ร่วมกัน หรือจะระบุเจาะจงลงไปในสัญญาว่าเมื่อผ่อนชำระเรียบร้อยแล้วจะมอบกรรมสิทธิ์ให้ผู้ใด

แต่หากในระยะเวลาที่ผ่อนชำระเกิดเหตุไม่คาดคิดที่ทำให้ผู้กู้เสียชีวิตไปก่อน ในทางกฎหมายถือว่าอสังหาริมทรัพย์นั้นเป็นทรัพย์สินของผู้ซื้อตามกฎหมาย ทรัพย์สินดังกล่าวจะกลายเป็นมรดกตกทอดไปสู่ทายาทโดยธรรมตามลำดับ

หรือหากผู้ซื้อทำพินัยกรรมไว้ ทายาทตามพินัยกรรมก็จะถือเป็นคนแรกที่ได้รับผลประโยชน์ ซึ่งมรดกที่ทายาทจะได้รับนั้นรวมไปถึงสิทธิหน้าที่และความรับผิดต่าง ๆ ของผู้ซื้อที่เสียชีวิตไปแล้วด้วย ซึ่งหมายรวมถึงทรัพย์สินที่มีและหนี้สินที่ยังต้องผ่อนชำระที่จะตกทอดมาสู่ผู้รับมรดกให้ต้องรับผิดชอบภาระทั้งหมดนั้นด้วยเช่นกัน ยกเว้นในกรณีที่เจ้ามรดกมีหนี้สินมากกว่าทรัพย์มรดก หรือมีแต่หนี้สิน ไม่มีการส่งมอบทรัพย์สินใด ๆ ให้แก่ทายาทเลย ทายาทจะไม่ต้องรับผิดชอบชำระหนี้สินเกินกว่ามรดกที่ตนได้รับ

สัญญากู้บ้านยังมีผลหรือไม่ หากผู้กู้ร่วมเสียชีวิตไปก่อน

การเสียชีวิตของผู้กู้ร่วมไม่กระทบต่อสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่ยังอยู่ในระหว่างสัญญา โดยสัญญากู้เงินที่ทำกับธนาคารนั้นไม่ได้ระงับไปด้วย และสถานะของผู้กู้ร่วมแต่ละฝ่ายยังคงอยู่ในสภาพเดิมเหมือนก่อนเสียชีวิต แต่จะมีการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดของสินเชื่อบ้าน เมื่อมีผู้ที่เกี่ยวข้องแจ้งให้ธนาคารทราบว่าผู้กู้ร่วมเสียชีวิต เมื่อนั้นธนาคารจะเรียกให้ทายาทหรือผู้จัดการมรดกของผู้เสียชีวิตเข้ามาลงชื่อเพื่อแสดงเจตนาที่จะรับสภาพหนี้ภายใน 1 ปี และจะมีผลผูกพันทำให้ทายาทที่รับสภาพหนี้เข้ามาอยู่ในฐานะลูกหนี้ของธนาคารแทนที่ผู้กู้ร่วมที่เสียชีวิต โดยทายาทที่จะสามารถรับสภาพหนี้ได้นั้นจะต้องเป็นผู้บรรลุนิติภาวะแล้วเท่านั้น

ในส่วนกรรมสิทธิ์อสังหาริมทรัพย์จะมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น จากเดิมที่กรรมสิทธิ์ในบ้านเป็นของผู้กู้ร่วมแต่ละฝ่ายคนละครึ่ง แต่เมื่อผู้กู้ร่วมฝ่ายหนึ่งเสียชีวิตจะส่งผลให้กรรมสิทธิ์ครึ่งหนึ่งตกทอดไปสู่ทายาท ซึ่งอาจต้องมีการตกลงกันใหม่ว่าทายาทของผู้เสียชีวิตนั้นมีความพร้อมและยินยอมที่จะผ่อนชำระต่อหรือไม่

นอกจากนี้ ผู้กู้ร่วมยังสามารถหาผู้กู้ร่วมรายใหม่มาช่วยผ่อนสินเชื่อบ้านต่อได้ ภายใต้เงื่อนไขที่ว่าผู้กู้ร่วมใหม่จะต้องมีความสัมพันธ์ในเชิงเครือญาติกัน โดยต้องแจ้งความต้องการเปลี่ยนผู้กู้ร่วมใหม่แก่ธนาคารเพื่อให้ประเมินความสามารถในการชำระหนี้ของผู้กู้ร่วมรายใหม่ต่อไป หรือในกรณีที่ผู้กู้ร่วมอีกฝ่ายมีความสามารถที่จะผ่อนชำระสินเชื่อในส่วนของตนเองและส่วนของผู้กู้ร่วมที่เสียชีวิตไปด้วย ก็สามารถเลือกผ่อนชำระต่อไปได้เลยโดยไม่จำเป็นต้องติดต่อทางธนาคาร แต่จะมีประเด็นที่น่ากังวลในเรื่องกรรมสิทธิ์อสังหาฯ ที่อีกครึ่งหนึ่งยังคงตกทอดสู่ทายาทของผู้กู้ร่วมฝ่ายที่เสียชีวิตเช่นเดิม

ได้รับ “มรดกหนี้บ้าน” แบบไม่ทันตั้งตัว ควรรับมืออย่างไร

อย่างไรก็ตาม ในทางกฎหมายแล้วสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่อยู่ระหว่างผ่อนชำระของผู้กู้ที่เสียชีวิตนั้นถือเป็นกรรมสิทธิ์ที่ตกทอดมายังทายาทโดยธรรมและทายาทตามพินัยกรรม ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ (DDproperty) ขอแนะนำแนวทางรับมือเมื่อผู้บริโภคต้องกลายเป็นทายาทที่ได้รับมรดกหนี้บ้านแบบไม่ทันตัว เพื่อช่วยให้ค้นหาวิธีจัดการที่เหมาะสมกับสถานการณ์ของแต่ละคนและแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด

ทายาทมีสิทธิเลือกปฏิเสธ หากไม่พร้อมและไม่มีความจำเป็น เมื่อทราบว่าผู้กู้ได้เสียชีวิตลงและมีภาระในการชำระสินเชื่ออสังหาฯ ค้างอยู่ ในเบื้องต้นบรรดาทายาทจะต้องทำการประเมินความพร้อมทางด้านการเงินของตนเป็นอันดับแรก ก่อนที่จะประเมินระดับความจำเป็นว่าการมีบ้าน/คอนโดฯ เพื่ออยู่อาศัยหรือเก็บไว้ลงทุนเพิ่มขึ้นนั้น มีความคุ้มค่าเพียงพอกับการต้องรับภาระหนี้ระยะยาวเหล่านี้หรือไม่ เนื่องจากทายาทมีสิทธิที่จะปฏิเสธไม่รับทรัพย์สินที่จะตกทอดเป็นมรดกจากผู้เสียชีวิตได้เช่นกัน โดยสถาบันการเงิน/ธนาคารผู้ปล่อยกู้ในฐานะเจ้าหนี้โดยตรงจะดำเนินการยึดทรัพย์สินนั้น ๆ ของผู้เสียชีวิตเพื่อนำไปขายทอดตลาดและนำเงินที่ได้จากการขายมาชำระหนี้บ้านต่อไป ซึ่งหากจำนวนเงินเพียงพอที่จะชำระหนี้ที่ค้างอยู่ได้หมด ทายาทก็ไม่ต้องรับภาระหนี้ใด ๆ ต่อจากผู้เสียชีวิตเลย อย่างไรก็ตาม การที่ธนาคารนำทรัพย์สินไปขายทอดตลาดส่วนใหญ่นั้นมักได้ราคาที่ต่ำกว่ายอดหนี้ จึงอาจส่งผลให้ทายาทยังคงต้องรับภาระหนี้ที่เหลือบางส่วนต่อไปอย่างเลี่ยงไม่ได้

เช็กสภาพคล่องทางการเงินให้มั่นใจ ก่อนยินยอมรับทรัพย์สิน ในกรณีที่ทายาทได้พิจารณาและประเมินความคุ้มค่าเปรียบเทียบระหว่างกรรมสิทธิ์จากทรัพย์สินมรดกที่ได้และหนี้สินที่ต้องรับภาระต่อแล้ว สามารถแจ้งความจำนงขอรับทรัพย์สินของผู้เสียชีวิตได้เช่นกัน โดยต้องไม่ลืมที่จะประเมินสภาพคล่องทางการเงินและวางแผนความมั่นคงทางการเงินในอนาคตให้พร้อมด้วย เพราะนอกจากความยินยอมรับมรดกหนี้ตามกฎหมายแล้วทายาทยังต้องมีความพร้อมในการผ่อนชำระต่อด้วย เนื่องจากสินเชื่ออสังหาฯ เป็นสินเชื่อที่มีระยะเวลาผ่อนชำระค่อนข้างนาน ทายาทผู้รับมรดกบ้านต่อจึงจำเป็นต้องได้รับการประเมินสภาพหนี้ใหม่โดยสถาบันการเงิน/ธนาคาร เช่นเดียวกับการยื่นกู้ใหม่ โดยจะประเมินจากจำนวนหนี้ที่เหลือและความสามารถในการผ่อนชำระของทายาท หากทายาทมีความสามารถผ่อนต่อได้หรือกู้ผ่าน ก็สามารถรับหน้าที่ผ่อนต่อไปจนหมด แต่หากทายาทไม่มีความสามารถในการชำระหนี้ต่อหรือกู้ไม่ผ่าน จะทำให้แนวทางการชำระหนี้อสังหาฯ มีรูปแบบเหมือนกับกรณีที่ทายาทปฏิเสธไม่รับทรัพย์สิน ซึ่งสถาบันการเงิน/ธนาคารจะทำการยึดทรัพย์สินเพื่อขายทอดตลาด และนำเงินที่ได้จากการขายมาชำระหนี้บ้านที่เหลือต่อไป

การจากไปของคนในครอบครัวถือเป็นเรื่องที่ไม่คาดคิดและไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น เมื่อไม่สามารถเลี่ยงได้ การวางแผนเตรียมความพร้อมจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรมองข้ามเช่นกัน นอกเหนือจากประกันอัคคีภัยที่ผู้กู้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยจำเป็นต้องทำไว้แล้ว ยังมี “ประกันชีวิตเพื่อคุ้มครองทรัพย์สิน หรือ ประกัน MRTA” ที่ถือเป็นอีกทางเลือกในการป้องกันความเสี่ยงในกรณีที่ผู้กู้เสียชีวิตหรือทุพพลภาพ โดยสถาบันการเงิน/ธนาคารที่เป็นเจ้าหนี้จะได้รับการชำระเงินกู้ต่อจากบริษัทที่รับทำประกันแทนผู้กู้จนครบสัญญา นอกจากจะมีประโยชน์ในมุมที่ไม่ก่อให้เกิดการผลักภาระหนี้ไปยังลูกหลานโดยไม่ได้ตั้งใจแล้ว ทายาทของผู้กู้ยังจะได้รับอสังหาฯ นั้นเป็นมรดกแบบไร้หนี้สินอีกด้วย อย่างไรก็ดี ผู้กู้ควรศึกษา ประเมินความคุ้มค่า และทำความเข้าใจเงื่อนไขที่บริษัทประกันระบุไว้อย่างครบถ้วนก่อนตัดสินใจอีกครั้ง เว็บไซต์มาร์เก็ตเพลสด้านอสังหาริมทรัพย์อันดับ 1 ของไทย อย่างดีดีพร็อพเพอร์ตี้ (https://www.ddproperty.com/) ได้รวบรวมข่าวสารในแวดวงอสังหาฯ และบทความที่น่าสนใจเพื่อเป็นแหล่งความรู้ให้ผู้บริโภคที่กำลังวางแผนอยากมีบ้านได้เข้ามาศึกษา รวมทั้งมีข้อมูลประกาศซื้อ-ขาย-เช่าที่อยู่อาศัยในหลากหลายทำเล เพื่อให้ทุกคนเตรียมความพร้อมเป็นเจ้าของบ้านได้อย่างมั่นใจ และค้นหาบ้านในฝันได้ง่ายยิ่งขึ้น