เทรนด์เทคโนโลยีที่ต้องจับตามอง การเติบโตขององค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีเต็มตัว ในปี 2565 และอนาคตข้างหน้า

เทรนด์เทคโนโลยีที่ต้องจับตามอง

เทรนด์เทคโนโลยีที่ต้องจับตามอง การเติบโตขององค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีเต็มตัว ในปี 2565 และอนาคตข้างหน้า

วินเซนต์ คาลไดรา

บทความโดย วินเซนต์ คาลไดรา, หัวหน้าฝ่ายเทคโนโลยี (FSI), เร้ดแฮท

สถานการณ์การแพร่ระบาดทำให้รูปแบบการทำงานและการใช้ชีวิตของเรา รวมถึงการใช้บริการต่างๆ เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง ในช่วงสองปีที่ผ่านมา บริษัทจำนวนมากต้องเร่งปรับตัวเพื่อความอยู่รอดของธุรกิจ มีการใช้รูปแบบการทำงานจากที่บ้านอย่างกว้างขวาง และใช้เครื่องมือบริการแบบดิจิทัลมากมายเพื่อเข้าถึงลูกค้า ควบคู่ไปกับการอัพเดตและปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่เพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น กล่าวได้ว่าปัจจุบันเราก้าวมาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญ ซึ่งผู้บริหารฝ่ายสารสนเทศเริ่มตระหนักว่าการที่องค์กรจะอยู่รอดและประสบความสำเร็จในโลกยุคใหม่ได้นั้น จำเป็นต้องพัฒนาปรับปรุงองค์กรอย่างเป็นระบบ และใช้ประโยชน์จากข้อมูล จากเทคโนโลยี และกระบวนการต่าง ๆ เพื่อมอบคุณประโยชน์ให้แก่ลูกค้าได้อย่างทรงประสิทธิภาพ เป็นไปโดยอัตโนมัติ และสเกลได้อย่างเหมาะสม แม้ว่าองค์กรต้องพัฒนาความสามารถหลายด้านที่จำเป็นต่อการรุดหน้าไปสู่องค์กรที่ “ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีเต็มรูปแบบ” (Self-Driving Enterprise) แต่มีแนวโน้มพื้นฐาน 3 ประการที่องค์กรจำเป็นจะต้องพิจารณาเพื่อวางแผนพัฒนาองค์กรให้ประสบผลสำเร็จ ดังนี้

ความสามารถในการเชื่อมโยงแอปพลิเคชัน การให้บริการ และข้อมูลต่าง ๆ เข้าด้วยกัน (Data Gravity) เป็นตัวเร่งการเปลี่ยนแปลงสู่สถาปัตยกรรมที่มุ่งเน้นข้อมูลและการโยกย้ายการประมวลผลข้อมูลไปไว้ที่ Edge

ขณะที่การติดต่อสื่อสารและปฏิสัมพันธ์ต่าง ๆ ผ่านช่องทางดิจิทัลโดยอาศัยเทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น 5G และอุปกรณ์ IoT กลายเป็นเรื่องปกติ แต่ผลที่ตามมาก็คือ องค์กรต่าง ๆ มีการสร้างข้อมูลจำนวนมหาศาลมากขึ้น และ ข้อมูลดังกล่าวส่วนใหญ่สร้างโดยระบบ latency-sensitive ซึ่งอยู่ภายนอกดาต้าเซ็นเตอร์หรือคลาวด์สาธารณะ นอกจากนี้ ความก้าวหน้าล่าสุดของเทคโนโลยีการวิเคราะห์ข้อมูล และแมชชีนเลิร์นนิ่ง ช่วยให้องค์กรต่าง ๆ สามารถผนวกรวมเวิร์กโฟลว์อัจฉริยะเข้าไว้ในโซลูชันดิจิทัล ซึ่งส่งผลให้มีการผลิตข้อมูลมากขึ้น เนื่องจากมีการรวบรวม เชื่อมต่อ และเพิ่มเติมรายละเอียดของข้อมูลอย่างต่อเนื่อง

สำหรับแนวโน้มดังกล่าวนี้ การ์ทเนอร์ประเมินว่าในปัจจุบันองค์กรต่าง ๆ ผลิตและประมวลผลข้อมูลได้เพียง 10% ของข้อมูลที่อยู่ภายนอกระบบส่วนกลาง แต่ก็คาดการณ์ว่าตัวเลขดังกล่าวจะเพิ่มเป็น 75% ภายในปี 2568[[1]] ด้วยเหตุนี้การเคลื่อนย้ายข้อมูลจึงกลายเป็นเรื่องยากและมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เพราะกระแสข้อมูลมีการไหลย้อนกลับ และมีการประมวลผลและจัดเก็บข้อมูลที่ Edge เพิ่มมากขึ้น แนวโน้มเรื่องนี้จำเป็นต้องอาศัยสถาปัตยกรรมที่เน้นข้อมูลเป็นศูนย์กลาง (Data-Centric Architecture) บนโครงสร้างพื้นฐานไอทีแบบไฮบริดที่ทันสมัย และมีการขยายระบบคลาวด์ให้ครอบคลุมการแลกเปลี่ยนข้อมูลผ่านการเชื่อมต่อที่ Edge[[2]] และอยู่ใกล้กับจุดเชื่อมต่ออุปกรณ์มากขึ้น ในขณะเดียวกันจะต้องใช้รูปแบบการดำเนินการที่สอดคล้องกันเพื่อให้สามารถเปลี่ยนแปลงได้รวดเร็วมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งคาดว่าจะมีการปรับใช้ระบบประมวลผล Edge Computing เพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงหลายปีนับจากนี้ โดยมีอัตราการเติบโต 31.1% ต่อปี[[3]] สำหรับมูลค่าตลาดโดยรวมที่ 45.32 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในช่วงปี 2564-2573 เป็นผลมาจากการเพิ่มประสิทธิภาพในภาคการผลิตให้ทันสมัย และการปรับเปลี่ยนบริการด้านการเงินสู่ดิจิทัลที่เกิดขึ้นมากในภูมิภาคนี้

ข้อมูลที่รวดเร็วและ AI/ML กระตุ้นการปรับเปลี่ยนไปสู่ระบบอัตโนมัติ Hyper Automation แบบอัจฉริยะที่ใช้ AIOps

เมื่อระบบปฏิบัติการของธุรกิจโยกย้ายไปประมวลผลที่ edge ทำให้สามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลดิบที่หลั่งไหลเข้ามาได้แบบเรียลไทม์ และกลั่นกรองเป็นข้อมูลเชิงลึกที่สามารถนำไปใช้ในการปฏิบัติงาน องค์กรที่ออกแบบเวิร์กโฟลว์และกระบวนการต่าง ๆ ขึ้นใหม่จะสามารถใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เช่น เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) และแมชชีน เลิร์นนิ่ง (ML) เพื่อปรับเปลี่ยนกระบวนการต่าง ๆ ให้เป็นแบบอัตโนมัติมากขึ้น และยกระดับการทำงานของบุคลากร

แนวทางนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องแต่เฉพาะกระบวนการใหม่ ๆ ที่จะช่วยดึงดูดลูกค้าและการให้บริการ แต่ยังครอบคลุมถึงส่วนงานพื้นฐานที่สำคัญภายในองค์กร เช่น ฝ่ายปฏิบัติการด้านไอที ฝ่ายการเงิน ฝ่ายทรัพยากรบุคคล ฝ่ายกฎหมายและการกำกับดูแล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของการปฏิบัติงานด้านไอที ซึ่งแพลตฟอร์มที่ขับเคลื่อนด้วย AI หนึ่งเดียวที่รองรับการผนวกรวมระบบอัตโนมัติในด้านต่าง ๆ (ITOps, DevOps, DataOps, MLOps) เข้าด้วยกัน จะสามารถรองรับระบบอัตโนมัติแบบครบวงจรที่ก้าวล้ำและสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง โดยครอบคลุมงานต่าง ๆ เช่น การบริหารขีดความสามารถ การจัดเก็บและสำรองข้อมูล การจัดการความปลอดภัย การกำหนดค่าแอปพลิเคชัน และการปรับใช้โค้ด ซึ่งจะช่วยลดการโต้ตอบของผู้ใช้งานและปรับปรุงคุณภาพการให้บริการ ทั้งยังสามารถปรับขนาดของกระบวนการเพื่อจัดการสภาพแวดล้อมไอทีที่มีความซับซ้อนและกระจัดกระจายมากขึ้น

Everything-as-code ช่วยรองรับการปฏิบัติตามกฎระเบียบอย่างต่อเนื่องในลักษณะที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี

ภายใต้การดำเนินการแบบเก่า การปฏิบัติตามกฎระเบียบภายนอกและนโยบายภายในองค์กรต้องอาศัยกระบวนการที่ซับซ้อนและดำเนินการโดยบุคคล รวมไปถึงเอกสารต่าง ๆ มากมาย เช่น คู่มือ รายการตรวจสอบ แนวทางการปฏิบัติงาน และมีการใช้ระบบอัตโนมัติบางส่วนซึ่งต้องอาศัยการจัดการคอนฟิกูเรชั่นและงาน DevOps และมีแนวโน้มว่าจะเกี่ยวข้องกับหลาย ๆ ส่วนงานภายในองค์กร แต่ด้วยแนวทาง Everything-as-code[4] องค์กรจะขยายการพัฒนาแอปพลิเคชันเข้าไปยังการปฏิบัติงานด้านเทคโนโลยีทุกแง่มุม โดยมีการกำหนดและเขียนโค้ดสำหรับโครงสร้างพื้นฐาน การส่งมอบซอฟต์แวร์ และการจัดการบริการด้านแอปพลิเคชัน เช่น ซัพพลายเชนด้านซอฟต์แวร์ที่ตกเป็นเป้าหมายการโจมตีทางไซเบอร์เพิ่มมากขึ้น จะมีความปลอดภัยได้โดยใช้การตรวจสอบแบบอัตโนมัติ การสร้างแพ็คเกจ และ การรับรองแบบในตัว หรืออาจสร้างกฎเกณฑ์ในการกำกับดูแล โดยระบุลักษณะที่ควรจะเป็น เพื่อให้สามารถตรวจสอบสถานะของระบบที่เกี่ยวข้องได้อย่างต่อเนื่องโดยใช้กระบวนการที่สามารถทำการแก้ไขได้เอง ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้กับฝ่ายไอทีได้อย่างมาก

ในช่วงหลายปีนับจากนี้ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของระบบนิเวศไฮบริดคลาวด์ ขณะที่องค์กรต่าง ๆ ขยายสภาพแวดล้อมด้านเทคโนโลยีไปสู่ edge โดยใช้แนวทางสถาปัตยกรรมที่มุ่งเน้นข้อมูลเป็นปัจจัยหลัก เทคโนโลยีโอเพ่นซอร์สและมาตรฐานใหม่ ๆ ที่รองรับระบบอัตโนมัติ Hyper Automation ที่ชาญฉลาด ซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมและมีการกำกับดูแลอย่างต่อเนื่อง จะช่วยให้ผู้บริหารฝ่ายสารสนเทศสามารถติดตั้งใช้งานเทคโนโลยีได้ทุกที่ในรูปแบบที่เป็นมาตรฐาน ซึ่งจะรองรับและสเกลนวัตกรรมดิจิทัลได้อย่างเหมาะสม เพื่อให้ผู้ใช้ในองค์กรสามารถตรวจสอบการดำเนินงานได้อย่างครบวงจรในแบบเรียลไทม์จากระบบภายในองค์กร ซึ่งทั้งหมดนี้จะช่วยให้องค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีเต็มรูปแบบสามารถสร้างระบบงานอัตโนมัติเพื่อตัดสินใจในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงาน และทุ่มเทความพยายามไปที่การตัดสินใจในเรื่องอื่น ๆ ที่มีความสำคัญอย่างมากต่อองค์กรโดยอาศัยข้อมูลรอบด้าน พร้อมทั้งปรับปรุงประสิทธิภาพในการดำเนินงานเพื่อให้บริการที่เหนือกว่าสำหรับลูกค้า

ชัวร์หรือมั่ว? ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ชวนเคลียร์ 6 ข้อเข้าใจผิดเมื่อคิดขายบ้าน

ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ชวนเคลียร์

ชัวร์หรือมั่ว? ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ชวนเคลียร์ 6 ข้อเข้าใจผิดเมื่อคิดขายบ้าน

อสังหาริมทรัพย์เป็นทรัพย์สินมูลค่าสูงและเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ที่สามารถลงทุนหรือสร้างรายได้ได้จากหลายทาง ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนปล่อยเช่าเพื่อทำกำไรระยะยาว หรือทำกำไรระยะสั้นจากการขายต่อ ทั้งนี้การประกาศขายอสังหาริมทรัพย์มีรายละเอียดที่แตกต่างจากการขายสินค้าทั่วไป และมีหลายจุดที่ผู้ขายอสังหาริมทรัพย์มือใหม่มักเข้าใจผิด ซึ่งจะมีผลเสียหายในภายหลัง ดังนั้น ผู้ขายมือใหม่จึงต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจความเคลื่อนไหวของตลาดอสังหาริมทรัพย์ เพื่อป้องกันข้อผิดพลาด เพิ่มโอกาสในการเจรจาต่อรอง และมีความรู้ในการทำธุรกรรมการซื้อ-ขายให้รอบคอบและชัดเจน   

ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ (DDproperty) เว็บไซต์มาร์เก็ตเพลสด้านอสังหาริมทรัพย์อันดับ 1 ของไทย อาสาคลายข้อสงสัยที่คนมักเข้าใจผิดเมื่อคิดขายบ้านให้กระจ่าง เพื่อให้ผู้ขายมือใหม่หรือผู้ที่วางแผนจะขายบ้านในอนาคตได้ทำความเข้าใจบทบาทและความรับผิดชอบของผู้ขายอสังหาริมทรัพย์ที่ดีได้อย่างถูกต้อง 

เปิดวาร์ป 6 ข้อเข้าใจผิดทำคนขายบ้านสับสน

    • ข้อ 1: ตั้งราคาขายตามใจฉัน ผู้ขายต้องทำความเข้าใจและตระหนักเสมอว่าการตั้งราคาขายที่เหมาะสมเป็นเรื่องสำคัญ ผู้ขายต้องศึกษาและเปรียบเทียบราคาตลาด พิจารณาสภาพเศรษฐกิจหรือสถานการณ์แวดล้อมในเวลานั้น ๆ อาทิ ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในเวลานี้ ที่มีบ้าน/คอนโดฯ ที่ตั้งราคาสูงจนเกินไปอาจจะปล่อยขายได้ยากหรือปล่อยขายไม่ได้เลย ในขณะเดียวกัน การตั้งราคาให้ต่ำกว่าราคาตลาดถือเป็นอีกกลยุทธ์ที่น่าสนใจ เนื่องจากจะเป็นการเพิ่มจำนวนผู้สนใจเข้ามาติดต่อผู้ขาย ซึ่งอาจนำไปสู่ข้อเสนอที่ราคาอยู่ใกล้เคียงหรือเท่ากับราคาของตลาดได้ และหากราคาขายที่คุณตั้งถูกกว่าของประกาศอื่น ๆ ในประกาศซื้อขายบ้านบนหน้าเว็บไซต์ เป็นไปได้ว่าประกาศของคุณอาจจะโดนคลิกเข้ามาชมมากกว่า อย่างไรก็ตาม การตั้งราคาขายสามารถอ้างอิงราคาประเมินของราชการ, องค์กรอิสระหรือสถาบันทางการเงิน หรือเช็กราคาตลาด/ราคาซื้อขายจริงบนทำเลนั้น ๆ จากเว็บไซต์มาร์เก็ตเพลสด้านอสังหาริมทรัพย์อย่าง DDproperty ซึ่งมีรายงานแนวโน้มราคาอสังหาริมทรัพย์ในรอบไตรมาส และรอบปีให้ศึกษาด้วย แต่ทั้งนี้ก่อนตั้งราคาขายจะต้องไม่ลืมคำนวณค่าเสื่อมราคาของอสังหาริมทรัพย์ที่ประกาศขายด้วย

       

    • ข้อ 2: สามารถปิดซ่อนปัญหาเกี่ยวกับตัวบ้านได้มิด ปัญหาเกี่ยวกับที่อยู่อาศัยจะปิดอย่างไรก็ไม่มิด 100% เพราะผู้ซื้อและนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ในวันนี้ศึกษาทำการบ้านอยู่ตลอดเวลาจากหลายช่องทาง ทั้งจากเว็บไซต์ที่ให้ความรู้เรื่องที่อยู่อาศัยหรือประสบการณ์ตรงที่มีผู้แชร์บนโลกออนไลน์ นอกจากนี้ แม้ผู้ขายจะพยายามปกปิดดีอย่างไรก็ตาม ปัญหาเหล่านั้นอาจถูกค้นพบเมื่อถึงช่วงตรวจสอบบ้านจากผู้ซื้อ (House Inspection) ซึ่งปัจจุบันมีวิศวกรและบริษัทตรวจรับบ้านให้บริการด้านนี้โดยเฉพาะ หากตรวจพบปัญหามากกว่าที่คิดอาจทำให้ผู้ซื้อเกิดความไม่ไว้วางใจว่าผู้ขายตั้งใจปิดบัง และยุติการซื้อขายได้ ดังนั้น ผู้ขายควรหาทางออกโดยการเลือกซ่อมแซมจุดเสียหายที่พบทันที หรือตั้งราคาขายต่ำกว่าตลาดเนื่องจากปัญหาข้อเสียหายที่เกิดขึ้น หรือตั้งราคาขายปกติแต่ทำสัญญากับผู้ซื้อว่า ผู้ขายจะทำการออกค่าใช้จ่ายเองหากเกิดกรณีซ่อมแซมในจุดเสียหายที่ตรวจเจอ หรือตั้งราคาขายตามสภาพของบ้านในเวลานั้น เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจบานปลายได้ในภายหลัง เพราะผู้ขายอาจจะต้องเจอกับค่าใช้จ่ายที่ไม่คาดคิด หากสภาพบ้านไม่เป็นไปตามในสัญญาซื้อขายที่ระบุ

       

    • ข้อ 3: เชื่อใจผู้ซื้อมากเกินไป อาจทำเสียโอกาสขาย เมื่อตกลงซื้อขายเรียบร้อยแล้ว ผู้ขายจะรอความชัดเจนในการตกลงวันนัดทำสัญญาเพื่อดำเนินธุรกรรมกับผู้ซื้อต่อไป อย่างไรก็ตาม เพื่อไม่ให้เป็นการปิดโอกาสในการขายอสังหาริมทรัพย์กับบุคคลอื่น ผู้ขายสามารถขอให้ผู้ซื้อวางเงินมัดจำ หรือขอดูจดหมายอนุมัติสินเชื่อของผู้ซื้อที่ออกโดยธนาคารพาณิชย์หรือรัฐ เพื่อเป็นการการันตีถึงเรื่องความสามารถด้านการเงินของผู้ซื้อ รวมถึงการันตีในเรื่องเงินที่ผู้ขายจะได้รับจากการขายบ้าน ถือเป็นการสร้างความมั่นใจและความสบายใจในการซื้อขายของทั้งสองฝ่าย นอกจากนี้ หากผู้ขายมีกรอบระยะเวลาที่จะต้องปล่อยขายบ้านให้สำเร็จ ไม่ควรเลือกผู้ซื้อที่ติดภาระในการปล่อยขายบ้านเก่าเพื่อนำเงินมาซื้อบ้านใหม่ เพราะแสดงให้เห็นถึงความไม่แน่นอนในการปิดดีลซื้อขายครั้งนี้นั่นเอง ถือเป็นอีกข้อควรคำนึงที่ผู้ขายควรพิจารณา เพื่อไม่ให้เป็นการปิดโอกาสขายอสังหาริมทรัพย์ให้กับผู้ซื้อที่มีศักยภาพคนอื่น ๆ
ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ชวนเคลียร์
    • ข้อ 4: รอรับเงินแต่ลืมเตรียมค่าภาษี เมื่อการเจรจาตกลงเสร็จเรียบร้อยแล้ว ไม่ได้หมายความว่าผู้ขายจะรอรับเงินจากผู้ซื้อเพียงอย่างเดียว เนื่องจากในการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์จะมีภาษีขายบ้าน (ภาษีธุรกิจเฉพาะ) ด้วย ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่ทั้งผู้ขายและผู้ซื้อหลายคนมักมองข้ามไป ผู้ขายที่ไม่มีความรู้ในเรื่องนี้อาจขาดทุนจากการเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม เนื่องจากไม่ได้คำนวณค่าธรรมเนียมและภาษีรวมไว้ในต้นทุนก่อนประกาศขาย โดยทั่วไปค่าใช้จ่ายในการขายอสังหาริมทรัพย์ส่วนที่ผู้ขายต้องจ่ายนั้น จะมี 4 รายการใหญ่ ๆ ได้แก่ ค่าธรรมเนียมโอนกรรมสิทธิ์ในอัตรา 2% จากราคาประเมิน (ผู้ซื้อและผู้ขายชำระค่าธรรมเนียม 1% เท่า ๆ กัน), ค่าอากรแสตมป์ 0.5%, ภาษีธุรกิจเฉพาะ 3.3% และภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ซึ่งผู้ขายควรคำนวณค่าใช้จ่ายเหล่านี้ให้ถี่ถ้วน เพื่อวางแผนลดค่าใช้จ่ายในส่วนที่ไม่จำเป็นลงได้ เช่น ถือครองอสังหาริมทรัพย์นานเกิน 5 ปี หรือมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านครบ 1 ปี ซึ่งจะทำให้ได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ
    • ข้อ 5: ขายเองก็ได้ ไม่ต้องมีนายหน้า ผู้ขายส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าการขายที่อยู่อาศัยก็เหมือนกับการขายทรัพย์สินอื่น ไม่ซับซ้อน จึงอยากจัดการเองมากกว่าไปจ้างนายหน้าหรือตัวแทนอสังหาริมทรัพย์ (Agent) ที่มีค่าใช้จ่ายเป็นค่าคอมมิชชั่น เมื่อพิจารณาค่าใช้จ่ายกับความสะดวกที่ผู้ขายจะได้รับแล้ว การมีนายหน้าหรือตัวแทนอสังหาริมทรัพย์เพื่อช่วยนำบ้าน/คอนโดฯ ไปเสนอขายผ่านช่องทางต่าง ๆ แล้ว นายหน้ายังช่วยหาหรือนำเสนอทรัพย์สินให้ตรงตามความต้องการของผู้ซื้ออีกด้วย นายหน้าที่มีประสบการณ์ช่วยให้การขายอสังหาริมทรัพย์สามารถปิดดีลได้ไวขึ้นในราคาที่ทั้งผู้ขายและผู้ซื้อรับได้ นอกจากนี้ยังช่วยประหยัดเวลาในการดำเนินการขั้นตอนต่าง ๆ เอง ทั้งการต่อรองหรือพาชมสถานที่จริงได้ไม่น้อยเลยทีเดียว ทั้งนี้ผู้ขายควรศึกษาวิธีคำนวณค่าคอมมิชชั่นเพื่อเตรียมตัวในการเจรจาก่อนตกลงว่าจ้างกับนายหน้า โดยปกตินายหน้าอสังหาริมทรัพย์จะได้รับค่าตอบแทนในอัตรา 3% ของราคาขาย ทั้งนี้อัตราค่านายหน้าอสังหาริมทรัพย์นั้นจะมีความแตกต่างกันไปบ้างในแต่ละพื้นที่ และบริษัทนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ (โบรกเกอร์) ที่ดำเนินการ
    • ข้อ 6: ขายบ้านทุกครั้งต้องมีนายหน้า ในทางตรงกันข้าม หากผู้ขายมีความรู้เกี่ยวกับตลาดอสังหาริมทรัพย์ และมีความรู้พื้นฐานด้านเอกสารธุรกรรมการซื้อ-ขายอสังหาริมทรัพย์ สามารถขายที่อยู่อาศัยได้เองโดยไม่จำเป็นต้องจ้างนายหน้าอสังหาริมทรัพย์เสมอไป อย่างไรก็ตาม การประกาศขายด้วยตัวเองนั้นจำเป็นต้องคำนึงถึงเรื่องต้นทุนในเรื่องของเวลาที่ใช้ศึกษาตลาดด้วย หากผู้ขายเข้าใจกลไกต่าง ๆ ในเรื่องเหล่านี้ดีก็จะลดค่าใช้จ่ายคอมมิชชั่นที่สามารถนำไปปรับเป็นส่วนลดให้ผู้ซื้อ หรือเป็นกำไรให้ตัวเองได้ นอกจากนี้ ผู้ขายต้องคำนวณต้นทุนค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่ต้องดำเนินการเอง เช่น การนำข้อมูลบ้านลงประกาศขายในเว็บไซต์ต่าง ๆ โดยสิ่งสำคัญคือข้อมูลที่ครบถ้วนและถูกต้อง นำเสนอรูปสวย ๆ เพื่อดึงดูดความสนใจของผู้ซื้อ ยิ่งดีขึ้นไปอีกหากเว็บไซต์รองรับวิดีโอ, Virtual Tour หรือ Live Tour ซึ่งทำให้ผู้ซื้อได้รับข้อมูลที่ครบถ้วนกว่าเดิม แต่ทั้งนี้หากเป็นเว็บไซต์ที่รวมข้อมูลซื้อ-ขายด้านอสังหาริมทรัพย์อาจมีค่าธรรมเนียมประกาศตามแพ็กเกจโฆษณาของเว็บนั้น ๆ นอกจากนั้นต้องให้ข้อมูลกับผู้ที่สนใจติดต่อสอบถามเข้ามาเอง ซึ่งก็จะมีทั้งผู้สนใจเข้ามาดูเฉย ๆ และผู้สนใจซื้อจริง ๆ ผู้ขายจะต้องมีเวลาในการรับโทรศัพท์และนัดหมายพาชมบ้าน สรุปได้ว่านอกจากความรู้ความเข้าใจในตลาดอสังหาริมทรัพย์และการทำธุรกรรมแล้ว ผู้ขายควรพัฒนาทักษะและประสบการณ์ในการเจรจาต่อรอง เพื่อให้พร้อมรับมือกับผู้สนใจซื้อที่หลากหลาย ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้ความรู้เช่นกัน 

การขายอสังหาริมทรัพย์นั้นแม้จะมีรายละเอียดที่เฉพาะเจาะจงแต่ไม่ถือว่าเป็นเรื่องไกลตัวจนเกินไป ผู้บริโภคต่างมีโอกาสเป็นทั้งผู้ซื้อและผู้ขายได้ในอนาคต นอกเหนือจากข้อเข้าใจผิดเกี่ยวกับการขายที่อยู่อาศัยเหล่านี้แล้ว ผู้ขายต้องไม่ลืมว่ายังมีตัวแปรอีกมากมายที่เข้ามามีบทบาทและส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อขายที่อยู่อาศัยของผู้บริโภค ผู้ขายจึงควรเตรียมความพร้อมทั้งด้านการเงินและความรู้ความเข้าใจ เพื่อให้สามารถเลือกช่วงเวลาในการขายได้อย่างถูกที่ ถูกเวลา เว็บไซต์มาร์เก็ตเพลสด้านอสังหาริมทรัพย์อันดับ 1 ของไทยอย่างดีดีพร็อพเพอร์ตี้ (https://www.ddproperty.com) ได้รวบรวมข้อมูลประกาศซื้อ/ขาย/เช่าที่น่าสนใจทั้งโครงการใหม่และบ้านมือสอง รวมทั้งที่ดินสำหรับปลูกสร้างบ้านในหลากหลายทำเลทั่วประเทศ พร้อมเป็นแหล่งรวมความรู้ที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์ในการซื้อ-ขาย-เช่า เตรียมความพร้อมให้ผู้ที่อยากมีบ้านเป็นของตัวเองสามารถเลือกที่อยู่อาศัยที่ตอบโจทย์ได้มากที่สุด

ผลสำรวจชี้ มัลติคลาวด์ยังได้รับความนิยมต่อเนื่อง แต่ความซับซ้อนและความท้าทายต่าง ๆ ก็ยังคงอยู่เช่นกัน

ผลสำรวจดัชนีการใช้คลาวด์ระดับองค์กร

ผลสำรวจชี้ มัลติคลาวด์ยังได้รับความนิยมต่อเนื่อง แต่ความซับซ้อนและความท้าทายต่าง ๆ ก็ยังคงอยู่เช่นกัน

ผลสำรวจพบว่ามีการใชัมัลติคลาวด์เพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกันองค์กรต่าง ๆ ก็มุ่งความสนใจไปที่ไฮบริด มัลติคลาวด์

นูทานิคซ์ (NASDAQ: NTNX) ผู้นำด้านไฮบริด-มัลติคลาวด์คอมพิวติ้ง เผยผลสำรวจดัชนีการใช้คลาวด์ระดับองค์กร (Enterprise Cloud Index: ECI) ที่ทำการสำรวจติดต่อกันเป็นปีที่ 4 โดยทำการประเมินความก้าวหน้าในการใช้คลาวด์ขององค์กร การสำรวจพบว่า มัลติคลาวด์เป็นรูปแบบที่มีการนำมาใช้งานมากที่สุดในปัจจุบัน และการใช้งานจะเพิ่มสูงขึ้นถึง 64% ในอีกสามปีข้างหน้า อย่างไรก็ตาม ความซับซ้อนในการจัดการกับข้อจำกัดต่าง ๆ ของคลาวด์ทุกประเภทยังคงเป็นความท้าทายสำคัญขององค์กร โดย 87% ของผู้ตอบแบบสำรวจเห็นด้วยว่า การจะใช้มัลติคลาวด์ให้ประสบความสำเร็จ จำเป็นต้องมีการจัดการโครงสร้างพื้นฐานการใช้ระบบคลาวด์แบบผสมที่ง่ายขึ้น ทั้งนี้ 83% ของผู้ตอบแบบสำรวจเห็นว่า ไฮบริด-มัลติคลาวด์เป็นรูปแบบที่มีความเหมาะสมต่อการใช้งาน เพื่อแก้ปัญหาความท้าทายสำคัญ ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความสามารถในการทำงานร่วมกัน การรักษาความปลอดภัย ต้นทุน และการบูรณาการข้อมูล

ผลสำรวจชี้ มัลติคลาวด์ยังได้รับความนิยมต่อเนื่อง

นายราจีฟ รามาสวามี ประธานและซีอีโอนูทานิคซ์ กล่าวว่า “ในขณะที่ธุรกิจต่าง ๆ พิจารณาและใช้ไอทีในเชิงกลยุทธ์มากขึ้นกว่าก่อน ความซับซ้อนของมัลติคลาวด์ก็กำลังสร้างความท้าทายมากมายที่เป็นอุปสรรคต่อความสำเร็จในการใช้คลาวด์ การแก้ไขความซับซ้อนเหล่านี้ ทำให้เกิดไฮบริด-มัลติคลาวด์รูปแบบใหม่ขึ้น ซึ่งทำให้คลาวด์เป็นรูปแบบในการทำงาน มากกว่าเป็นเพียงเป้าหมายปลายทางเท่านั้น”

การสำรวจครั้งนี้ ได้สอบถามผู้ตอบแบบสำรวจเกี่ยวกับความท้าทายของการใช้คลาวด์ที่องค์กรพบเจอ ปัจจุบันองค์กรใช้งานแอปพลิเคชันทางธุรกิจบนระบบใด และวางแผนว่าจะใช้บนระบบใดในอนาคต นอกจากนี้ ยังมีการสอบถามถึงผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่มีผลต่อการตัดสินใจด้านโครงสร้างพื้นฐานไอทีที่เกิดขึ้นทั้งในปัจจุบันและอนาคต ตลอดจนกลยุทธ์และลำดับความสำคัญด้านไอทีที่อาจมีการเปลี่ยนแปลงอันเนื่องมาจากสาเหตุดังกล่าว

ผลสำรวจสำคัญจากรายงานครั้งนี้ ประกอบด้วย

      • ความท้าทายอันดับต้น ๆ ในการใช้มัลติคลาวด์ประกอบด้วย การจัดการความปลอดภัย (49%), การเชื่อมโยงข้อมูล (49%) และค่าใช้จ่ายในการใช้คลาวด์ข้ามประเภท (43%) แม้มัลติคลาวด์จะเป็นรูปแบบที่ใช้งานมากที่สุด และเป็นเพียงรูปแบบเดียวที่คาดว่าจะมีการใช้งานเพิ่มขึ้น แต่องค์กรส่วนใหญ่ยังต้องฝ่าฟันกับความท้าทายที่เกิดขึ้นจากการใช้คลาวด์หลายประเภทร่วมกัน ทั้งที่เป็นไพรเวทและพับลิคคลาวด์ ความท้าทายเหล่านี้จะยังคงอยู่ และผู้นำด้านไอทีต่างตระหนักมากขึ้นว่า ไม่มีวิธีการใช้คลาวด์วิธีใดวิธีหนึ่งที่เหมาะสมกับการทำงานทุกอย่าง ผู้ตอบแบบสำรวจส่วนใหญ่ให้ความเห็นว่า ไฮบริด มัลติคลาวด์ ซึ่งเป็นรูปแบบการทำงานด้านไอทีที่สามารถประสานให้คลาวด์หลายประเภท ทั้งไพรเวทและพับลิคทำงานร่วมกันได้เป็นวิธีการที่เหมาะสม
ความท้าทายอันดับต้น ๆ ในการใช้มัลติคลาวด์
      • การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้เปลี่ยนวิธีการทำงานเกือบทั้งหมดขององค์กร และมัลติคลาวด์สามารถรองรับวิธีการทำงานแบบใหม่นี้ ผู้ตอบแบบสำรวจเกินครึ่ง (61%) กล่าวว่าการระบาดครั้งนี้ทำให้ต้องให้ความสำคัญกับการจัดให้มีการทำงานแบบยืดหยุ่นมากขึ้น องค์กรส่วนใหญ่ให้ข้อมูลว่า ไม่ว่าจะมีพนักงานที่ทำงานจากระยะไกลมากขึ้นหรือน้อยลงก็ตามการทำงานในลักษณะนี้จะยังคงดำเนินต่อเนื่องไปในอนาคตอันใกล้ มัลติคลาวด์มีสภาพแวดล้อมไอทีที่คล่องตัว สามารถตอบสนองความต้องการด้านความยืดหยุ่นนี้ได้ ด้วยการกระจายข้อมูลไปยังจุดใช้งานต่าง ๆ เพื่อให้ผู้ใช้เข้าถึงข้อมูลได้ง่าย และเพื่อความต่อเนื่องทางธุรกิจ
      • การเคลื่อนย้ายแอปพลิเคชันคือสิ่งสำคัญที่สุด ในช่วงเวลา 12 เดือนที่ผ่านมา องค์กรเกือบทั้งหมด (91%) ได้ย้ายแอปพลิเคชัน หนึ่งรายการหรือมากกว่านั้นไปยังสภาพแวดล้อมไอทีใหม่ อย่างไรก็ตาม 80% ของผู้ตอบแบบสำรวจเห็นตรงกันว่า การย้ายเวิร์กโหลดไปยังสภาพแวดล้อมคลาวด์รูปแบบใหม่อาจใช้เวลานานและมีค่าใช้จ่ายสูง ผู้ตอบแบบสำรวจให้เหตุผลในการย้ายเวิร์กโหลดว่า ความปลอดภัยเป็นสิ่งสำคัญที่สุด (41%) ตามด้วยเรื่องประสิทธิภาพ (39%) และความสามารถในการควบคุมการทำงาน (38%)

 

การเคลื่อนย้ายแอปพลิเคชันคือสิ่งสำคัญที่สุด
      • องค์กรต่าง ๆ ใช้โครงสร้างพื้นฐานไอทีในเชิงกลยุทธ์เพิ่มขึ้น  เกือบสามในสี่ของผู้ตอบแบบสอบถาม (72%) ระบุว่า ฟังก์ชันด้านไอทีในองค์กรของตนได้มีการนำมาใช้ในเชิงกลยุทธ์มากขึ้นกว่าปีที่แล้ว ผู้ตอบแบบสำรวจได้ระบุถึงเหตุผลทางธุรกิจในการเปลี่ยนรูปแบบของโครงสร้างพื้นฐาน เช่น เพื่อปรับปรุงการทำงานระยะไกลและการทำงานร่วมกัน (40%), เพื่อสนับสนุนลูกค้าได้ดีขึ้น  (36%) และ เพื่อเสริมสร้างความต่อเนื่องทางธุรกิจ (35%) นอกจากนี้พวกเขายังได้เริ่มจับคู่เวิร์กโหลดแต่ละชนิดให้ใช้งานบนโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสมที่สุดอย่างมีแบบแผน โดยพิจารณาจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น ความปลอดภัย (41%), ประสิทธิภาพ (39%) และค่าใช้จ่าย (31%) ซึ่งน่าจะเป็นปัจจัยหลักระดับต้น ๆ ในการปรับใช้มัลติคลาวด์ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
องค์กรต่าง ๆ ใช้โครงสร้างพื้นฐานไอทีในเชิงกลยุทธ์เพิ่มขึ้น

แวนสัน บอร์น ได้ทำการสำรวจนี้ในนามของนูทานิคซ์เป็นปีที่สี่ติดต่อกัน โดยทำการสอบถามผู้มีอำนาจตัดสินใจด้านไอทีจำนวน 1,700 คนทั่วโลก เมื่อเดือนสิงหาคมและกันยายน 2564 ผู้ตอบแบบสำรวจอยู่ในอุตสาหกรรมหลายประเภท ในองค์กรหลากหลายขนาด ในภูมิภาคอเมริกา, ยุโรป, ตะวันออกกลาง, แอฟริกา, เอเชียแปซิฟิกและญี่ปุ่น

ท่านสามารถดาวน์โหลดรายงานดัชนีการใช้คลาวด์ระดับองค์กรฉบับเต็มของนูทานิคซ์ได้ที่นี่

อัปเดตเทรนด์ที่อยู่อาศัยยุค Now Normal คนหาบ้าน 2022 ต้องการอะไรเมื่อคิดมีบ้าน?

อัปเดตเทรนด์ที่อยู่อาศัยยุค Now Normal คนหาบ้าน 2022 ต้องการอะไรเมื่อคิดมีบ้าน?

ภาพรวมเศรษฐกิจไทยยังคงเปราะบางจากหลายปัจจัยเสี่ยงที่เข้ามากระทบ โดยเฉพาะการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนที่เข้ามาสร้างความปั่นป่วนให้กับภาคธุรกิจอีกครั้ง ข้อมูลจากศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย รายงานผลสำรวจความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนธันวาคม 2564 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับขึ้นมาอยู่ที่ 46.2 จากระดับ 44.9 ในเดือนพฤศจิกายน เป็นการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 9 เดือน อย่างไรก็ตาม แม้ว่าผู้บริโภคจะเริ่มกลับมาจับจ่ายใช้สอยอีกครั้งในช่วงปลายปีที่ผ่านมา แต่การเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ติดเชื้อตั้งแต่ต้นปี บวกกับแนวโน้มเงินเฟ้อที่ส่งผลให้ราคาสินค้าเริ่มปรับเพิ่มขึ้น จึงทำให้ผู้บริโภคและภาคธุรกิจต้องกลับมาเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือความผันผวนอีกครั้ง แต่ครั้งนี้ทุกฝ่ายล้วนมีประสบการณ์จากรอบปีที่ผ่านมาแล้ว

ด้านตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปี 2565 นี้ ยังคงต้องจับตามองอย่างใกล้ชิดอันเนื่องมาจากสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและการแพร่ระบาดฯ ที่ส่งผลโดยตรงต่อสถานะทางการเงินในครอบครัวอย่างเลี่ยงไม่ได้ ผู้บริโภคต้องพิจารณาความจำเป็นก่อนตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยอย่างรอบคอบ ในขณะที่การใช้ชีวิตแบบ Now Normal ได้กระตุ้นให้ทุกคนปรับไลฟ์สไตล์ไปตามบริบทของยุคสมัย ดังนั้น การมองหาหรือเลือกที่อยู่อาศัยต้องมาพร้อมความสะดวกสบาย ความปลอดภัยในทุกมิติ และตอบโจทย์การดำเนินชีวิตอย่างครบถ้วนอีกด้วย

ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ (DDproperty) เว็บไซต์มาร์เก็ตเพลสด้านอสังหาริมทรัพย์อันดับ 1 ของไทย อัปเดตแนวโน้มที่อยู่อาศัยของผู้บริโภคยุคใหม่ที่น่าจับตามอง เผยข้อมูลเชิงลึกจากผู้เข้าเยี่ยมชมในเว็บไซต์ DDproperty.com ตลอดปี 2021 สะท้อนพฤติกรรมการเลือกซื้อ/เช่าที่อยู่อาศัยที่เชื่อมโยงไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปในยุค Now Normal

    • คนซื้อบ้านยังมีดีมานด์ โฟกัสราคาจับต้องได้ การชะลอตัวของเศรษฐกิจและการแพร่ระบาดฯ ที่ลากยาวกระทบโดยตรงต่อความมั่นคงทางการเงินของผู้บริโภค ประกอบกับสัญญาณความเสี่ยงจากแนวโน้มเงินเฟ้อที่ปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้บริโภคยังคงลังเลในการตัดสินใจซื้อบ้านและชะลอการทำธุรกรรมออกไปก่อนในช่วงนี้ แม้จะมีโปรโมชั่นมากมายจากผู้พัฒนาอสังหาฯ แต่ยังไม่เพียงพอในการกระตุ้นการเติบโตของตลาด อย่างไรก็ตาม กลุ่มผู้ซื้อเพื่ออยู่อาศัยจริง (Real Demand) ในตลาดที่จำเป็นต้องซื้อที่อยู่อาศัยในปีนี้ จะหันไปเลือกซื้อที่อยู่อาศัยที่มีฟังก์ชั่นครอบคลุมการใช้งานในราคาจับต้องได้ (Affordable price) แทน เพื่อให้เหมาะสมกับกำลังซื้อที่มีและป้องกันการเกิดปัญหาขาดสภาพคล่องในภายหลัง เห็นได้จากข้อมูลผู้เยี่ยมชมในเว็บไซต์ DDproperty.com ในปี 2021 ที่ค้นหาบ้านและคอนโดฯ ในระดับราคา 1-3 ล้านบาทมากที่สุด (21%) สะท้อนให้เห็นดีมานด์ของกลุ่มลูกค้าในตลาดกลาง-ล่าง โดยระดับราคานี้ตอบโจทย์ผู้ต้องการบ้านหลังแรกซึ่งมีจำนวนไม่น้อยในตลาด ตามมาด้วยระดับราคา 3-5 ล้านบาท และมากกว่า 15 ล้านบาท ในสัดส่วน 4% เท่ากัน โดยระดับราคาต่ำที่สุดที่มีคนค้นหาคือ 100,000 บาท และระดับราคาสูงที่สุดที่มีคนค้นหาคือ 500 ล้านบาท
    • ฟังก์ชั่นการใช้งานครบ ตอบโจทย์ครอบครัว ปัจจัยสำคัญอันดับต้น ๆ ที่ผู้บริโภคใช้พิจารณาเมื่อคิดจะซื้อ/เช่าที่อยู่อาศัยมักเป็นรูปแบบบ้าน/คอนโดฯ ที่ตอบโจทย์การอยู่อาศัยของสมาชิก ข้อมูลจากผู้เข้าเยี่ยมชมในเว็บไซต์ DDproperty.com ในปี 2021 สำหรับผู้ที่มีความต้องการซื้อ พบว่า ตัวกรองการค้นหา (Filter) ที่ใช้ทุกการค้นหาคือ “จำนวนห้องนอน” ตามมาด้วย “ราคา (21%)” และ “พื้นที่ใช้สอย (4%)”
DDproperty อัปเดตเทรนด์ที่อยู่อาศัยยุค Now Normal

โดยการค้นหาโดยใช้จำนวนห้องนอนเป็นตัวกรอง พบว่า คนที่ต้องการซื้อบ้านต้องการบ้านขนาด 2 ห้องนอน (3%), 3 ห้องนอน (2%) และ 1 ห้องนอน (1%) ส่วนการค้นหาโดยใช้จำนวนห้องน้ำเป็นตัวกรอง พบว่า ส่วนใหญ่ (49%) ต้องการบ้านที่มี 2 ห้องน้ำ รองลงมาคือ 1 ห้องน้ำ (28%) และ 3 ห้องน้ำ (16%) ตามลำดับ แสดงให้เห็นว่าผู้สนใจหาบ้านส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มครอบครัวขนาดกลางที่มีสมาชิกไม่มากนัก นอกจากนี้ กว่า 2 ใน 3 ของผู้ซื้อยังมองหาที่อยู่อาศัยที่มีเฟอร์นิเจอร์ครบ ตกแต่งพร้อมเข้าอยู่ได้ทันที (Fully Furnished) ถึง 68%

อัปเดตเทรนด์ที่อยู่อาศัยยุค Now Normal คนหาบ้าน 2022 ต้องการอะไรเมื่อคิดมีบ้าน?

ในขณะที่การเช่ากำลังได้รับความนิยมมากขึ้นในช่วงนี้ พบว่า ตัวกรองการค้นหาที่ใช้ทุกการค้นหาคือ “จำนวนห้องนอน” เช่นกัน ตามมาด้วย “ราคา (24%)” และ “พื้นที่ใช้สอย (8%)” หากโฟกัสไปที่การค้นหาโดยใช้จำนวนห้องนอนเป็นตัวกรอง พบว่า คนที่ค้นหาบ้านเช่าต้องการขนาด 2 ห้องนอน (10%), 1 ห้องนอน (6%) และ 3 ห้องนอน (4%) ส่วนการค้นหาโดยใช้จำนวนห้องน้ำเป็นตัวกรอง พบว่า ส่วนใหญ่ (47%) ต้องการบ้านที่มี 1 ห้องน้ำ รองลงมาคือ 2 ห้องน้ำ (42%) และ 3 ห้องน้ำ (8%) ตามลำดับ โดย 4 ใน 5 ของผู้เช่า (80%) ต้องการที่อยู่อาศัยที่มีเฟอร์นิเจอร์ครบพร้อมเข้าอยู่ทันที อำนวยความสะดวกให้ผู้เช่ามากขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องเตรียมงบสำหรับตกแต่งหรือซื้อเฟอร์นิเจอร์เพิ่มเติม

    • โอกาสทองของผู้ซื้อ ปล่อยเช่าสร้างรายได้ระยะยาว การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์เพื่อต่อยอดสร้างรายได้ยังคงเป็นที่นิยม เนื่องจากมีความต้องการในตลาดอยู่มาก ปัจจุบันเทรนด์การเช่ายังมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับสงครามราคาจากผู้พัฒนาอสังหาฯ ที่ทำให้เป็นโอกาสทองของผู้ซื้อ/นักลงทุนที่มีความพร้อมในการเลือกซื้อหรือลงทุนในทำเลที่มีศักยภาพเติบโตเพื่อนำมาลงทุนเก็งกำไรหรือปล่อยเช่าสร้างรายได้ในอนาคต เนื่องจากยังมีกลุ่มผู้บริโภคที่ต้องการเลือกเช่าที่อยู่อาศัยจำนวนไม่น้อย ข้อมูลจากผลสำรวจความคิดเห็นของผู้บริโภคต่อสภาพตลาดอสังหาริมทรัพย์ DDproperty’s Thailand Consumer Sentiment Study รอบล่าสุดพบว่า มากกว่าครึ่งของผู้เช่า (54%) วางแผนจะซื้อที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเองภายใน 5 ปีข้างหน้า ในขณะที่ 29% เผยว่ายังไม่ชัดเจนว่าจะเช่าเป็นระยะเวลายาวนานเท่าไร เมื่อพิจารณาจากข้อมูลผู้เข้าเยี่ยมชมในเว็บไซต์ DDproperty.com พบว่า ผู้เช่าส่วนใหญ่ (30%) ค้นหาบ้านเช่าในระดับราคาต่ำกว่า 10,000 บาทต่อเดือน ตามมาด้วยระดับราคา 10,000-20,000 บาทต่อเดือน (11%) และระดับราคามากกว่า 30,000 บาทต่อเดือน (5%) โดยระดับราคาต่ำที่สุดที่มีคนค้นหาคือ 1,000 บาทต่อเดือน และระดับราคาสูงที่สุดที่มีคนค้นหาคือ 3 ล้านบาทต่อเดือน (เช่าสิ่งปลูกสร้างหรือที่ดิน) ซึ่งเห็นได้ว่าผู้บริโภคบางส่วนยังมองว่าการเช่าแทนซื้อเป็นทางเลือกระยะสั้นที่น่าสนใจ นอกจากนี้การเช่ายังตอบโจทย์การทำงานและการใช้ชีวิตในเมืองหลวงมากกว่า เพราะลดภาระทางการเงินในการผ่อนชำระและให้ความยืดหยุ่นเรื่องค่าใช้จ่ายได้มากกว่า

อย่างไรก็ตาม ในปีนี้ยังถือเป็นปีที่ท้าทายของผู้พัฒนาอสังหาฯ ที่เริ่มต้นปีด้วยการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ 5 แม้หลายบริษัทจะส่งสัญญาณเปิดโครงการใหม่ ๆ มากขึ้น แต่ก็ต้องจับตามองว่าปีนี้ผู้พัฒนาอสังหาฯ จะนำกลยุทธ์ใดมาใช้ขับเคลื่อนตลาดให้เติบโต ในขณะเดียวกัน ฝั่งผู้บริโภคเองก็ต้องติดตามสถานการณ์และความเคลื่อนไหวของผู้ประกอบการอย่างใกล้ชิดก่อนตัดสินใจเลือกซื้อที่อยู่อาศัย เพื่อลดความเสี่ยงทางการเงินที่มีโอกาสผันผวนในช่วงนี้ และควรพิจารณาโครงการที่อยู่อาศัยที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของคนในครอบครัว ควบคู่ไปกับพิจารณาความคุ้มค่าด้านราคาเช่นกัน เว็บไซต์มาร์เก็ตเพลสด้านอสังหาริมทรัพย์อันดับ 1 ของไทยอย่างดีดีพร็อพเพอร์ตี้ (https://www.ddproperty.com) ได้รวบรวมข้อมูลประกาศซื้อ/ขาย/เช่าอสังหาฯ ทั้งโครงการใหม่และมือสองในหลากหลายทำเลทั่วประเทศ พร้อมรีวิวโครงการที่น่าสนใจ และนำเสนอความรู้ที่เป็นประโยชน์ในการซื้อ/ขาย/เช่า เพื่อเตรียมความพร้อมให้ทุกคนสามารถมีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเองได้อย่างมั่นใจและง่ายยิ่งขึ้น

อาลีบาบาคาดการณ์ 10 อันดับเทรนด์เทคโนโลยีพุ่งแรง

อาลีบาบาคาดการณ์ 10 อันดับเทรนด์เทคโนโลยีพุ่งแรง

อาลีบาบาคาดการณ์ 10 อันดับเทรนด์เทคโนโลยีพุ่งแรง

Alibaba DAMO Academy (DAMO) สถาบันเพื่อการวิจัยด้านเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ระดับโลกของอาลีบาบา กรุ๊ป นำเสนอการคาดการณ์แนวโน้มสำคัญที่จะกำหนดทิศทางของอุตสาหกรรมเทคโนโลยี

DAMO นำเสนอแนวโน้ม 10 อันดับเทคโนโลยีสำคัญที่จะเกิดขึ้นในช่วงสองถึงห้าปีข้างหน้า ซึ่งได้จากการวิเคราะห์เอกสารที่ตีพิมพ์เผยแพร่สู่สาธารณะ การยื่นจดทะเบียนสิทธิบัตรในช่วงสามปีที่ผ่านมา และการสัมภาษณ์นักวิทยาศาสตร์เกือบ 100 คน ทำให้สามารถคาดการณ์ได้ว่าเราจะได้เห็นการพัฒนาที่ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมทุกภาคส่วนในวงกว้าง

นายเจฟฟ์ จาง Head of Alibaba DAMO Academy กล่าวว่า “ตลอดศตวรรษที่ผ่านมา วิวัฒนาการทางเทคโนโลยีดิจิทัลต่าง ๆ เป็นปัจจัยเร่งให้เกิดความก้าวหน้าทางดิจิทัลและการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็ว การนำเทคโนโลยีไปใช้ได้ขยายขอบเขตจากโลกทางกายภาพไปสู่โลกที่ผสมผสานระหว่างโลกจริงกับโลกเสมือนเข้าด้วยกัน (mixed reality: MR) ในขณะเดียวกันก็มีการนำเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยไปใช้ประโยชน์ในภาคอุตสาหกรรมมากขึ้นเรื่อย ๆ

“เทคโนโลยีดิจิทัลมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนอนาคตที่ยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นการนำไปใช้ในอุตสาหกรรมใด เช่น ดาต้าเซ็นเตอร์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการผลิตที่ประหยัดพลังงาน หรือในกิจกรรมประจำวัน เช่น สำนักงานไร้กระดาษ เป็นต้น อาจกล่าวได้ว่าเราจะสร้างอนาคตที่ดีขึ้นได้ด้วยเทคโนโลยี”

Alibaba Unveils Forecast of Top 10 Leading Tech Trends

คาดการณ์แนวโน้มสำคัญ: ในอีกสองปีถึงห้าปีข้างหน้าจะมีแอปพลิเคชันที่ทำงานอยู่บนระบบการประมวลผลแบบใหม่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ดังนี้

#1 Cloud-Network-Device Convergence
การพัฒนาอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีด้านเครือข่ายใหม่ ๆ จะขับเคลื่อนวิวัฒนาการของคลาวด์คอมพิวติ้ง ไปสู่ระบบการประมวลผลแบบใหม่ ที่เป็นการรวมอุปกรณ์เครือข่ายบนคลาวด์เข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งคลาวด์ เน็ตเวิร์ก และอุปกรณ์ต่าง ๆ ในระบบใหม่นี้จะมีการแบ่งงานที่ชัดเจนยิ่งขึ้น การรวมเครือข่ายระบบคลาวด์ ไว้ด้วยกันจะเป็นตัวเร่งผลักดันให้เกิดแอปพลิเคชันใหม่ ๆ เพื่อตอบสนองงานที่มีความต้องการมากขึ้น เช่น การจำลองทางอุตสาหกรรมที่มีความแม่นยำสูง การตรวจสอบคุณภาพทางอุตสาหกรรมแบบเรียลไทม์ และ mixed reality ในอีก 2 ปีข้างหน้า เราคาดว่าจะได้เห็นแอปพลิเคชันที่ทำงานบนระบบประมวลผลใหม่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ในอีกสามปีข้างหน้า เราคาดว่าจะได้เห็นการนำ AI ไปใช้อย่างกว้างขวางในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ประยุกต์ การใช้ชิปซิลิคอนโฟโตนิคที่ส่งข้อมูลด้วยแสง (Silicon Photonic Chips) การใช้ AI ปูทางไปสู่การรวมแหล่งพลังงานหมุนเวียนเข้ากับโครงข่ายไฟฟ้า การรักษาแบบแม่นยำจำเพาะที่เน้นผู้ป่วยเป็นศูนย์กลางในการรักษา (people-centric precision medicine) ที่กำลังเป็นเทรนด์สำคัญ การปรับปรุงที่ก้าวล้ำด้านประสิทธิภาพและความสามารถในการเข้าใจการประมวลผลแบบรักษาความเป็นส่วนตัว รวมถึงแว่นตา XR รุ่นใหม่ที่รวมองค์ประกอบของ VR และ AR เพื่อแสดงภาพดิจิทัลเหนือสภาพแวดล้อมจริง เป็นต้น

#2 AI for Science (AI กับการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์)
เมื่อหลายร้อยปีที่ผ่านมา ชุมชนวิทยาศาสตร์มีกระบวนทัศน์พื้นฐานสองประการ ได้แก่ วิทยาศาสตร์เชิงทดลองและวิทยาศาสตร์เชิงทฤษฎี ทุกวันนี้ความก้าวหน้าของ AI ทำให้กระบวนทัศน์ทางวิทยาศาสตร์ใหม่ ๆ เป็นไปได้ แมชชีนเลิร์นนิ่งสามารถประมวลผลข้อมูลจำนวนมากที่มีหลากหลายมิติและในหลายรูปแบบ พร้อมแก้ไขปัญหาทางวิทยาศาสตร์ที่ซับซ้อนได้ ช่วยให้การค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์เติบโตขึ้นในเรื่องที่เคยคิดว่าเป็นไปไม่ได้ ไม่เพียงแต่ AI จะเป็นตัวเร่งให้การวิจัยทางวิทยาศาสตร์รวดเร็วขึ้นเท่านั้นแต่ยังช่วยในการค้นพบกฎทางวิทยาศาสตร์ใหม่ ๆ อีกด้วย ในอีก 3 ปีข้างหน้า เราคาดว่าจะมีการนำ AI ไปใช้อย่างกว้างขวางในกระบวนการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ประยุกต์ และใช้เป็นเครื่องมือการผลิตในวิทยาศาสตร์พื้นฐานด้านต่าง ๆ

#3 Silicon Photonic Chips (ชิปซิลิคอนที่ส่งข้อมูลด้วยแสง)
เมื่อขนาดของทรานซิสเตอร์ใกล้ถึงขีดจำกัดทางกายภาพ ความเร็วของการพัฒนาชิปอิเล็กทรอนิกส์จะไม่สามารถตอบสนองความต้องการด้านปริมาณข้อมูลที่เพิ่มขึ้นที่เกิดจากการเพิ่มขึ้นของการประมวลผลประสิทธิภาพสูงอีกต่อไป silicon photonic chips ต่างจากชิปอิเล็กทรอนิกส์ตรงที่ใช้โฟตอน (photons) แทนอิเล็กตรอน (electrons) เพื่อส่งข้อมูล โฟตอนจะไม่มีปฏิกิริยาโต้ตอบกันโดยตรง และสามารถเคลื่อนที่ในระยะทางที่ไกลกว่า ดังนั้น silicon photonic chips จึงสามารถเพิ่มความหนาแน่นในการประมวลผลและประสิทธิภาพในการใช้พลังงานให้สูงขึ้น ส่วนการเติบโตของคลาวด์คอมพิวติ้งและ AI ก็ขับเคลื่อนการพัฒนาเทคโนโลยี silicon photonic chips อย่างรวดเร็ว ในอีก 3 ปีข้างหน้า เราสามารถคาดหวังว่าจะได้เห็นการใช้ silicon photonic chips อย่างแพร่หลายในการรับส่งข้อมูลความเร็วสูงในดาต้าเซ็นเตอร์ขนาดใหญ่

#4 AI for Renewable Energy (AI กับพลังงานหมุนเวียน)
การพัฒนาอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีด้านพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทำให้พลังงานหมุนเวียนเป็นแหล่งพลังงานน่าสนใจที่จะเพิ่มเข้าไปในโครงข่ายไฟฟ้า อย่างไรก็ตาม ปัญหาต่าง ๆ เช่น ความยุ่งยากในการรวมระบบโครงข่าย อัตราการใช้พลังงานต่ำ และการจัดเก็บพลังงานส่วนเกิน ล้วนเป็นอุปสรรคใหญ่ในการดำเนินการ เนื่องจากลักษณะที่คาดเดาไม่ได้ของการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน และการรวมแหล่งพลังงานหมุนเวียนเข้ากับโครงข่ายไฟฟ้า ทำให้เกิดความท้าทายที่ส่งผลต่อความปลอดภัยและความน่าเชื่อถือของโครงข่ายไฟฟ้า การประยุกต์ใช้ AI ในภาคอุตสาหกรรมจึงมีความสำคัญยิ่งต่อการปรับปรุงประสิทธิภาพ และระบบอัตโนมัติของระบบไฟฟ้ากำลัง ตลอดจนการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดและมีเสถียรภาพ ซึ่งจะเอื้อให้บรรลุเป้าหมาย carbon neutrality ที่จะไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศเพิ่มขึ้น ในอีก 3 ปีข้างหน้า คาดว่าจะมีการนำ AI ไปใช้เพื่อปูทางไปสู่การรวมแหล่งพลังงานหมุนเวียนเข้ากับโครงข่ายไฟฟ้า ตลอดจนมีส่วนสนับสนุนในการดำเนินงานของโครงข่ายไฟฟ้าที่ปลอดภัย มีประสิทธิภาพ และเชื่อถือได้

#5 High-precision Medicine (การรักษาแบบแม่นยำและจำเพาะสูง)
การแพทย์เป็นเรื่องที่ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญเฉพาะของแต่ละบุคคลเป็นอย่างมาก และมักจะเกี่ยวข้องกับการลองผิดลองถูกอย่างสูง และท้ายที่สุดอาจมีประสิทธิภาพแตกต่างกันไปตามผู้ป่วยแต่ละราย เป็นที่คาดกันว่าการนำ AI มารวมกับการรักษาที่แม่นยำ จะช่วยกระตุ้นการบูรณาการความเชี่ยวชาญและเทคโนโลยีการวินิจฉัยใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น และทำหน้าที่เป็นเข็มทิศนำทางที่มีความแม่นยำสูงสำหรับเวชศาสตร์คลีนิก ซึ่งแพทย์สามารถใช้เข็มทิศนี้วินิจฉัยโรคและตัดสินใจทางการแพทย์ได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ความก้าวหน้าเหล่านี้จะช่วยให้เราสามารถวัด คำนวณ คาดการณ์ และป้องกันโรคร้ายแรงได้ ในอีก 3 ปีข้างหน้าเราคาดว่า จะได้เห็นการรักษาแบบแม่นยำและจำเพาะโดยอาศัยข้อมูลทางพันธุกรรม หรือข้อมูลในระดับโมเลกุลมาใช้ในการตรวจวินิจฉัยที่เน้นผู้ป่วยเป็นศูนย์กลางในการรักษา ซึ่งจะกลายเป็นเทรนด์สำคัญที่ครอบคลุมการดูแลสุขภาพในด้านต่าง ๆ รวมถึงการป้องกัน การวินิจฉัย และการรักษาโรค AI จะเปรียบเสมือนกับเข็มทิศที่มีความแม่นยำสูง ที่จะช่วยให้เราสามารถระบุโรคและการรักษาได้

#6 Privacy-preserving Computation (การประมวลผลแบบรักษาความเป็นส่วนตัว)
เนื่องจากข้อจำกัดด้านประสิทธิภาพ การขาดความมั่นใจในเทคโนโลยี และข้อกังวลด้านมาตรฐานต่าง ๆ ทำให้การประยุกต์ใช้การประมวลผลเพื่อรักษาความเป็นส่วนตัว ถูกจำกัดให้อยู่ในขอบเขตแคบ ๆ ของการประมวลผลที่มีขนาดเล็กมาตลอด อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเทคโนโลยีมีการบูรณาการมากขึ้นเรื่อย ๆ เช่น ชิปที่มีการทำงานเฉพาะ อัลกอริธึมการเข้ารหัส การใช้งานไวท์บ็อกซ์ (whitebox) ที่เป็นคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลหรือเซิร์ฟเวอร์ประกอบเองที่ไม่มีแบรนด์ รวมถึงความน่าเชื่อถือของข้อมูล ฯลฯ กำลังเกิดขึ้น ดังนั้นจึงจะมีการประมวลผลแบบรักษาความเป็นส่วนตัวนำมาใช้ในสถานการณ์ต่าง ๆ เช่น การประมวลผลข้อมูลจำนวนมหาศาล และการผสานรวมข้อมูลจากทุกโดเมน ซึ่งเป็นความก้าวหน้าที่เกิดจากการประมวลผลข้อมูลจำนวนเล็กน้อย และข้อมูลจากโดเมนส่วนตัวเข้าไว้ด้วยกัน การนำไปใช้งานจะเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานใหม่ที่ขับเคลื่อนโดยข้อมูลจากทุกโดเมน ในอีก 3 ปีข้างหน้าเราจะเห็นการปรับปรุงที่ก้าวล้ำด้านประสิทธิภาพ และความสามารถในการเข้าใจการประมวลผลแบบรักษาความเป็นส่วนตัว และจะได้เห็นหน่วยงานด้านความน่าเชื่อถือของข้อมูลที่ให้บริการแบ่งปันข้อมูลต่าง ๆ ผ่านการใช้เทคโนโลยีเพิ่มขึ้น

#7 Extended Reality: XR (เทคโนโลยีโลกเสมือนจริง – XR)
การพัฒนาเทคโนโลยี เช่น การประมวลผลแบบเอดจ์บนคลาวด์ การเชื่อมต่อเครือข่าย และดิจิทัลทวิน
ทำให้เทคโนโลยี XR เติบโตเต็มที่ แว่นตา XR ให้คำมั่นที่จะทำให้โลกเสมือนบนอินเทอร์เน็ตใกล้ความเป็นจริงมากที่สุด นวัตกรรมนี้ได้หว่านเมล็ดพันธุ์ที่จะแตกหน่อในระบบนิเวศอุตสาหกรรมใหม่ ที่รวมถึงส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์ ระบบปฏิบัติการ และการใช้งานในด้านต่าง ๆ เทคโนโลยี XR จะเปลี่ยนโฉมแอปพลิเคชันดิจิทัล และปฏิวัติวิธีที่ผู้คนมีส่วนร่วมกับเทคโนโลยีในเรื่องต่าง ๆ เช่น ความบันเทิง โซเชียลเน็ตเวิร์ก ออฟฟิศ ช็อปปิ้ง การศึกษา และการดูแลสุขภาพ ฯลฯ ในอีก 3 ปีข้างหน้า เราคาดว่าจะได้เห็นแว่นตา XR รุ่นใหม่ที่มีรูปลักษณ์ และให้ความรู้สึกที่ไม่ผิดเพี้ยนไปจากแว่นตาทั่วไปออกสู่ตลาด และจะเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญสู่อินเทอร์เน็ตในยุคต่อไป

#8 Perceptive Soft Robotics
หุ่นยนต์นิ่ม (Perceptive Soft Robotics) แตกต่างจากหุ่นยนต์ทั่วไป ตรงที่มีส่วนต่าง ๆ ที่ยืดหยุ่นได้ และมีความสามารถในการรับรู้ต่อแรงกด การมองเห็น และเสียง หุ่นยนต์เหล่านี้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่ล้ำสมัย เช่น อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ยืดหยุ่นได้ วัสดุที่รองรับแรงกด และ AI ซึ่งช่วยให้ทำงานพิเศษและงานที่มีความซับซ้อนสูง อีกทั้งยังสามารถเปลี่ยนรูปเพื่อปรับให้เข้ากับสภาพแวดล้อมทางกายภาพที่แตกต่างกันได้ การเกิดขึ้นของหุ่นยนต์นิ่มจะช่วยเปลี่ยนทิศทางของอุตสาหกรรมการผลิต ตั้งแต่การผลิตสินค้ามาตรฐานจำนวนมาก ไปจนถึงสินค้าเฉพาะกลุ่มที่มีการผลิตจำนวนน้อย ในอีก 5 ปีข้างหน้า จะมีการนำหุ่นยนต์นิ่มมาใช้แทนที่หุ่นยนต์ทั่วไปในอุตสาหกรรมการผลิต และปูทางไปสู่การใช้เป็นหุ่นยนต์บริการในชีวิตประจำวันมากขึ้น

#9 Satellite-terrestrial Integrated Computing (การประมวลผลแบบบูรณาการผ่านดาวเทียมและภาคพื้นดิน – STC)
เครือข่ายภาคพื้นดินและระบบการประมวลผลมีการให้บริการดิจิทัลสำหรับพื้นที่ที่มีประชากรหนาแน่น แต่จะไม่มีบริการในพื้นที่ที่มีประชากรเบาบาง เช่น ทะเลทราย ทะเล และอวกาศ เป็นต้น STC จะเชื่อมต่อกับดาวเทียมแบบ High-Earth Orbit (HEO) ที่มีวงโคจรสูง และแบบ Low-Earth Orbit (LEO) ที่มีวงโคจรต่ำ และเครือข่ายการสื่อสารเคลื่อนที่ภาคพื้นดิน ครอบคลุมไร้รอยต่อในทุกมิติ นอกจากนี้ STC ยังสร้างระบบประมวลผลที่รวมดาวเทียม เครือข่ายดาวเทียม ระบบสื่อสารภาคพื้นดิน และเทคโนโลยีคลาวด์คอมพิวติ้งเข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งจะทำให้เกิดการเข้าถึงบริการดิจิทัลได้มากขึ้น และครอบคลุมทั่วโลก ในอีก 5 ปีข้างหน้า ดาวเทียมและระบบภาคพื้นดินจะทำงานร่วมกันเป็นโหนดการประมวลผล เพื่อสร้างระบบเครือข่ายแบบครบวงจรที่ให้การเชื่อมต่อทั่วทุกพื้นที่

และยิ่งไปกว่านั้น เราคาดหวังว่าในอนาคต AI จะเปลี่ยนไปเป็นวิวัฒนาการร่วมกันของโมเดลขนาดใหญ่และขนาดเล็ก ผ่านระบบคลาวด์ เอดจ์ และอุปกรณ์ต่าง ๆ

#10 วิวัฒนาการร่วมของโมเดล AI ขนาดใหญ่และขนาดเล็ก
โมเดลก่อนการฝึกอบรม หรือที่เรียกกันว่าโมเดลพื้นฐาน เป็นเทคนิคก้าวล้ำในการพัฒนาพื้นฐานตั้งแต่ AI เฉพาะทาง (Weak AI) ที่มีความสามารถเฉพาะด้าน ไปจนถึง AI ทั่วไป (General AI) ที่มีความสามารถดัดแปลงความรู้และทักษะได้ระดับหนึ่ง ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของแอปพลิเคชันต่าง ๆ โดยใช้การเรียนรู้เชิงลึกที่เป็นมาตรฐาน อย่างไรก็ตาม ข้อดีในด้านประสิทธิภาพที่สูงขึ้น และข้อเสียในด้านการใช้พลังงานนั้นไม่สมดุลกัน จึงทำให้การสำรวจโมเดลขนาดใหญ่มีข้อจำกัด AI ในอนาคตกำลังเปลี่ยนจากการแข่งขันด้านความสามารถในการปรับขนาดของโมเดลพื้นฐาน ไปสู่การพัฒนาร่วมกันของโมเดลขนาดใหญ่และขนาดเล็ก ผ่านระบบคลาวด์ เอดจ์ และอุปกรณ์ต่าง ๆ ซึ่งเป็นประโยชน์มากกว่าในทางปฏิบัติ