วัดชีพจรอสังหาฯ อาเซียน คนพร้อมมีบ้านมากแค่ไหนในยุคโควิด

วัดชีพจรอสังหาฯ อาเซียน คนพร้อมมีบ้านมากแค่ไหนในยุคโควิด

วัดชีพจรอสังหาฯ อาเซียน คนพร้อมมีบ้านมากแค่ไหนในยุคโควิด

แม้ผู้บริโภคจะเรียนรู้ที่จะปรับตัวเพื่อใช้ชีวิตในยุคโควิด-19 แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าผลจากการแพร่ระบาดฯ ที่ยาวนานส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ กระทบต่อภาคธุรกิจและกำลังซื้อของผู้บริโภคอย่างหนักหน่วง ข้อมูลจากรายงาน “Southeast Asia Rising from the Pandemic” ของธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) เผยว่า การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ในปี 2564 ประชากรในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 4.7 ล้านคนอยู่ในระดับความยากจนขั้นรุนแรง นอกจากนี้ยังคาดว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนในปี 2565 จะส่งผลให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้ลดลง 0.8% เช่นกัน สะท้อนให้เห็นว่าปีนี้ยังคงต้องจับตามองสภาพคล่องและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคอย่างใกล้ชิดต่อไป

ตลาดอสังหาริมทรัพย์นั้นได้รับผลกระทบโดยตรงในช่วงแรก ทำให้ผู้ประกอบการต่างงัดกลยุทธ์มาใช้เพื่อช่วยขับเคลื่อนการเติบโตในตลาดและกระตุ้นการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคที่ต้องการมีบ้านอย่างต่อ​เนื่อง ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ (DDproperty) เว็บไซต์มาร์เก็ตเพลสด้านอสังหาริมทรัพย์อันดับ 1 ของไทย เผยข้อมูลจากแบบสอบถามความคิดเห็นของผู้บริโภคที่มีต่อตลาดที่อยู่อาศัยในไทย DDproperty’s Thailand Consumer Sentiment Study และแบบสอบถามความคิดเห็นของผู้บริโภคในอาเซียนรอบล่าสุด (ประกอบด้วยประเทศสิงคโปร์, มาเลเซีย, อินโดนีเซีย และเวียดนาม) จากเว็บไซต์ในเครือ PropertyGuru Group (พร็อพเพอร์ตี้กูรู กรุ๊ป) พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นด้านอสังหาริมทรัพย์โดยรวมของทั้งภูมิภาคมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงครึ่งปีหลังของปี 2564 สะท้อนให้เห็นว่าผู้บริโภคสามารถปรับตัวให้พร้อมอยู่ร่วมกับโควิด-19 เพื่อดำเนินชีวิตต่อไปให้เหมือนปกติได้และมีความมั่นใจในการซื้อที่อยู่อาศัย​อีกครั้ง โดยคะแนนดัชนีความเชื่อมั่นของชาวอินโดนีเซียอยู่ที่ 57% ซึ่งสูงที่สุดในอาเซียน ตามมาด้วยของชาวสิงคโปร์อยู่ที่ 51% ชาวเวียดนามอยู่ที่ 47% ด้านชาวมาเลเซียอยู่ที่ 46% ขณะที่ชาวไทยอยู่ที่ 45% ซึ่งต่ำกว่าทุกประเทศในตลาดอาเซียน 

ขณะเดียวกันอสังหาริมทรัพย์ถือเป็นทรัพย์สินที่มีความผันผวนต่ำเมื่อเทียบกับการลงทุนแบบอื่น แม้ผู้บริโภคไม่ได้อยู่อาศัยเองแต่มองถึงโอกาสต่อยอดลงทุนในระยะยาว จึงเป็นอีกปัจจัยที่ส่งเสริมให้ดัชนีความเชื่อมั่นที่อยู่อาศัยรอบล่าสุดนี้เติบโตเช่นกัน เห็นได้ชัดจากการที่ 3 ใน 4 ของผู้บริโภคในประเทศมาเลเซีย (77%), อินโดนีเซีย (77%), เวียดนาม (77%) และไทย (78%) เผยว่า ตั้งใจจะซื้อบ้านใหม่เพิ่มโดยที่ยังเก็บบ้านเดิมเอาไว้ ขณะที่สิงคโปร์มีเพียงแค่ 46% เนื่องจากมากกว่าครึ่งวางแผนจะขายบ้านเดิมก่อนที่จะซื้อบ้านใหม่ โดยเหตุผลสำคัญในการซื้อบ้านเพิ่มนั้นผู้บริโภคชาวมาเลเซีย (53%) ชาวอินโดนีเซีย (66%) และชาวสิงคโปร์ (63%) มองที่การลงทุนเป็นหลัก ด้านชาวเวียดนามส่วนใหญ่ต้องการซื้อให้บุตรหลาน (54%) ขณะที่เหตุผลชาวไทยซื้อบ้านใหม่เพื่อตั้งใจเก็บไว้อยู่ตอนเกษียณ (31%)

เมื่อโควิดตั้งอยู่และยังไม่ดับไป ส่งผลกระทบอย่างไรต่อคนหาบ้านอาเซียน

ข้อมูลจากแบบสอบถามความคิดเห็นของผู้บริโภคที่มีต่อตลาดที่อยู่อาศัยล่าสุดใน 5 ตลาดหลักของอาเซียน เผยให้เห็นมุมมองและความต้องการที่อยู่อาศัยที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภคหลังเผชิญการแพร่ระบาดฯ มาอย่างยาวนาน ตัวแปรสำคัญที่มีผลต่อการเลือกซื้อที่อยู่อาศัยจึงไม่ใช่แค่ราคาอีกต่อไป แต่คนหาบ้านยังมองเรื่องสุขภาพและความสะดวกในการใช้ชีวิตเป็นหลักด้วย 

    • หลังจากปรับตัวอยู่ร่วมกับการแพร่ระบาดฯ ที่ยาวนาน ชาวสิงคโปร์ส่วนใหญ่เผยว่าเทรนด์ที่อยู่อาศัยที่ต้องการในอนาคตแม้จะไม่มีการแพร่ระบาดฯ แล้วคือ การมีบ้าน/คอนโดฯ ที่มีขนาดใหญ่ขึ้น (42%) เนื่องจากต้องการพื้นที่ใช้สอยที่รองรับไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตที่บ้านของสมาชิกในครอบครัว และมากกว่าครึ่งของชาวสิงคโปร์ (55%) คาดว่าราคาอสังหาฯ จะมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นหลังวิกฤติโควิด-19 สิ้นสุดลง ซึ่งเกือบ 3 ใน 4 (73%) ของชาวสิงคโปร์เผยว่าโครงการที่เดินทางสะดวกด้วยระบบขนส่งสาธารณะเป็นคุณสมบัติที่อยู่อาศัยที่สำคัญและจำเป็นต้องมีทั้งในปัจจุบันและยุคหลังโควิด-19 อย่างไรก็ดี ชาวสิงคโปร์นั้นมีมุมมองด้านความต้องการดูแลสุขภาพในอนาคตที่แตกต่างจากประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน โดยส่วนใหญ่ (43%) มองว่าโครงการที่อยู่อาศัยที่ใกล้กับสถานพยาบาล/ศูนย์ดูแลสุขภาพไม่ได้มีผลต่อการตัดสินใจเลือกซื้อ/เช่าที่อยู่อาศัย เนื่องจากทุกพื้นที่ในประเทศสามารถเข้าถึงบริการดังกล่าวได้อย่างเท่าเทียมกันอยู่แล้ว 
    • ขณะที่เทรนด์ที่อยู่อาศัยที่ชาวมาเลเซียมองว่าตอบโจทย์การใช้ชีวิตในอนาคตมากที่สุดคือ บ้าน/คอนโดฯ ที่ใกล้ชิดธรรมชาติมากถึง 53% สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการใช้ชีวิตท่ามกลางพื้นที่สีเขียวทดแทนที่ไม่ได้ไปแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติในยุคโควิด ขณะที่ 2 ใน 3 ของชาวมาเลเซีย (67%) เผยว่า ที่อยู่อาศัยที่ตั้งอยู่ใกล้โรงพยาบาลเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดเมื่อวางแผนซื้อบ้านเพื่อรองรับการดูแลสุขภาพในอนาคต นอกจากนี้ 69% เผยว่าบ้าน/คอนโดฯ ที่ตั้งอยู่ใกล้สิ่งอำนวยความสะดวกอย่างครบครันถือเป็นคุณสมบัติหลักที่ที่อยู่อาศัยต้องมีทั้งในปัจจุบันและเมื่อการแพร่ระบาดฯ สิ้นสุด โดยมากกว่าครึ่งของชาวมาเลเซีย (57%) คาดหวังว่าหากการแพร่ระบาดฯ จบลง ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์จะหันมาแข่งจัดโปรโมชั่นที่คุ้มค่าเพื่อเร่งระบายสินค้าคงค้างในตลาด ซึ่งถือเป็นโอกาสอันดีสำหรับผู้ที่ต้องการมีบ้าน/คอนโดฯ เนื่องจากชาวมาเลเซียส่วนใหญ่ (47%) มองว่าอุปสรรคสำคัญที่สุดในการยื่นขอสินเชื่อที่อยู่อาศัยในตอนนี้มาจากหน้าที่การงานและรายได้ที่ไม่มั่นคง
    • ด้านเทรนด์ความต้องการที่อยู่อาศัยของชาวอินโดนีเซียนั้น เกือบครึ่ง (47%) ต้องการอาศัยในทำเลที่ไม่แออัดหรือย่านชานเมือง เนื่องจากยังมีความกังวลเรื่องสุขอนามัยและการรักษาระยะห่างทางสังคม ครึ่งหนึ่งของชาวอินโดนีเซีย (50%) คาดว่าเมื่อการแพร่ระบาดฯ สิ้นสุดลงจะส่งผลให้ราคาที่อยู่อาศัยปรับตัวสูงขึ้นตามกลไกของตลาดที่ฟื้นตัว สำหรับคุณสมบัติสำคัญอันดับต้น ๆ ที่บ้าน/คอนโดฯ ยุคโควิดต้องมีในมุมมองของชาวอินโดนีเซียนั้นจะให้ความสำคัญใน 2 ปัจจัยเท่ากัน คือ โครงการที่ใกล้ชิดธรรมชาติ (60%) และอยู่ในทำเลที่เดินทางสะดวกด้วยระบบขนส่งสาธารณะ (60%) อย่างไรก็ดี ปัจจัยหลักที่ชาวอินโดนีเซียใช้พิจารณาเมื่อยื่นขอสินเชื่อที่อยู่อาศัยมาจากอัตราการผ่อนชำระถึง 78% เนื่องจากหลังเผชิญวิกฤติ​การแพร่ระบาดฯ ที่ยาวนาน ส่งผลกระทบต่ออาชีพและรายได้ที่ไม่แน่นอนซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญที่สุดเมื่อขอสินเชื่อบ้าน (57%)
    • 3 ใน 5 ของชาวเวียดนาม (61%) เผยว่าเทรนด์ที่อยู่อาศัยที่มองหาในอนาคตคือ มีบ้าน/คอนโดฯ ที่ใกล้ชิดธรรมชาติ/มีพื้นที่ทำสวน สอดคล้องกับแผนดูแลสุขภาพที่ชาวเวียดนามส่วนใหญ่ (48%) มองว่าที่อยู่อาศัยในอนาคตต้องตั้งอยู่ใกล้โรงพยาบาล เพื่อรองรับการดูแลสุขภาพยามเจ็บป่วย สะท้อนให้เห็นถึงการเตรียมพร้อม​เพื่อสร้างสุขภาพ​ที่ดีทั้งจากภายนอกและภายใน นอกจากนี้ ชาวเวียดนามให้ความสำคัญกับสมาชิกในครอบครัวมาเป็นอันดับต้น ๆ โดยคุณสมบัติสำคัญของที่อยู่อาศัยในฝันอันดับแรกคือ ต้องมีสนามเด็กเล่นหรือแหล่งเรียนรู้รองรับการใช้ชีวิตของบุตรหลาน (58%) นอกจากนี้ชาวเวียดนาม 48% คาดว่าผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์จะเปิดตัวโปรโมชั่นมากขึ้นเพื่อกระตุ้นการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยที่คงค้างในยุคหลังโควิด อย่างไรก็ตาม เกือบ 4 ใน 5 (79%) มองว่า ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ควรกังวลและให้ความสำคัญเกี่ยวกับสถานการณ์อุปทานล้นตลาดด้วย หลังจากมีบทเรียนจากภาคอสังหาฯ ในจีนที่เผชิญวิกฤตขาดสภาพคล่อง 
    • ชาวไทยให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพมากขึ้น โดยเกือบ 9 ใน 10 (88%) วางแผนเลือกซื้อ/เช่าที่อยู่อาศัยที่อยู่ใกล้โรงพยาบาล ซึ่งถือว่าสูงที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในอาเซียน โดย 66% มองว่าคุณสมบัติสำคัญที่บ้าน/คอนโด​ฯ ยุคใหม่จำเป็นต้องมีคือ การออกแบบให้อากาศถ่ายเทสะดวกและมีแสงธรรมชาติเพียงพอ นอกจากนี้ มากกว่า 3 ใน 4 ของชาวไทย (77%) เผยว่าอัตราดอกเบี้ยเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่พิจารณาเมื่อต้องยื่นขอสินเชื่อที่อยู่อาศัย โดย 59% เผยว่าความไม่มั่นคงของหน้าที่การงานและความผันผวนของรายได้ถือเป็นอุปสรรคสำคัญในการเข้าถึงสินเชื่อที่อยู่อาศัย ซึ่งเป็นผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 และเศรษฐกิจที่ชะลอตัวต่อเนื่อง ขณะที่ชาวไทยถึง 95% มองว่า ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ควรกังวลกับภาวะอุปทานล้นตลาดในปัจจุบัน เพื่อป้องกันวิกฤติฟองสบู่ในตลาดอสังหาฯ เนื่องจากกำลังซื้อผู้บริโภคจะยังไม่ฟื้นตัวในเร็ว ๆ นี้ รวมทั้งมาตรการพิจารณาสินเชื่อของธนาคารที่มีความเข้มงวดขึ้น อาจทำให้ดีมานด์การซื้อไม่เพียงพอจะดูดซับอุปทานคงค้างได้ทันท่วงที อย่างไรก็ดี มีเพียงผู้บริโภค​กลุ่มมิลเลนเนียลชาวไทยเท่านั้นที่เผยว่ายังไม่มีแผนย้ายออกจากบ้านพ่อแม่ภายใน 1 ปีข้างหน้า (54%) เนื่องจากต้องการอยู่ดู​แลพ่อแม่ และยังไม่มีเงินเก็บมากพอที่จะซื้อ/เช่าที่อยู่อาศัย​ของตัวเอง ต่างจากกลุ่มมิลเลนเนียลชาวอินโดนีเซีย, ชาวสิงคโปร์​ และชาวเวียดนามที่มากกว่าครึ่งเผยว่าตั้งใจจะย้ายออกภายในปีหน้า (85%, 76% และ 51% ตามลำดับ) ซึ่งถือเป็นกำลังสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนการเติบโตในตลาดอสังหาฯ

สามารถอ่านข้อมูลจากแบบสอบถามฉบับเต็มของแต่ละประเทศได้ที่ 

อาลีบาบา กรุ๊ป เข้าร่วมกลุ่ม Low Carbon Patent Pledge เพื่อเร่งการใช้เทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

อาลีบาบา กรุ๊ป เข้าร่วมกลุ่ม Low Carbon Patent Pledge

อาลีบาบา กรุ๊ป เข้าร่วมกลุ่ม Low Carbon Patent Pledge เพื่อเร่งการใช้เทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

      • อาลีบาบา กรุ๊ป เปิดให้ใช้งานสิทธิบัตรด้านเทคโนโลยีประหยัดพลังงานเก้าฉบับโดยไม่มีค่าใช้จ่ายเป็นครั้งแรก
      • อาลีบาบา คลาวด์ ตั้งเป้าขับเคลื่อนให้ดาต้าเซ็นเตอร์ทั้งหมดทั่วโลกของบริษัทฯ ทำงานด้วยพลังงานสะอาดภายในปี 2573

อาลีบาบา กรุ๊ป โฮลดิ้ง จำกัด (NYSE: BABA และ HKEX: 9988, “อาลีบาบา” หรือ “อาลีบาบา กรุ๊ป”) เข้าร่วมกลุ่ม Low Carbon Patent Pledge (LCPP) ซึ่งเป็นเวทีระหว่างประเทศที่ส่งเสริมการแบ่งปันสิทธิบัตรด้านเทคโนโลยีที่ใช้คาร์บอนต่ำต่าง ๆ เพื่อเร่งให้เกิดการนำเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาใช้ และสนับสนุนการสร้างสรรค์นวัตกรรมร่วมกัน ด้วยการให้บุคคลภายนอกสามารถใช้สิทธิบัตรสำคัญด้านเทคโนโลยีดาต้าเซ็นเตอร์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของบริษัทฯ จำนวนเก้าฉบับได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย และเพื่อให้สอดคล้องกับการสนับสนุนความคิดริเริ่มการดำเนินการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมดังกล่าว อาลีบาบา คลาวด์ ธุรกิจด้านเทคโนโลยีดิจิทัลและหน่วยงานหลักด้านอินเทลลิเจนซ์ของอาลีบาบา กรุ๊ป ยังตั้งเป้าหมายให้ดาต้าเซ็นเตอร์ของอาลีบาบา คลาวด์ ทั่วโลก ทำงานด้วยการใช้พลังงานสะอาดภายในปี 2573 โดยเริ่มด้วยการอัปเกรดไฮเปอร์-สเกลดาต้าเซ็นเตอร์ห้าแห่งในประเทศจีน

การเข้าร่วมกลุ่มความร่วมมือระหว่างประเทศในครั้งนี้ นับเป็นครั้งแรกที่อาลีบาบา กรุ๊ป เปิดให้มีการใช้งานทรัพย์สินทางปัญญาที่สำคัญของบริษัทฯ อย่างกว้างขวาง เพื่อสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นการตอกย้ำความมุ่งมั่นที่มีมาอย่างยาวนานของบริษัทฯ ที่ต้องการบรรลุถึงอนาคตของสังคมที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ผ่านการหล่อหลอมความร่วมมือในขอบเขตที่กว้างขวางขึ้น  สิทธิบัตรทั้งเก้าฉบับนี้ เป็นส่วนหนึ่งของเทคโนโลยีด้านดาต้าเซ็นเตอร์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (green data center) ของอาลีบาบา เช่น ระบบระบายความร้อนแบบ “Soaking Server” ที่ไม่เหมือนใคร ซึ่งอาลีบาบา คลาวด์ได้ใช้กับดาต้าเซ็นเตอร์ของบริษัทฯ ตั้งแต่ปี 2558 และพบว่าระบบระบายความร้อนที่ไม่ต้องพึ่งพาอุปกรณ์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้านี้ ช่วยประหยัดพลังงานได้มากกว่า 70% เมื่อเทียบกับระบบระบายความร้อนแบบเดิมที่ต้องใช้พลังงานไฟฟ้า

ดร. เฉิน หลง รองประธาน อาลีบาบา กรุ๊ป และประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนความยั่งยืนของอาลีบาบา กล่าวว่า “เราเชื่อว่านวัตกรรมทางเทคโนโลยีคือกุญแจสำคัญในการพัฒนาไปสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนคาร์บอนต่ำ (Low-Carbon Circular Economy) ในอนาคต ในฐานะผู้บุกเบิกและผู้นำด้านเทคโนโลยีระดับโลก เรามุ่งมั่นที่จะช่วยเหลือสังคมด้วยการใช้เทคโนโลยีเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และเสริมศักยภาพให้แก่กลุ่มทางสังคมในขอบเขตที่กว้างขวางมากขึ้น และสร้างคุณค่าในระยะยาว เรารู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เข้าร่วมกับกลุ่มความร่วมมือดังกล่าว เพื่อสนับสนุนการสร้างอนาคตที่ยั่งยืนให้กับคนทุกกลุ่ม ทั้งในด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ผ่านการทำงานร่วมกันอย่างเปิดกว้าง การสร้างสรรค์นวัตกรรมร่วมกัน และการสร้างแรงบันดาลใจให้แก่กันและกัน”

Low Carbon Pledge Patent จัดตั้งขึ้นเมื่อวันคุ้มครองโลก (Earth Day) ในปี 2564 โดย Hewlett Packard Enterprise (HPE), Microsoft และ Meta มีภารกิจเพื่อสนับสนุนเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำต่าง ๆ และส่งเสริมการทำงานด้านนวัตกรรมร่วมกัน ศาสตราจารย์ จอร์จ คอนทรีราส ผู้เชี่ยวชาญทางวิชาการเกี่ยวกับการให้คำปฏิญาณสิทธิบัตร กล่าวว่า “การที่บริษัทต่าง ๆ เข้าร่วมกลุ่ม เป็นการเสริมความแข็งแกร่งให้กับ Low Carbon Patent Pledge และสะท้อนความจริงที่ว่าอุตสาหกรรมทุกภาคส่วน สามารถให้การสนับสนุนความพยายามในการเปลี่ยนไปใช้แหล่งพลังงานคาร์บอนต่ำให้ได้เร็วขึ้น

ใช้เทคโนโลยีเปลี่ยนดาต้าเซ็นเตอร์ให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

อาลีบาบา คลาวด์ ในฐานะผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) มุ่งมั่นที่จะปรับปรุงการดำเนินงานของดาต้าเซ็นเตอร์ทั่วโลกให้ใช้พลังงานสะอาดทั้งหมดภายในปี 2573 ด้วยการนำเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่มีประสิทธิภาพล้ำหน้ามาใช้ในดาต้าเซ็นเตอร์เหล่านี้

ซานหยวน เกา ผู้จัดการทั่วไป ฝ่ายอินเทอร์เน็ตดาต้าเซ็นเตอร์ของอาลีบาบา คลาวด์ อินฟราสตรัคเจอร์ กล่าวว่า “ดาต้าเซ็นเตอร์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมีความสำคัญมากต่อการดำเนินงานที่ยั่งยืนของอาลีบาบา  เราใช้เทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่ทันสมัยกับไฮเปอร์-สเกลดาต้าเซ็นเตอร์ เช่น ระบบระบายความร้อนด้วยของเหลว และการจัดเก็บไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ซึ่งช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้อย่างมากเลยทีเดียว เช่น เราได้วางเครื่องเซิร์ฟเวอร์จำนวนมากในดาต้าเซ็นเตอร์ของเราที่เมืองหางโจว ไว้ในน้ำยาหล่อเย็นชนิดพิเศษ ซึ่งทำให้อุปกรณ์ไอทีเย็นลงได้อย่างรวดเร็ว”   

ดาต้าเซ็นเตอร์ที่มณฑลจางเป่ยของอาลีบาบา คลาวด์ ใช้วิธีการเดียวกันนี้ และเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ดาต้าเซ็นเตอร์แห่งนี้ได้รับใบรับรองการใช้พลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Power Consumption Certificate) จากศูนย์แลกเปลี่ยนพลังงานไฟฟ้าแห่งกรุงปักกิ่ง (Beijing Electric Power Exchange Center) เมื่อปี 2564 ทั้งนี้ดาต้าเซ็นเตอร์ดังกล่าวนับเป็นดาต้าเซ็นเตอร์แห่งแรกของประเทศจีนที่มีการใช้เทคโนโลยีฮีทปั๊ม (Heat Pump)  การที่อาลีบาบา คลาวด์ สร้างเครือข่ายโครงสร้างพื้นฐานระดับโลกที่ยืดหยุ่นและปลอดภัยมากขึ้น ทำให้บริษัทฯ เชื่อว่าเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำภายในดาต้าเซ็นเตอร์จะกลายเป็นมาตรฐานใหม่ โดยจะมีการส่งเสริมการใช้ระบบระบายความร้อนด้วยของเหลวอย่างกว้างขวางในประเทศจีนและประเทศอื่น ๆ ในอนาคต

แม้ว่าพลังงานสะอาดช่วยแก้ไขปัญหามากมาย แต่การใช้พลังงานดังกล่าวก็ก่อให้เกิดความท้าทายบางประการเช่นกัน เพราะพลังงานจากแสงอาทิตย์และลมมีความผันผวน ไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ เช่น ในวันที่อากาศแจ่มใส มีลมแรง จะสามารถผลิตไฟฟ้าได้เต็มกำลัง แต่ถ้าสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวย ก็จะไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้  เพื่อแก้ไขความท้าทายดังกล่าว อาลีบาบา คลาวด์ กำลังทดลองใช้งานเครื่องมือสำหรับการจัดการคาร์บอน เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากการซื้อ-ขายพลังงานได้ดียิ่งขึ้น ควบคู่ไปกับการวางแผนจัดหาพลังงานที่มีเสถียรภาพมากขึ้น  นอกจากนี้ อาลีบาบา คลาวด์ กำลังสำรวจเทคโนโลยีอื่น ๆ เช่น การสูบน้ำเพื่อกักเก็บพลังงาน (pumping water to store energy) ซึ่งเป็นวิธีที่ใช้กันโดยทั่วไปเพื่อกักเก็บพลังงานสะอาดไว้ใช้ยามจำเป็น

อาลีบาบาได้เปิดตัวชิปรุ่นแรกที่บริษัทฯ พัฒนาขึ้นเพื่อลดการใช้ไฟฟ้า ภายใต้ชื่อ Yitian 710  ชิป Yitian 710 สามารถรองรับทรานซิสเตอร์สูงสุด 60 พันล้านตัวในชิปแต่ละอัน ซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานได้ถึง 50% เมื่อเทียบกับชิปรุ่นอื่น ๆ  ชิปดังกล่าวจะช่วยให้สามารถเปลี่ยนไปใช้พลังงานสะอาดได้ง่ายขึ้น เพราะลดความต้องการในการใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์และลมซึ่งไม่อาจคาดเดาได้

ผลการศึกษาชี้ องค์กรภาครัฐเป็นผู้นำในการใช้มัลติคลาวด์

ผลการศึกษาชี้ องค์กรภาครัฐเป็นผู้นำในการใช้มัลติคลาวด์

ผลการศึกษาชี้ องค์กรภาครัฐเป็นผู้นำในการใช้มัลติคลาวด์

ผลสำรวจเผยให้เห็นว่าสถาบันการศึกษาของรัฐเป็นภาคส่วนที่ใช้มัลติคลาวด์สูงกว่าค่าเฉลี่ยของการใช้มัลติคลาวด์ของภาครัฐทั่วโลกถึงสองเท่า

นูทานิคซ์ (NASDAQ: NTNX) ผู้นำด้านไฮบริด มัลติคลาวด์ คอมพิวติ้ง เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับภาครัฐจากรายงานการสำรวจดัชนีการใช้คลาวด์ระดับองค์กร (Enterprise Cloud Index – ECI) ประจำปี 2565 ซึ่งประเมินความคืบหน้าขององค์กรต่าง ๆ ในการใช้เทคโนโลยีคลาวด์ รวมถึงหน่วยงานรัฐบาลกลางของสหรัฐฯ และสถาบันการศึกษาของรัฐทั่วโลก รายงานดังกล่าวชี้ว่าองค์กรภาครัฐใช้มัลติคลาวด์เป็นรูปแบบหลักในงานด้านไอที โดยอยู่ในระดับที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก และคาดว่าการใช้เทคโนโลยีดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าจาก 39% เป็น 67% ในช่วงสามปีข้างหน้า

มัลติคลาวด์ได้รับการยอมรับและนำมาใช้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันกลายเป็นสถาปัตยกรรมด้านไอทีที่มีการใช้งานอย่างกว้างขวางทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของภาครัฐ ผลสำรวจ ECI พบว่ามีการใช้มัลติคลาวด์มากที่สุดในส่วนภาคการศึกษาของรัฐในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก โดยอยู่ที่ 69% สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกเกือบสองเท่า นอกจากนี้ หน่วยงานรัฐบาลกลางของสหรัฐฯ ก็มีการใช้มัลติคลาวด์สูงกว่าค่าเฉลี่ยเช่นกัน อยู่ที่ 47% อย่างไรก็ตาม ความซับซ้อนในการจัดการคลาวด์หลายระบบยังคงเป็นปัญหาท้าทายที่สำคัญสำหรับองค์กรภาครัฐ 85% ของผู้ตอบแบบสำรวจมีความเห็นว่า การที่องค์กรต่าง ๆ จะประสบความสำเร็จได้นั้น จำเป็นต้องมีการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการคลาวด์หลาย ๆ ระบบให้ง่ายมากขึ้น  นอกจากนั้น ในการแก้ไขปัญหาท้าทายที่สำคัญในเรื่องที่เกี่ยวกับค่าใช้จ่าย ความปลอดภัย การใช้งานร่วมกัน และการบูรณาการข้อมูล 75% มีความเห็นว่า รูปแบบไฮบริดมัลติคลาวด์ (Hybrid Multicloud) ซึ่งเป็นรูปแบบการดำเนินงานด้านไอทีที่ใช้ระบบคลาวด์หลายประเภท ทั้งไพรเวทคลาวด์และพับลิคคลาวด์ โดยมีการทำงานร่วมกันอย่างกลมกลืน ถือเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด

ชิป จอร์จ รองประธานกลุ่มธุรกิจภาครัฐของนูทานิคซ์ กล่าวว่า “ประเทศทั่วโลก กำลังพัฒนาไปใช้โครงสร้างพื้นฐานไอทีแบบมัลติคลาวด์ที่มีการผสมผสานไพรเวทคลาวด์และพับลิคคลาวด์เข้าด้วยกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของภาครัฐซึ่งมีการนำไปใช้อย่างรวดเร็ว การพัฒนาที่ว่านี้จำเป็นต้องอาศัยความมุ่งมั่นในการสร้างแพลตฟอร์มที่แข็งแกร่งและปลอดภัย เพื่อให้สามารถใช้มัลติคลาวด์ได้อย่างเต็มศักยภาพและขยายขีดความสามารถให้ครอบคลุมทั้งส่วนแกนหลัก (Core) และส่วนขอบ (Edge) ของเครือข่าย องค์กรภาครัฐจำเป็นที่จะต้องมองหาโซลูชันไฮบริดมัลติคลาวด์ที่ตอบโจทย์ความต้องการด้านความปลอดภัย รวมถึงการตรวจสอบอย่างทั่วถึง การจัดการที่มีประสิทธิภาพ การบังคับใช้นโยบายที่สอดคล้องกัน และการควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างรัดกุมบนทุกสภาพแวดล้อม”

ผู้ตอบแบบสอบถามในส่วนของภาครัฐได้ตอบคำถามเกี่ยวกับความท้าทายด้านระบบคลาวด์ที่เผชิญอยู่ ณ ปัจจุบัน รวมไปถึงวิธีการรันแอปพลิเคชันทางธุรกิจ และแอปพลิเคชชันที่สำคัญต่อการดำเนินงานในปัจจุบัน และแผนการรันแอปพลิเคชันดังกล่าวในอนาคต  นอกจากนั้น ยังมีการสอบถามเกี่ยวกับผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่มีผลต่อการตัดสินใจเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานไอทีในปัจจุบัน ในอนาคต และเร็วๆ นี้  รวมถึงการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ด้านไอทีและภารกิจสำคัญอันเนื่องมาจากสถานการณ์ดังกล่าว โดยประเด็นสำคัญที่ระบุไว้ในรายงานฉบับล่าสุดมีดังนี้:

    • หน่วยงานภาครัฐเผชิญความท้าทายเกี่ยวกับมัลติคลาวด์ เช่น การปกป้องข้อมูลบนคลาวด์หลายระบบ (49%), การใช้งานแอปพลิเคชันที่ใดก็ได้ (47%), การรักษาความปลอดภัย (46%) และการจัดการค่าใช้จ่าย (45%) นอกจากนี้ หน่วยงานรัฐบาลกลางของสหรัฐฯ เกือบทั้งหมด (97%) รวมไปถึง 86% ของสถาบันการศึกษาของรัฐ และ 87% ของหน่วยงานภาครัฐทั่วโลก กำลังประสบปัญหาขาดแคลนทักษะด้านไอทีสำหรับการตอบสนองความต้องการทางธุรกิจในปัจจุบันและโฟกัสหลักสำหรับหลาย ๆ องค์กรในช่วงหนึ่งปีนับจากนี้คือ การลดความยุ่งยากซับซ้อนในการดำเนินงาน  อย่างไรก็ดี ผู้บริหารฝ่ายไอทีตระหนักว่าในการปรับใช้เทคโนโลยีคลาวด์ ไม่มีแนวทางแบบครอบจักรวาลที่ใช้ได้กับทุกสถานการณ์ ดังนั้นไฮบริดมัลติคลาวด์จึงเป็นทางเลือกที่เหมาะสมที่สุดตามความเห็นของผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ (75%)  โดยไฮบริดมัลติคลาวด์จะช่วยแก้ไขความท้าทายที่สำคัญบางประการให้กับการใช้งานมัลติคลาวด์ ด้วยการจัดหาสภาพแวดล้อมคลาวด์แบบครบวงจรเพื่อรองรับการปรับใช้นโยบายด้านการรักษาความปลอดภัยและการกำกับดูแลข้อมูลอย่างสอดคล้องกัน
    • หน่วยงานภาครัฐมีความเห็นในแง่บวกเกี่ยวกับการที่แอปพลิเคชันสามารถเคลื่อนย้ายไปมาได้ (application mobility) ซึ่งเป็นคุณสมบัติสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพให้กับการใช้คลาวด์อัจฉริยะและมัลติคลาวด์ และถึงแม้ว่า 75% ขององค์กรภาครัฐโยกย้ายแอปพลิเคชันอย่างน้อยหนึ่งแอปพลิเคชันไปยังสภาพแวดล้อมด้านไอทีใหม่เมื่อปีที่แล้ว แต่ก็ยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่ามากเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของกลุ่มอุตสาหกรรมต่าง ๆ (91%) โดยองค์กรที่ทำการโยกย้ายดังกล่าวระบุถึงปัจจัยสำคัญที่ผลักดันการตัดสินใจได้แก่ การเพิ่มประสิทธิภาพด้านความปลอดภัยและ/หรือการปฏิบัติตามกฎระเบียบ (33%), การเพิ่มขีดความสามารถในการควบคุม (31%) และประสิทธิภาพ (30%) นอกจากนั้น 76% มีความเห็นว่าการย้ายเวิร์กโหลดไปยังคลาวด์ระบบใหม่อาจต้องใช้เวลาและมีค่าใช้จ่ายจำนวนมาก เปรียบเทียบกับ 80% ของผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมดในทุกกลุ่มอุตสาหกรรม ซึ่งแสดงให้เห็นว่าองค์กรภาครัฐมองว่าการเคลื่อนย้ายแอปพลิเคชันเป็นปัญหาที่น้อยกว่า ส่วนสถาบันการศึกษาของรัฐ ซึ่งมีการใช้มัลติคลาวด์มากที่สุด ก็มีความเห็นในแง่บวกมากยิ่งขึ้น โดยมีเพียง 56% เท่านั้นที่ประสบปัญหาเรื่องการเคลื่อนย้ายแอปพลิเคชัน ขณะที่หน่วยงานรัฐบาลกลางของสหรัฐฯ มีความกังวลใจในเรื่องนี้มากที่สุด โดยอยู่ที่ 77%
    • ภารกิจสำคัญสูงสุดด้านไอทีของภาครัฐในช่วง 12 ถึง 18 เดือนข้างหน้า ได้แก่ การเพิ่มประสิทธิภาพด้านความปลอดภัย (46%), การจัดเก็บข้อมูล (41%), การปรับใช้ 5G (39%) และการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการมัลติคลาวด์ (39%) นอกจากนี้ ผู้ตอบแบบสอบถามภาครัฐยังระบุว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้องค์กรต้องเพิ่มการใช้จ่ายด้านไอทีในบางแง่มุม เช่น การเพิ่มความแข็งแกร่งด้านการรักษาความปลอดภัย (55%), การปรับใช้เทคโนโลยีการบริการตนเองโดยใช้ AI (50%) และการอัพเกรดโครงสร้างพื้นฐานไอทีที่มีอยู่ (40%)

สำหรับประเทศไทย ได้มีการสร้างบริการระบบคลาวด์กลางภาครัฐ หรือ GOV Cloud เพื่อเป็นศูนย์รวมอำนวยความสะดวกในการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน เมื่อเดือนพฤษภาคม 2562

นอกจากนี้ยังมีโครงการพัฒนาระบบคลาวด์กลางภาครัฐ (GDCC) ซึ่งมีเป้าหมายสำคัญให้เกิดการรวมศูนย์การให้บริการเครื่องคอมพิวเตอร์แม่ข่ายเสมือนที่ได้มาตรฐานและมีความปลอดภัยสูงให้กับหน่วยงานภาครัฐที่ขาดความพร้อมด้านการดูแลศูนย์ข้อมูลและขาดบุคลากรที่มีทักษะเฉพาะ ทั้งนี้ยังให้การฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ของรัฐให้มีความสามารถด้าน Cloud computing เพื่อให้เข้าใจกระบวนการทำงานและวิธีการใช้งาน Cloud ได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ

รายงานนี้ดำเนินการสำรวจโดย Vanson Bourne  ในนามของนูทานิคซ์ เป็นการสำรวจปีที่สี่ติดต่อกัน โดยได้สำรวจความคิดเห็นของผู้มีอำนาจตัดสินใจด้านไอที 1,700 คนทั่วโลกในช่วงเดือนสิงหาคมและกันยายน 2564 รายงานนี้เป็นฉบับเสริมของรายงานหลัก ดัชนีคลาวด์ระดับองค์กรประจำปี ฉบับที่สี่ (Fourth Annual Enterprise Cloud Index) ซึ่งมีเนื้อหาครอบคลุมทั่วโลก โดยมุ่งสำรวจแนวโน้มการวางแผนและการปรับใช้เทคโนโลยีคลาวด์ในส่วนของภาครัฐ และอ้างอิงผลการสำรวจความคิดเห็นของบุคลากรฝ่ายไอทีภาครัฐ 491 คน นอกจากนี้ มีการเปรียบเทียบแผนงาน ภารกิจสำคัญ และประสบการณ์เกี่ยวกับคลาวด์ในส่วนของภาครัฐและเซ็กเตอร์ย่อย รวมถึงกลุ่มอุตสาหกรรมอื่น ๆ และผลการสำรวจทั่วโลก ข้อมูลที่ระบุไว้ในรายงานฉบับนี้ครอบคลุม “องค์กรภาครัฐ” หรือ “ภาครัฐทั่วโลก” ซึ่งหมายถึงผู้ตอบแบบสอบถามในหน่วยงานรัฐบาลกลาง หน่วยงานส่วนกลาง รัฐบาลท้องถิ่น สถาบันการศึกษาของรัฐ และหน่วยงานด้านสาธารณสุขทั่วโลก  นอกจากนี้ยังมีการแบ่งเซ็กเตอร์ย่อยสำหรับการเปรียบเทียบ ซึ่งได้แก่ หน่วยงานรัฐบาลกลางของสหรัฐฯ และสถาบันการศึกษาทั่วโลก

การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับการบริการจะช่วยให้ผู้ผลิตภาคอุตสาหกรรม ก้าวไปสู่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจได้อย่างไร

ฟาบิโอ ทิวิติ รองประธานและผู้จัดการทั่วไป บริษัท อินฟอร์ อาเชียน-อินเดีย

การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับการบริการจะช่วยให้ผู้ผลิตภาคอุตสาหกรรม ก้าวไปสู่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจได้อย่างไร

บทความโดย นายฟาบิโอ ทิวิติ รองประธานและผู้จัดการทั่วไป บริษัท อินฟอร์ อาเชียน-อินเดีย

สำหรับผู้ผลิตภาคอุตสาหกรรมจำนวนมาก เส้นทางของการฟื้นตัวหลังการระบาดอาจดูเหมือนยังห่างไกลและไม่ชัดเจน ความผันผวนทั่วโลก ช่องว่างที่เกิดขึ้นในระบบซัพพลายเชน และช่องทางการซื้อปกติที่หยุดชะงักยืดเยื้อมานานก็ยังยุ่งยากไม่จบสิ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้ผลิตที่มีเงินสดสำรองลดน้อยลง ภาวะชะงักงันยิ่งเกิดขึ้นนานเท่าใด ก็ยิ่งกดดันให้ธุรกิจต้องรีบสร้างกระแสเงินสดให้มากขึ้นเท่านั้น  โชคยังดีที่เทคโนโลยีสามารถช่วยให้ผู้ผลิตเครื่องจักรและอุปกรณ์อุตสาหกรรม (Industrial Machinery and Equipment: IM&E) ได้ประโยชน์จากความต้องการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นมากกว่าปกติ และจูงใจให้ลูกค้ากลับมาสานต่อโครงการที่หยุดชะงักได้อีกครั้งหนึ่ง

พบกันครึ่งทาง – หลักสำคัญ 8 ประการสำหรับผู้ผลิต IM&E ที่เน้นลูกค้าเป็นศูนย์กลาง

ผู้ผลิตสามารถช่วยกระตุ้นให้ธุรกิจขับเคลื่อนเดินหน้าต่อไป ด้วยการใช้เทคโนโลยีที่เน้นลูกค้าเป็นศูนย์กลางช่วยนำพวกเขากลับเข้ามาในวงจรการซื้ออีกครั้ง ทำให้รู้สึกสบายใจกับการลงทุน และจุดประกายด้วยข้อเสนอของผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่มาพร้อมกับคำมั่นสัญญาที่มีมูลค่ามากขึ้น  การดูแลและคำแนะนำอย่างเอาใจใส่อาจเป็นสิ่งที่ลูกค้าต้องการ เพื่อช่วยให้พวกเขาก้าวข้ามความลังเลเกี่ยวกับเศรษฐกิจโลก และใส่ใจในด้านศักยภาพการเติบโตแทน

โซลูชันด้านการวางแผนทรัพยากรองค์กร (Enterprise Resource Planning: ERP) สมัยใหม่ที่ใช้ในระบบคลาวด์ มักมีเครื่องมือที่ช่วยให้ผู้ผลิตปรับการทำงานให้เข้ากับลูกค้าได้ ไม่ว่าจะเป็นในภาคอุตสาหกรรม สาธารณูปโภค เทศบาล หรือการก่อสร้างเชิงพาณิชย์

การเอาใจใส่ดูแล ตัวแทนจัดซื้อเครื่องจักรกลและอุปกรณ์หนักก็ไม่ได้แตกต่างจากผู้บริโภคสินค้าบรรจุภัณฑ์มากนัก  ปัจจัยจูงใจนั้นจะเป็นไปในทำนองเดียวกัน เช่น ผู้ซื้อรถยก เครื่องกำเนิดไฟฟ้า เครน และเครื่องมือเกี่ยวกับถนน ก็จะกังวลถึงความปลอดภัย ความพร้อมใช้งาน ความน่าเชื่อถือของผลิตภัณฑ์ ตลอดจนเหตุผลในการเลือกซื้อเครื่องจักรหรืออุปกรณ์ราคาสูงขนาดนั้น  ทั้งนี้ ลูกค้า IM&E ต่างพร้อมที่จะสั่งซื้ออยู่แล้ว หากได้การรับประกัน การสนับสนุน และบริการเสริมที่มีมูลค่าเพิ่มจากซัพพลายเออร์ 

การทำงานร่วมกัน ผู้ผลิต IM&E สามารถปรับการทำงานให้เข้ากับลูกค้าได้ดีขึ้น ด้วยการจัดหาพอร์ทัลและเครื่องมือสื่อสารเกี่ยวกับรายละเอียดผลิตภัณฑ์ ข้อมูลจำเพาะต่าง ๆ การจัดส่ง ตลอดจนสถานะของการให้บริการ อนึ่ง ผู้ผลิต IM&E จำเป็นต้องเปิดประตูแห่งการสื่อสาร โดยที่ยังคงสามารถรักษาข้อมูลที่เป็นกรรมสิทธิ์และความปลอดภัยระบบของตนไว้ได้ ทั้งนี้เนื่องจากการซื้อ IM&E จำนวนมากจะเป็นแบบสั่งทำหรือผลิตตามคำสั่งของวิศวกร

ระบบซัพพลายเชนที่เชื่อมโยงถึงกัน อุตสาหกรรม IM&E ก็เช่นเดียวกันกับอุตสาหกรรมการผลิตส่วนใหญ่ที่ประสบปัญหาติดขัดในระบบซัพพลายเชน ทำให้การปฏิบัติตามคำสั่งซื้อทำได้ช้าลง  ขณะที่ภาวะชะงักงันในปัจจุบันมีแนวโน้มที่จะพบจุดสมดุลในปี 2565 ประสบการณ์นี้ยังได้สอนให้ผู้ผลิตได้ตระหนักถึงประโยชน์ของการมองเห็นระบบซัพพลายเชนแบบครบวงจร โดยไม่ต้องผูกติดอยู่กับซัพพลายเออร์เพียงรายเดียว  โดยผู้ผลิตจะสามารถวางแผนเชิงกลยุทธ์สำหรับการจัดส่งชิ้นส่วนและส่วนประกอบต่าง ๆ ได้ด้วยการมองเห็นแบบเรียลไทม์ลึกลงไปในระบบซัพพลายเชนที่ขยายออกไปได้อีกหลายระดับ

ความซับซ้อน  ความซับซ้อนของกระบวนการในโรงงานเพิ่มขึ้นตามปัจจัยต่าง ๆ เช่น ขนาดของอุปกรณ์ อะหลั่ยมูลค่าสูง วัสดุพิเศษ ชิ้นส่วนไฮเทค รวมถึงข้อกำหนดต่าง ๆ ในการปฏิบัติตามกฎระเบียบ เป็นต้น ทำให้ต้องมีการประสานงานขั้นตอนต่าง ๆ เพื่อหลีกเลี่ยงความล่าช้า  อีกทั้งต้องมีการตรวจสอบคุณภาพ เพื่อลดการสูญเสีย  รวมถึงการที่ทีมโรงงานจะต้องเข้าถึงข้อมูลการสั่งซื้อได้ง่าย เพื่อให้แน่ใจในข้อกำหนดเฉพาะของงานนั้น ๆ เพราะความเสียหายในกระบวนการผลิตอาจส่งผลให้สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายสูง

การตั้งค่า – โซลูชันเพิ่มประสิทธิภาพการขายสำหรับตั้งค่า ราคา และใบเสนอราคา (Configure, Price, Quote: CPQ) มีบทบาทสำคัญในการช่วยลูกค้าเลือกรายละเอียดผลิตภัณฑ์ โซลูชัน CPQ จะแนะนำลูกค้าตลอดกระบวนการคัดเลือก นำเสนอการผสมผสานเชิงตรรกะ และตรวจสอบให้แน่ใจว่าการเลือกนั้นเป็นไปตามข้อกำหนด  โซลูชันเหล่านี้สามารถออกใบเสนอราคา สร้างภาพกราฟฟิก และรายการวัสดุ เพื่อให้สามารถดำเนินการผลิตตามคำสั่งซื้อได้  เทคโนโลยีเข้ามาปฏิรูปกระบวนการจัดซื้อ ช่วยให้ผู้ซื้อได้รับคุณสมบัติหลายอย่างรวมกันตรงตามต้องการ โดยยังคงรักษาไว้ซึ่งผลิตภาพและประสิทธิภาพสำหรับผู้ผลิต

นวัตกรรม การสาธิตคุณลักษณะของผลิตภัณฑ์ที่เป็นนวัตกรรมที่พัฒนาขึ้น ถือเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดวิธีหนึ่งในการดึงดูดลูกค้ากลุ่มเป้าหมายให้กลับมาสนใจหรือกลับมาใช้ใหม่อีกครั้ง  โซลูชัน Product Lifecycle Management (PLM) สำหรับจัดการวงจรการผลิตของอุตสาหกรรมจะช่วยเร่งการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ ปรับปรุงขั้นตอนการทำงานและการจัดทำเอกสาร ซึ่งรวมถึงการทดสอบและการปฏิบัติตามข้อกำหนดทางอุตสาหกรรมใด ๆ ที่จำเป็น

บริการหลังการขาย – การบริการภาคสนามเป็นวิธีที่ดีเยี่ยมในการปรับการทำงานให้ใกล้ชิดกับลูกค้าเป็นการสร้างความสัมพันธ์และรากฐานสำหรับต่อยอดการขายและการซื้อซ้ำจากลูกค้า  ทว่า การบริการภาคสนามจำเป็นต้องมีการจัดการชิ้นส่วนจำนวนมากที่เคลื่อนย้ายได้ ตั้งแต่การส่งช่างเทคนิคภาคสนามตลอดไปจนถึงการจัดเก็บชิ้นส่วนอะไหล่ในสินค้าคงคลัง  ดังนั้น จึงจำเป็นต้องใช้โซลูชันที่สร้างขึ้นตามวัตถุประสงค์โดยเฉพาะเพื่อให้มั่นใจในประสิทธิภาพ  ซึ่งสัญญาการให้บริการและข้อตกลงการรับประกันแบบแบ่งเป็นแผนต่าง ๆ จะช่วยสร้างรายรับให้กับผู้ผลิตเป็นโบนัสเพิ่มเติมได้

การให้บริการ – เป็นกลยุทธ์ที่จะช่วยให้ลูกค้ากลุ่มเป้าหมายแก้ไขปัญหาเรื่องกระแสเงินสดของตนได้ โดยแทนที่ลูกค้าจะต้องซื้ออุปกรณ์สักชิ้นก็เปลี่ยนเป็นมาทำสัญญากับซัพพลายเออร์เพื่อผลลัพธ์ดังที่กล่าวมา เพราะลูกค้ามั่นใจในผลลัพธ์ที่จะได้ในตอนท้าย  โดยซัพพลายเออร์จะใช้เซ็นเซอร์อุปกรณ์และเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตออฟธิงส์ (IoT) เพื่อติดตามประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องจักรในไซต์งาน

บทสรุป

ผู้ผลิต IM&E สามารถใช้โอกาสนี้ผลักดันให้เกิดผลมากขึ้น ด้วยการใช้โซลูชันซอฟต์แวร์ที่ทันสมัยบนระบบคลาวด์  โซลูชัน ERP บนคลาวด์ที่ออกแบบมาโดยเฉพาะสำหรับ IM&E ให้คุณสมบัติต่าง ๆ ที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการวิเคราะห์ขั้นสูง ความสามารถของอินเทอร์เน็ตออฟธิงส์ (IoT) รวมถึงโซลูชันเพิ่มประสิทธิภาพการขายสำหรับกำหนดค่า ราคา และใบเสนอราคา ที่จะช่วยให้ผู้ผลิต IM&E มีเครื่องมือที่จำเป็นในการเสริมแกร่งด้านเวลาการตอบสนอง และรับรองกับลูกค้าได้อย่างมั่นใจว่าผู้ผลิตจะสามารถทำงานให้เสร็จตรงเวลาและเป็นไปตามข้อกำหนดทุกประการ

ส่องเทรนด์สังคมอุดมผู้สูงวัย ที่อยู่อาศัยแบบไหนโดนใจวัยเกษียณ

ส่องเทรนด์สังคมอุดมผู้สูงวัย ที่อยู่อาศัยแบบไหนโดนใจวัยเกษียณ

ส่องเทรนด์สังคมอุดมผู้สูงวัย ที่อยู่อาศัยแบบไหนโดนใจวัยเกษียณ

รายงานจากมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทยเผยว่า ปี 2565 ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Complete Aged Society) ที่ใช้เวลาเพียง 17 ปีนับจากปี 2548 ในการเปลี่ยนผ่านเป็นสังคมสูงอายุ สวนทางกับอัตราเด็กเกิดใหม่ที่ต่ำลงอย่างเห็นได้ชัด สำนักงานสถิติแห่งชาติแสดงข้อมูลจำนวนการเกิดประจำปี 2564 พบว่า มีประชากรเกิดทั้งหมด 544,570 คน ซึ่งต่ำที่สุดนับตั้งแต่มีการเก็บสถิติ และเป็นปีแรกที่ประเทศไทยมีการเกิดน้อยกว่าการตาย ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากจำนวนผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 รวมไปถึงการที่คนไทยครองตัวเป็นโสดมากขึ้นหรือชะลอการมีบุตรจึงส่งผลให้เกิดความไม่สมดุลของจำนวนประชากร 

วางแผนพักผ่อนในอนาคต เกษียณแล้วไปไหนดี?

จากแนวโน้มข้างต้นส่งผลให้ผู้บริโภคทั้งที่ครองตัวเป็นโสดหรือไม่มีบุตรหลาน เริ่มหันมาตระหนักถึงการวางแผนช่วงบั้นปลายชีวิตมากขึ้น ข้อมูลจากแบบสอบถามความคิดเห็นของผู้บริโภคที่มีต่อตลาดที่อยู่อาศัย DDproperty’s Thailand Consumer Sentiment Study รอบล่าสุด เผยให้เห็นว่า ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับการวางแผนซื้อที่อยู่อาศัยรองรับชีวิตหลังเกษียณมากขึ้น โดยเชียงใหม่ถือเป็นเมืองยอดนิยมอันดับหนึ่งที่ผู้บริโภคต้องการไปใช้ชีวิตหลังเกษียณ (24%) ตามมาด้วยเชียงราย และชลบุรี (10% และ 8% ตามลำดับ) โดยมากกว่าครึ่ง (52%) เผยว่าปัจจัยสำคัญที่ดึงดูดให้สนใจไปอยู่ทำเลดังกล่าวมาจากการได้ใกล้ชิดกับธรรมชาติหรือพื้นที่สีเขียว ตามมาด้วยตั้งอยู่ใกล้สถานพยาบาลเพื่อความสะดวกหากต้องไปพบแพทย์ (49%) และอยู่ใกล้ระบบขนส่งมวลชนที่ช่วยให้เดินทางไปที่ต่าง ๆ สะดวกขึ้น (44%)

อย่างไรก็ตาม แม้ผู้บริโภคจะมีความสนใจโครงการที่อยู่อาศัยเพื่อวัยเกษียณ (Retirement Village) แต่พบว่าอุปสรรคสำคัญในการย้ายออกมาจากเหตุผลด้านการเงินและความผูกพันในครอบครัว โดย 45% ของผู้บริโภคทุกช่วงวัยมองว่าโครงการหมู่บ้านวัยเกษียณมีราคาสูงเกินความสามารถที่จะจ่ายไหว ตามมาด้วยความต้องการอยู่ใกล้ชิดกับครอบครัวและบุตรหลาน (44%) ต้องการอยู่ที่บ้านหลังปัจจุบันมากกว่า (41%) กังวลในเรื่องของความปลอดภัยและสุขภาพ (34%) และมองว่าโครงการที่อยู่อาศัยเพื่อวัยเกษียณไม่จำเป็น (19%)

5 เหตุผลที่ทำให้คนไม่สนใจบ้านสำหรับวัยเกษียณ

ในขณะที่กลุ่มผู้สูงอายุ (อายุ 60 ปีขึ้นไป) นั้นก็มีอุปสรรคในการย้ายไปอยู่อสังหาริมทรัพย์สำหรับวัยเกษียณเหมือนกับผู้บริโภคในช่วงวัยอื่น แต่ให้น้ำหนักของความสำคัญ 3 อันดับแรกต่างออกไป โดยมากกว่าครึ่ง (52%) เลือกอยู่บ้านเดิมของตน และต้องการอยู่กับครอบครัว (51%) ตามมาด้วยมองว่ามีราคาแพงเกินไป (43%) สะท้อนให้เห็นว่าผู้สูงอายุส่วนใหญ่นั้นมีความคุ้นเคยและชื่นชอบการใช้ชีวิตในสภาพแวดล้อมเดิมกับครอบครัวมากกว่าการย้ายออกไปอยู่โครงการที่อยู่อาศัยวัยเกษียณที่ต้องปรับตัวใหม่ แม้จะได้พบหรือมีสังคมรุ่นเดียวกันก็ตาม

จับตาความต้องการบ้านผู้สูงวัย เปลี่ยนไปแค่ไหนเมื่อเจอโควิด

    • บ้านที่ดีต้องส่งเสริมสุขภาพ การแพร่ระบาดของโควิด-19 ถือเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญในการจุดประกายให้ผู้บริโภคทุกช่วงวัยเห็นถึงความสำคัญของการดูแลสุขภาพมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุซึ่งถือเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อแล้วป่วยหนัก โดย 3 ใน 4 ของผู้บริโภคอายุ 60 ปีขึ้นไป (75%) เผยว่า โควิด-19 ทำให้หันมาตระหนักถึงความสำคัญของการสร้างสุขภาพที่ดีมากขึ้น ไม่เพียงแต่มีผลต่อแนวคิดการดำเนินชีวิตเท่านั้น แต่ยังส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านความต้องการที่อยู่อาศัยเช่นกัน โดยผู้สูงอายุส่วนใหญ่ 74% เผยว่ายินดีที่จะจ่ายเพิ่มหากโครงการอสังหาริมทรัพย์มีฟังก์ชั่นการใช้งานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ในขณะที่ 2 ใน 3 ของผู้สูงอายุ (69%) มองว่าระบบระบายอากาศและแสงธรรมชาติที่เพียงพอถือเป็นคุณสมบัติที่สำคัญและมีความจำเป็นสำหรับที่อยู่อาศัย แม้ว่าการแพร่ระบาดฯ จะจบลงก็ตาม เห็นได้ชัดว่าผู้สูงอายุมีความตื่นตัวและให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพมากขึ้น ซึ่งเชื่อมโยงกับการเลือกบ้านที่เสริมสร้างความสบายใจในการดูแลสุขภาพ เนื่องจากถือเป็นช่วงวัยที่ได้ใช้เวลาอยู่ที่บ้านมากขึ้นนั่นเอง
    • วัยเก๋าก้าวทันโลก PropTech การแพร่ระบาดฯ ที่ยาวนานถือเป็นอุปสรรคสำคัญเมื่อต้องเลือกซื้ออสังหาริมทรัพย์ และกลายเป็นปัจจัยที่กระตุ้นให้ผู้สูงอายุหันมาเรียนรู้การใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ มาอำนวยความสะดวกในการเลือกซื้ออสังหาริมทรัพย์ให้ราบรื่นยิ่งขึ้น ข้อมูลจากแบบสอบถามฯ เผยว่า เกือบครึ่งของผู้บริโภคที่อายุ 60 ปีขึ้นไป (48%) นิยมคัดเลือกโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่สนใจผ่านช่องทางออนไลน์ นอกจากนี้ 44% ยังเข้าร่วมงานแสดงที่อยู่อาศัยออนไลน์ รวมไปถึงมีการเยี่ยมชมโครงการเสมือนจริง (Virtual Tour) ถึง 39% สะท้อนให้เห็นว่า ผู้สูงอายุปรับตัวเข้ากับเทคโนโลยีด้านอสังหาริมทรัพย์ (PropTech) ได้มากกว่าแค่ใช้เพื่อค้นหาข้อมูลทั่วไป แต่ยังสามารถเลือกใช้ฟีเจอร์ที่เหมาะสมกับความต้องการเพื่อสนับสนุนการเลือกซื้อที่อยู่อาศัย และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้กลายเป็นคนหาบ้านยุคดิจิทัล ทลายกำแพงผู้สูงวัยที่มีต่อการเรียนรู้เทคโนโลยีและโลกออนไลน์ได้เป็นอย่างดี 
    • ขนาดที่อยู่อาศัยดึงดูดใจเมื่อคิดซื้อบ้าน ปัจจัยภายในโครงการที่มีความสำคัญอันดับต้น ๆ เมื่อผู้สูงอายุตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยมาจากขนาดที่อยู่อาศัยเป็นหลักถึง 55% เนื่องจากมองว่าพื้นที่ใช้สอยในบริเวณบ้านควรมีเพียงพอรองรับการทำกิจกรรมที่หลากหลายของคนในครอบครัวที่มีหลายช่วงวัย ตามมาด้วยการพิจารณาจากสิ่งอำนวยความสะดวกภายในที่อยู่อาศัย และมาตรการ/โครงการที่จะช่วยให้มีบ้านเป็นของตัวเองง่ายขึ้นในสัดส่วนที่ไล่เลี่ยกัน (48% และ 47% ตามลำดับ) สาเหตุมาจากการที่ผู้สูงอายุมองว่าการซื้อบ้านในช่วงที่อายุมากขึ้น อาจเป็นอุปสรรคเมื่อยื่นขอสินเชื่อที่อยู่อาศัยหรือได้ระยะเวลาผ่อนชำระที่น้อยลง หากได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐก็จะช่วยให้ผู้สูงอายุที่มีความพร้อมด้านการเงินสามารถเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยได้ง่ายขึ้น 

นอกจากนี้ 3 อันดับแรกของปัจจัยภายนอกโครงการที่ผู้สูงอายุใช้พิจารณาเมื่อเลือกซื้อ/เช่าที่อยู่อาศัยจะเน้นไปที่การเพิ่มความสะดวกสบายในการดำเนินชีวิตปัจจุบันเป็นหลัก โดยมากกว่าครึ่ง (56%) ต้องการโครงการที่เดินทางสะดวกและเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะ ตามมาด้วยพิจารณาจากทำเลที่ตั้ง (52%) และความปลอดภัยของทำเล (44%) เพื่อรองรับการใช้ชีวิตและทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้อย่างสบายใจไร้กังวลแม้อยู่เพียงลำพัง

พักผ่อนวิถีใหม่ “บ้านพักคนชรา VS บ้าน/คอนโดผู้สูงอายุ” แบบไหนคือคำตอบ

ผู้บริโภคในแต่ละช่วงวัยต่างมีความต้องการใช้ชีวิตที่แตกต่างกันออกไปรวมไปถึงผู้สูงอายุเช่นกัน ผู้สูงอายุบางส่วนอาจต้องการความเป็นส่วนตัว อยากทำกิจกรรมร่วมกับเพื่อนวัยเดียวกัน หรือมองหาที่อยู่อาศัยที่มีบริการด้านสุขภาพมาทดแทนในกลุ่มผู้สูงอายุที่ครองตัวเป็นโสดหรือบุตรหลานไม่มีเวลามาดูแลมากพอ ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ (DDproperty) เว็บไซต์มาร์เก็ตเพลสด้านอสังหาริมทรัพย์อันดับ 1 ของไทย แนะนำแนวทางเลือกที่อยู่อาศัยรองรับวัยเกษียณ เพื่อให้ผู้บริโภคได้วางแผนเลือกบ้านหลังสุดท้ายให้ตอบโจทย์การใช้ชีวิตเมื่อถึงวัยพักผ่อนจากการทำงาน

    • บ้านพักคนชรา เป็นโครงการที่อยู่อาศัยที่มีเจ้าหน้าที่และพยาบาลวิชาชีพคอยดูแลตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมทั้งมีอุปกรณ์รักษาพยาบาลตามระดับความต้องการของผู้สูงอายุ ซึ่งจำแนกตามความต้องการพึ่งพิงบุคคลอื่นที่แตกต่างกันออกไป จึงเหมาะกับผู้สูงอายุที่ต้องการการดูแลมากเป็นพิเศษ หรือไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ บ้านพักคนชราจะมีบริการอาหารครบ 3 มื้อ และกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้อยู่อาศัย ห้องพักพื้นฐานในแต่ละโครงการจะมีให้เลือกทั้งแบบห้องพักรวม ห้องพักเดี่ยวที่เสียค่าใช้จ่ายเมื่อเข้าพักเป็นรายเดือน หรือบ้านพักแบบพิเศษที่มีลักษณะเป็นบ้านเดี่ยว ซึ่งต้องจ่ายค่าแรกเข้าเพื่อบำรุง/ปรับปรุงที่พักเป็นเงินก้อนและจ่ายค่าเข้าพักรายเดือนเช่นกัน บ้านพักคนชราจึงเหมาะกับผู้สูงอายุที่มีเงินเดือนหรือรายได้ต่อเดือนสม่ำเสมอ หรือมีเงินบำนาญ ปัจจุบันบ้านพักคนชรามีหลายรูปแบบและหลายระดับราคาให้เลือกเริ่มต้นจากหลักพัน โดยคิดราคาจากความต้องการของผู้สูงอายุและความยากง่ายในการดูแล อย่างไรก็ดี จากแนวโน้มผู้สูงอายุในประเทศไทยที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาจทำให้บ้านพักคนชราบางรูปแบบที่มีราคาไม่แพงมีจำนวนไม่เพียงพอกับความต้องการ ผู้ที่สนใจจึงควรตรวจสอบคุณสมบัติให้พร้อมก่อนวางแผนจองคิวบ้านพักคนชราที่สนใจไว้ล่วงหน้า
    • บ้าน/คอนโดผู้สูงอายุ เป็นโครงการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุยุคใหม่ที่สามารถดูแลตัวเองได้ มีสุขภาพแข็งแรง และยังต้องการเข้าสังคมเพื่อพบปะเพื่อนฝูง โดยบ้าน/คอนโดผู้สูงอายุจะออกแบบที่พักอาศัยโดยคำนึงถึงความสะดวกและความปลอดภัยในการดำเนินชีวิตของผู้สูงอายุเป็นหลัก มีเจ้าหน้าที่คอยดูแลและให้บริการตลอด 24 ชม. มีพื้นที่ส่วนกลางและสิ่งอำนวยความสะดวกครบครันเหมือนโครงการที่อยู่อาศัยทั่วไป พร้อมทั้งมีกิจกรรมไลฟ์สไตล์ต่าง ๆ ให้ได้ทำร่วมกับเพื่อนวัยเดียวกัน รูปแบบการซื้อขายมีทั้งแบบขายสิทธิอยู่อาศัย 30 ปี ขายสิทธิการอยู่อาศัยตลอดชีวิต หรือขายขาด ราคาที่พักแต่ละโครงการเริ่มต้นตั้งแต่หลักแสนไปจนถึงหลักล้าน เหมาะกับผู้สูงอายุที่มีเงินเก็บก้อนใหญ่ มีการวางแผนการเงินอย่างเป็นระบบ โดยผู้สูงอายุต้องเตรียมเงินให้พร้อมก่อนตัดสินใจเลือกซื้อ และต้องมีเงินเก็บสำรองสำหรับใช้จ่ายในชีวิตประจำวันอีกด้วย เนื่องจากต้องรับผิดชอบค่าอาหาร ค่าทำความสะอาด ค่ากิจกรรมต่าง ๆ และค่ารักษาพยาบาลเอง แม้บ้าน/คอนโดผู้สูงอายุจะมีราคาค่อนข้างสูงแต่ก็มาพร้อมกับความสะดวกสบายที่ส่งเสริมให้ผู้สูงอายุสามารถใช้ชีวิตตามวิถี Young at heart ได้อย่างเป็นอิสระและปลอดภัย 

โครงการที่อยู่อาศัยสำหรับวัยเกษียณถือเป็นเทรนด์ที่น่าจับตามองท่ามกลางการเติบโตของสังคมผู้สูงอายุในไทย แม้ดูเป็นเรื่องไกลตัวสำหรับผู้สูงอายุที่วางแผนจะอยู่อาศัยที่บ้านเดิมกับครอบครัว อย่างไรก็ตาม การปรับปรุงที่อยู่อาศัยให้รองรับการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุถือเป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม เนื่องจากผู้สูงอายุไม่สามารถทำกิจกรรมทั่วไปได้คล่องแคล่วเหมือนวัยหนุ่มสาว จึงควรออกแบบและเลือกใช้อุปกรณ์ที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้สูงอายุใช้ชีวิตในบ้านได้อย่างปลอดภัย ลดการเกิดอุบัติเหตุที่ไม่คาดคิด เว็บไซต์มาร์เก็ตเพลสด้านอสังหาริมทรัพย์อันดับ 1 ของไทยอย่างดีดีพร็อพเพอร์ตี้ (https://www.ddproperty.com) นำเสนอบทความและข่าวสารความรู้ที่เป็นประโยชน์สำหรับผู้ซื้อ ผู้ขาย รวมถึงคนหาบ้าน เป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลประกาศซื้อ/ขาย/เช่าโครงการที่น่าสนใจมากมาย พร้อมช่วยให้ผู้บริโภคสามารถศึกษาและค้นหาบ้านพักที่ตอบโจทย์วัยเกษียณ หรือนำความรู้มาปรับแต่งบ้านให้พร้อมรองรับการใช้ชีวิตของสมาชิกครอบครัวทุกช่วงวัยได้มากที่สุด