เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป เปิดโมเดล “CASHLESS CINEMA” แห่งแรกของไทย ที่ ควอเทียร์ ซีเนอาร์ต สะดวก ปลอดภัย ลดการสัมผัส กับไลฟ์สไตล์บันเทิงยุค New Normal

เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป เปิดโมเดล “CASHLESS CINEMA” แห่งแรกของไทย ที่ ควอเทียร์ ซีเนอาร์ต สะดวก ปลอดภัย ลดการสัมผัส กับไลฟ์สไตล์บันเทิงยุค New Normal

เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป_ทรูมันนี่

เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป ร่วมส่งเสริมและตอบรับสังคมไร้เงินสด (Cashless Society) เพิ่มความสะดวก ปลอดภัย ลดการสัมผัส ในยุค New Normal เปิดโมเดล “โรงภาพยนตร์ไร้เงินสด CASHLESS CINEMA” แห่งแรกของไทย ที่ โรงภาพยนตร์ควอเทียร์ ซีเนอาร์ต  ดีเดย์ 7 เมษายนนี้  ให้ลูกค้าซื้อตั๋วหนังผ่านทางออนไลน์และตู้จำหน่ายตั๋วหนังอัตโนมัติ E-Ticket พร้อมชำระค่าตั๋วหนังผ่านออนไลน์เพย์เม้นท์รูปแบบต่าง ๆ ตั้งเป้าขยายครบ 10 สาขาใหญ่ในกรุงเทพฯ ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2564 และขยายครบทุกสาขาทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัดภายในสิ้นปี 2565 โดยจับมือพันธมิตรผู้นำด้านออนไลน์เพย์เม้นท์ อาทิ K PLUS, ทรู มันนี่, ช้อปปี้ เพย์ และดอลฟิน วอลเล็ท มอบสิทธิพิเศษดีๆ ให้กับลูกค้าที่ชำระผ่านช่องทาง Cashless

นายนรุตม์ เจียรสนอง รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการตลาด บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป พร้อมเปิดบริการ “โรงภาพยนตร์ไร้เงินสด CASHLESS CINEMA” แห่งแรกของไทย ด้วยบริการซื้อและรับชำระค่าตั๋วหนังแบบไร้เงินสด ในคอนเซ็ปท์ สะดวก ปลอดภัย ลดการสัมผัส ให้ลูกค้าได้ใช้ชีวิตไลฟ์สไตล์บันเทิงยุค New Normal ได้อย่างมั่นใจ เริ่มสาขาต้นแบบแห่งแรกที่ โรงภาพยนตร์ควอเทียร์ ซีเนอาร์ต ตั้งแต่วันที่ 7 เมษายนนี้ เป็นต้นไป

โรงภาพยนตร์ไร้เงินสด CASHLESS CINEMA ให้บริการซื้อตั๋วหนังแบบไร้เงินสดเต็มรูปแบบ จะไม่มีพนักงานขายตั๋วหนัง ไม่มีเคาน์เตอร์ Box Office จำหน่ายตั๋วหนัง เป็นการซื้อตั๋วหนังแบบ Self Service ผ่านช่องทางออนไลน์ อาทิ เว็บไซต์ www.majorcineplex.com, แอพพลิเคชั่น Major Cineplex, ซื้อผ่านตู้จำหน่ายตั๋วหนังอัตโนมัติ E-Ticket ด้านหน้าโรงภาพยนตร์ แล้วเลือกชำระค่าตั๋วหนังด้วยระบบออนไลน์เพย์เม้นท์ต่าง ๆ เช่น ชำระผ่านคิวอาร์โค้ด, อีวอลเล็ท, โมบายแบงก์กิ้ง, แอพพลิเคชั่นธนาคาร, พร้อมเพย์ ตลอดจนการชำระเงินผ่านบัตรเครดิต, บัตรเดบิต, บัตร M Gen, บัตร M CASH

นอกจากนี้ ลูกค้ายังสามารถซื้อป๊อปคอร์น เครื่องดื่ม และสินค้าอื่น ๆ ที่ จุดจำหน่ายขนมและเครื่องดื่ม (Concession) ได้ด้วยบริการ Cashless ผ่านช่องไลน์ออนไลน์เพย์เม้นท์และบัตรต่าง ๆ ได้อีกด้วย

ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมและตอบรับสังคมไร้เงินสด พร้อมเป้าหมายสำคัญซึ่งต้องการให้ลูกค้าได้รับความสะดวกสบายในการใช้บริการและมั่นใจกับการดูหนังในยุค New Normal และจะช่วยลดการสัมผัสเงินโดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งทุกคนต้องระมัดระวังและดูแลตัวเองเป็นอย่างดี ตลอดจน ลูกค้ายังมีส่วนช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมจากการใช้บริการ Rekeep การใช้คิวอาร์โค้ดแทนตั๋วหนังกระดาษ เป็นการลดการใช้กระดาษ Paperless โดยสามารถแสดงคิวอาร์โค้ดเลขที่นั่งและโรงภาพยนตร์ก่อนเข้าโรงภาพยนตร์ผ่านเครื่อง Smart Ticket บริเวณทางเข้าโรงภาพยนตร์ ซึ่งสอดรับกับโครงการ Green Cinema โรงภาพยนตร์รักษ์โลก ที่ เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป ได้ดำเนินการอยู่

นายนรุตม์ กล่าวถึงแผนการขยายสาขาโรงภาพยนตร์ไร้เงินสด Cashless Cinema ว่า ได้วางแผนขยายสาขาในกรุงเทพฯ เพิ่มอีก 9 สาขา ภายในวันที่ 1 กรกฏาคม 2564 ดังนี้ เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ สาขา รัชโยธิน, รังสิต, พระราม 3, พารากอน ซีนีเพล็กซ์, เอสพลานาด ซีนีเพล็กซ์ รัชดา, อีสต์วิลล์ ซีนีเพล็กซ์, เมกา ซีนีเพล็กซ์, เวสต์เกต ซีนีเพล็กซ์ และไอคอน ซีเนคอนิค จากนี้หลังเปิดให้บริการโรงภาพยนตร์ไร้เงินสด Cashless Cinema จะทำให้สัดส่วนการรับชำระค่าสินค้าและบริการจากเงินสด (Cash) เป็น 0% และชำระแบบไร้เงินสด (Cashless) 100% ที่ ควอเทียร์ ซีเนอาร์ต เริ่มตั้งแต่วันนี้ 7 เมษายน 2564 เป็นต้นไป จากนั้น 100% ชำระแบบไร้เงินสด (Cashless) ที่ 10 สาขาในกรุงเทพฯ ภายในวันที่ 1 กรกฏาคม 2564 และ 100% ชำระแบบไร้เงินสด (Cashless) ครอบคลุมทุกสาขาทั้งในกรุงเทพฯ และในจังหวัดหลัก ๆ ภายใน 31 ธันวาคม 2564 โดยโมเดลโรงภาพยนตร์ไร้เงินสด Cashless Cinema จะครอบคลุมครบทุกสาขาของเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป ภายในสิ้นปี 2565 จากปัจจุบันรับชำระจากเงินสด (Cash) 7% และชำระแบบไร้เงินสด (Cashless) 93%

นายนรุตม์ กล่าวว่า แนวคิดสังคมไร้เงินสด (Cashless Society) เกิดขึ้นมาหลายปีแล้ว ที่ผ่านมาในหลายประเทศมีการใช้จ่ายแบบไร้เงินสดกันอย่างแพร่หลาย ไม่ว่าจะเป็นร้านค้า, ตลาดสด, การขนส่งสาธารณะ สำหรับ เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป พร้อมที่จะร่วมส่งเสริมและตอบรับสังคมไร้เงินสดอย่างเต็มรูปแบบ โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป ได้พัฒนาระบบการชำระเงินแบบไร้เงินสดมาโดยตลอด อาทิ บัตร M Cash, M Gen, M Pass, App Major Cineplex ตลอดจน ร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจที่เป็นผู้นำด้านออนไลน์เพย์เม้นท์รูปแบบต่างๆ อาทิ K PLUS, ทรูมันนี่, ช้อปปี้ เพย์, ดอลฟิน วอลเล็ท ฯลฯ ในการมอบสิทธิพิเศษต่าง ๆ ให้กับลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการซื้อตั๋วหนังพร้อมชำระผ่านช่องทางออนไลน์เพย์เม้นท์ เช่น ส่วนลดการซื้อตั๋วหนังในราคาพิเศษ จึงเชื่อมั่นว่าสังคมไร้เงินสดและโรงภาพยนตร์ไร้เงินสดจะเกิดขึ้นได้ หากได้รับความสะดวกสบาย ปลอดภัย ลดการสัมผัส ที่มาพร้อมสิทธิพิเศษดี ๆ ที่มากกว่าการชำระด้วยเงินสด

นายอมร สุวจิตตานนท์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ธนาคารกสิกรไทยยินดีที่ได้ร่วมมือกับทาง เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป เพื่อให้บริการรับชำระเงินในหลายช่องทาง สำหรับ Cashless Cinema เป็นตัวอย่างที่ดีที่เหมาะกับคนรุ่นใหม่ที่ชอบความสะดวกสบาย โดยลูกค้าสามารถซื้อตั๋วหนังผ่านแอปพลิเคชั่น Major Cineplex ซึ่งสามารถชำระเงินด้วยบัตรเดบิต บัตรเครดิต หรือ K PLUS ส่วนลูกค้าที่มาที่สาขาของ เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ สามารถซื้อผ่านตู้จำหน่ายตั๋วอัตโนมัติ  โดยไม่ต้องใช้เงินสดเช่นกัน นอกจากนี้บนแอปพลิเคชั่น K PLUS ของธนาคารกสิกรไทย หากลูกค้ามีคะแนน K Point ก็สามารถแลกคะแนนเป็นตั๋วหนังในราคาพิเศษ ได้ผ่านเมนู K+ market  ส่วนลูกค้าที่เป็นสมาชิก M Gen ก็สามารถเติมเงินเข้าบัตรผ่านเมนูเติมเงินบน K PLUS ได้เองเช่นกัน โดยไม่ต้องสัมผัสเงินสดรับมือยุค New Normal

นายรุ่งเรือง สุขเกิดกิจพิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท เซ็นทรัล เจดี ฟินเทค จำกัด ผู้ให้บริการแอพพลิเคชั่น ดอลฟิน วอลเล็ท กล่าวว่า ไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคไทยสมัยนี้พัฒนาสู่ยุค Digital อย่างรวดเร็ว และสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ถือเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการเปลี่ยนพฤติกรรมและไลฟ์สไตล์ของคนไทยแบบก้าวกระโดดให้หันมาใช้การชำระเงินแบบ e-payment แทนการใช้เงินสด เพื่อลดการสัมผัส ลดเสี่ยงในการชำระค่าสินค้าและบริการด้านต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคในยุคดิจิทัลนี้ สอดคล้องกับการพัฒนาแพลทฟอร์มทางการเงินของเราเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของคนไทย และผลักดันวงการเงินไทยสู่สังคมยุคดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ

โอกาสนี้ทางเซ็นทรัล เจดี ฟินเทคก็ได้ร่วมมือกับ เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป ซึ่งเป็นพันธมิตรทางธุรกิจสำคัญของเรา เพื่อร่วมกันผลักดันโมเดล “โรงภาพยนตร์ไร้เงินสด CASHLESS CINEMA” ที่เน้นให้บริการจำหน่ายตั๋วหนังแบบไร้เงินสดอย่างเต็มรูปแบบ พร้อมเพิ่มความสะดวกสบายในการชำระเงินค่าตั๋วหนัง ซื้อ     ป๊อปคอร์นหรือเครื่องดื่มผ่านแอพพลิเคชั่นดอลฟิน วอลเล็ทแทนการชำระด้วยเงินสด พร้อมมอบสิทธิพิเศษ    สุดฟินสำหรับลูกค้าดอลฟินด้วยตั๋วหนังราคาพิเศษ 99 บาท ชุดป๊อปคอร์นพร้อมเครื่องดื่มราคาเพียง 139 บาท และลูกค้าที่สมัครแอปพลิเคชันดอลฟินครั้งแรกรับเลยตั๋วหนังราคาพิเศษ 55 บาท 

นายนิรันดร์ ฟูวัฒนานุกูล ผู้อำนวยการฝ่ายทางพาณิชย์ บริษัท ทรูมันนี่ จำกัด กล่าวว่า “ ทรูมันนี่ มีความยินดีที่ได้ขยายการจับมือเป็นพันธมิตรกับ เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป ในครั้งนี้ ทั้งนี้ ทรูมันนี่ ได้รณรงค์การใช้ Cashless มาโดยตลอด และมีแคมเปญเชิญชวนให้ใช้แอพแทนเงินสด ลดสัมผัส มาตั้งแต่เริ่มมีการระบาดของโควิด-19 โดยนอกเหนือจากก่อนหน้านี้ที่เราให้บริการจองและชำระตั๋วภาพยนตร์ของเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ ผ่านแอพทรูมันนี่ วอลเล็ท ในเร็ว ๆ นี้ผู้ใช้ของเราจะสามารถใช้แอพทรูมันนี่ วอลเล็ท ชำระเงินเพื่อซื้อตั๋วภาพยนตร์ในช่องทางอื่น ๆ ได้เพิ่มเติมภายใต้โมเดล Cashless Cinema ของทางเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ ทั้งการซื้อตั๋วผ่านเว็บไซต์ www.majorcineplex.com, แอพ Major Cineplex, ซื้อผ่านตู้จำหน่ายตั๋วหนังอัตโนมัติ E-Ticket ด้านหน้าโรงภาพยนตร์ และในช่วงกลางปีจะมีแผนเปิดให้ผู้ใช้ Top-up ไปบัตร M Gen และ M Cash ได้ ซึ่งจากการที่ทรูมันนี่ เป็นอีวอลเล็ทในกลุ่ม non-bank ที่มีผู้ใช้แอคทีฟมากสุดถึง 17 ล้านราย เราเชื่อมั่นว่าความร่วมมือกับทางเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป ในครั้งนี้ จะช่วยผลักดันการใช้จ่ายแบบไร้เงินสดให้เป็นส่วนหนึ่งในไลฟสไตล์ของคนไทยได้มากขึ้นอย่างแน่นอน”

นายศุภวิทย์ หงส์อมรสิน ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจ บริษัท ช้อปปี้เพย์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “เนื่องด้วยสถานการณ์ COVID-19 ในปัจจุบัน ShopeePay อยากเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนไทยหันมาให้ความสำคัญกับสังคมไร้เงินสดมากขึ้น โดย ShopeePay เป็นหนึ่งในช่องทางการชำระเงินออนไลน์ที่นับว่าเป็นทางเลือกที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ทั้งคนรุ่นใหม่ที่ใช้ช่องทางการชำระเงินออนไลน์กันในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว  และคนเจนเนอร์เรชั่นอื่นๆ ที่เริ่มหันมาใช้กันมากขึ้นในช่วงสถานการณ์ COVID-19 เพราะช่วยให้คนไทยลดโอกาสการติดเชื้อ และยังมอบความสะดวกสบายในการใช้งาน ง่าย และรวดเร็ว

นอกจากที่ ShopeePay มีบริการการชำระเงินและทำธุรกรรมทางการเงินต่าง ๆ อย่างครอบคลุม เรายังให้บริการจองตั๋วภาพยนตร์ทั้งในช่องทาง online และ offline โดยลูกค้าสามารถเลือกจองตั๋วหนังได้ง่าย ๆ ทั้งบนแอพพลิเคชั่น Shopee และ ShopeePay จองตั๋วหนังบนแอพพลิเคชั่น Major Cineplex และจ่ายผ่าน ShopeePay หรือจะสแกนจ่ายด้วย ShopeePay ที่ตู้จำหน่ายตั๋วอัตโนมัติในโรงภาพยนต์เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์    ก็ได้เช่นกัน ลูกค้าสามารถทำทุกอย่างจบได้ในแอปเดียว แถมยังสบายกระเป๋า เพราะ ShopeePay คัดสรรดีลเด็ดและสิทธิพิเศษมาเพื่อลูกค้า เช่น ตั๋วหนังราคาเริ่มต้นเพียง 99 บาท/ที่นั่ง ใน Shopee, Coins Cashback คืน 60% ทุกวันพุธ, ป้อปคอร์นราคา 9 บาท และสำหรับการสแกนจ่ายผ่าน ShopeePay ที่ตู้จำหน่ายตั๋วหรือจุดซื้ออาหารและเครื่องดื่ม ลูกค้ามีสิทธิ์รับ Coins Cashback คืน 30% สูงสุด 20 Coins  และโปรโมชั่นดี ๆ อีกมากมายที่จะออกมาเอาใจคอหนังทุกเดือน”

เงินติดล้อ จับมือ TrueMoney และ Makro นำเสนอสินเชื่อและประกันภัยให้ลูกค้า

เงินติดล้อ จับมือ TrueMoney และ Makro นำเสนอสินเชื่อและประกันภัยให้ลูกค้า

ทรูมันนี่_เงินติดล้อ

เงินติดล้อ ร่วมกับ แอสเซนด์ นาโน และแม็คโคร ร่วมออกบูธนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการจากเงินติดล้อให้กับลูกค้าผู้ใช้บริการทรูมันนี่ และห้างสรรพสินค้าแม็คโคร ทั้งสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกันแบบครบวงจร อาทิ รถมอเตอร์ไซค์ รถเก๋ง รถกระบะ และรถบรรทุก นอกจากนี้ยังมีนายหน้ามืออาชีพที่มีใบอนุญาตถูกต้องพร้อมให้คำปรึกษาและเปรียบเทียบข้อมูลด้านผลิตภัณฑ์ประกันภัยต่างๆ อาทิ ประกันภัยรถยนต์ สามารถแบ่งจ่ายค่าเบี้ยประกันรถยนต์ได้ ไม่มีดอกเบี้ยระยะเวลาสูงสุด 6 งวด คุ้มครองทันทีที่ชำระค่าเบี้ยประกันภัยตั้งแต่งวดแรก อีกทั้งยังมีบริการรับต่อ พ.ร.บ. ฟรี ไม่มีค่าบริการเพิ่ม โดยลูกค้าสามารถเลือกรับข้อเสนอผลิตภัณฑ์ประกันที่ตรงความต้องการมากที่สุดจากกลุ่มบริษัทพันธมิตรประกันภัยชั้นนำ 16 แห่ง ผู้สนใจสามารถรับบริการได้แล้วตั้งแต่วันนี้ที่บูธทรูมันนี่ ภายในห้างสรรพสินค้าแม็คโคร 3 สาขา ได้แก่ สาขาแจ้งวัฒนะ สาขาบางบอน และสาขาศรีนครินทร์ สอบถามได้ที่ call center หมายเลขโทรศัพท์ 088-088-0880

ระบบอัตโนมัติ คือความสำเร็จบนเส้นทางทรานส์ฟอร์มสู่ดิจิทัลขององค์กร

Red Hat

ระบบอัตโนมัติ คือความสำเร็จบนเส้นทางทรานส์ฟอร์มสู่ดิจิทัลขององค์กร

โดย กวินธร ภู่ตระกูล ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท เร้ดแฮท (ประเทศไทย) จำกัด

ความท้าทายของธุรกิจในปัจจุบันคือจำเป็นต้องดำเนินงานให้ฉับไวมากขึ้นกว่าในอดีต ใช้ทรัพยากรน้อยลง ทั้งด้านงบประมาณและบุคลากร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงกลางปี 2563 ซึ่งบุคลากรจำนวนมากต้องทำงานจากบ้านในช่วงที่โควิดแพร่ระบาด ส่งผลให้ฝ่ายไอทีขององค์กรหลายแห่งต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินงานและทบทวนขีดความสามารถในการให้บริการแก่ลูกค้าและการขยายธุรกิจให้เติบโตในช่วงสถานการณ์ความไม่แน่นอน  ทางออกของความท้าทายนี้อาจเป็นระบบอัตโนมัติ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ยังไม่ได้นำมาใช้งานอย่างเต็มศักยภาพ

ระบบอัตโนมัติทางธุรกิจ: เริ่มต้นที่คำจำกัดความ

คำจำกัดความของระบบอัตโนมัติทางธุรกิจ (Business Automation) กำลังเปลี่ยนไป เนื่องจากองค์กรต่าง ๆ ได้หันไปให้ความสำคัญกับการปรับเปลี่ยนไปสู่ดิจิทัล ในอดีต องค์กรมักจะเน้นปรับเปลี่ยนกระบวนการทางธุรกิจให้เป็นอัตโนมัติ เช่น การจัดเก็บข้อมูล แต่ทุกวันนี้ องค์กรทุกแห่งต้องรับมือกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่เกิดจากเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Disruption) และจำเป็นต้องนำระบบอัตโนมัติต่าง ๆ มาใช้ เพื่อช่วยทรานส์ฟอร์มธุรกิจสู่ดิจิทัล  ก่อนหน้านี้ การใช้ระบบอัตโนมัติเน้นไปที่การปรับเปลี่ยนการทำงานต่าง ๆ ให้เป็นรูปแบบอัตโนมัติ แต่ปัจจุบัน ควรพิจารณานำระบบอัตโนมัติไปใช้ทางธุรกิจมากขึ้น เช่น การปรับเปลี่ยนแนวทางการพัฒนาแอปพลิเคชั่นแบบใหม่ ให้สอดคล้องกับกระบวนการทางธุรกิจ แล้วจึงจัดโมเดลเหล่านี้ให้เป็นระบบที่ง่ายต่อการบำรุงรักษาและกระจายการทำงาน

แต่เดิม เทคโนโลยีต่าง ๆ เช่น การจัดการกระบวนการทางธุรกิจ (Business Process Management: BPM), การจัดการการตัดสินใจ (Decision Management) และการประมวลผลเหตุการณ์ที่ซับซ้อน (Complex Event Processing: CEP) ถูกนำมาใช้เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพและควบคุมค่าใช้จ่ายให้กับส่วนงานต่าง ๆ ภายในองค์กร  แต่ปัจจุบัน เทคโนโลยีเหล่านี้กลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่รองรับการทรานส์ฟอร์มสู่ดิจิทัล การนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้ให้สอดคล้องกับเครื่องมือและแนวทางการพัฒนาโมเดิร์นแอปพลิเคชั่นแบบคลาวด์เนทีฟ จะช่วยให้องค์กรนำเสนอแอปพลิเคชั่นใหม่ ๆ ออกสู่ตลาดได้เร็วขึ้น

บทบาทของระบบอัตโนมัติ ต่อการทำดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น

แม้ว่าความจำเป็นในการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นจะขึ้นอยู่กับความต้องการที่เฉพาะเจาะจงของแต่ละองค์กร แต่เป็นที่ชัดเจนว่าดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นคือกลยุทธ์สำคัญที่จะช่วยให้ธุรกิจอยู่รอดได้ในสภาพตลาดปัจจุบัน รายงานผลการศึกษาของไอดีซี ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากเร้ดแฮท ชี้ว่า บุคลากรฝ่ายไอที 86% ระบุว่า “ระบบอัตโนมัติมีความสำคัญอย่างมากหรือมีความสำคัญสูงสุดต่อกลยุทธ์ด้านคลาวด์ในอนาคตขององค์กร” แนวทางการสร้างระบบอัตโนมัติที่ครอบคลุมทั่วทั้งองค์กรจะต้องรวมถึงการปรับเปลี่ยนวิธีที่บุคลากร กระบวนการ และแพลตฟอร์มต่าง ๆ ทำงานร่วมกันด้วย

ตัวอย่างที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงคุณประโยชน์ของระบบอัตโนมัติก็คือ บริษัท แอสเซนด์ มันนี่ (Ascend Money) ของไทย ซึ่งเป็นบริษัทเทคโนโลยีด้านการเงินที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย มีลูกค้ากว่า 40 ล้านคนใน 6 ประเทศ  แอสเซนด์ มันนี่เติบโตอย่างรวดเร็วจากการเข้าซื้อกิจการหลายแห่ง และการที่ทีมงานในแต่ละประเทศมีวิธีการพัฒนาและใช้ดิจิทัลแอปพลิเคชั่นแตกต่างกัน ส่งผลให้ไม่สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ บริษัทฯ ต้องการปรับปรุงประสิทธิภาพในการดำเนินงานด้วยการสร้างแพลตฟอร์มกลางสำหรับการพัฒนาและติดตั้งแอปพลิเคชั่น  แอสเซนด์ มันนี่ ได้กำหนดมาตรฐานเกี่ยวกับกระบวนการ และการให้บริการแอปพลิเคชั่นต่าง ๆ บน OpenShift Container Platform ของเร้ดแฮท ซึ่งทำงานอยู่บนเทคโนโลยี Kubernetes container orchestration  นอกจากนี้ Ansible automation ยังช่วยให้แอสเซนด์ มันนี่ สามารถขยายผลิตภัณฑ์และบริการทางธุรกิจได้อย่างง่ายดาย เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างทันท่วงที

ระบบอัตโนมัติขับเคลื่อนนวัตกรรมทางธุรกิจ

การขยายระบบอัตโนมัติไปใช้ในกิจกรรมต่าง ๆ จะช่วยให้ทำงานแบบแมนนวลน้อยลง  ทีมงานฝ่ายไอทีสามารถนำกระบวนการใหม่ ๆ เช่น DevOps และ DevSecOps ไปใช้ได้ และสามารถพัฒนาและอัพเดตแอปพลิเคชั่นใหม่ ๆ ได้อย่างรวดเร็ว

ระบบอัตโนมัติยังช่วยเรื่องการบริการตนเองหรือทำงานได้ด้วยตนเองและการมอบหมายงาน ในสถานการณ์ปัจจุบันที่ผู้คนจำนวนมากต้องทำงานภายใต้เงื่อนไขใหม่ ๆ เช่น พนักงานจำนวนมากที่ทำงานจากระยะไกล ทำให้เราทุกคนล้วนได้รับแรงกดดันทั้งในเรื่องของทรัพยากรและเวลาที่จำกัด  การมอบหมายงานและการทำงานได้ด้วยตนเองมีความสำคัญมากต่อการรับมือกับความท้าทายใหม่ ๆ เหล่านี้

อย่างไรก็ตาม ทีมไอทีย่อมจะไม่สามารถเขียนโค้ดและสร้างผลิตภัณฑ์ได้หากขาดการตรวจสอบและการควบคุมที่เพียงพอ องค์กรอาจได้รับความเสี่ยงจากช่องโหว่ด้านความปลอดภัย และทำให้ต้องสิ้นเปลืองทรัพยากรที่มีค่า เวลา และเงินไปกับการแก้ปัญหาที่ไม่ควรจะเกิดขึ้นตั้งแต่แรก  ดังนั้น ในการนำระบบอัตโนมัติมาใช้ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการกำกับดูแลว่า “ใครได้รับอนุญาตให้ทำอะไรได้บ้าง”

 

ก้าวต่อไป: ระบบอัตโนมัติที่ขับเคลื่อนด้วย AI

ปัจจุบันระบบอัตโนมัติช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนบุคลากรด้านไอที และเพิ่มความคล่องตัวในการสร้างสรรค์นวัตกรรม  ปรับปรุงประสิทธิภาพ เพิ่มความน่าเชื่อถือ ยกระดับขีดความสามารถด้านการคาดการณ์ ควบคู่ไปกับการลดค่าใช้จ่าย ความผันผวน และความเสี่ยง 

เทคโนโลยีและรูปแบบการใช้งานสำหรับระบบอัตโนมัติทางธุรกิจมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง  ผู้รับผิดชอบด้านเทคโนโลยีที่ต้องประเมินแนวทางที่ดีที่สุดในการขับเคลื่อนความคล่องตัวทางธุรกิจ ควรมองหาโซลูชั่นที่ช่วยให้ผู้ใช้สามารถจัดการนโยบาย การบังคับใช้ และกระบวนการได้ในระดับโดเมน  การแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ในเวลาเดียวกัน ณ จุดเดียว จะช่วยให้ปรับขยายการทำงานได้ง่าย ควบคู่กับการใช้เวลาที่ลดลง เพื่อช่วยให้องค์กรสามารถจัดสรรทรัพยากรให้กับโครงการสำคัญ ๆ ได้มากขึ้น  หากการปรับตัวคือเป้าหมายหลักในปี 2563 ในปี 2564 องค์กรก็ควรยกระดับมาพิจารณานำระบบอัตโนมัติทางธุรกิจมาเป็นส่วนหนึ่งของโรดแมปการทรานส์ฟอร์มสู่ดิจิทัล

การขยายธุรกิจร่วมกับพาร์ทเนอร์ในปี 2564 พาร์ทเนอร์มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนความสำเร็จของเร้ดแฮท

Red Hat

การขยายธุรกิจร่วมกับพาร์ทเนอร์ในปี 2564 พาร์ทเนอร์มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนความสำเร็จของเร้ดแฮท

เร้ดแฮท
โดย กวินธร ภู่ตระกูล ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัทเร้ดแฮท (ประเทศไทย) จำกัด

จากโพสต์ของพอล คอร์เมียร์ ประธานและซีอีโอของเร้ดแฮท ผมขอกล่าวย้อนอดีตถึงช่วงปีที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลกระทบต่อเครือข่ายพาร์ทเนอร์ของเรา รวมไปถึงทิศทางในอนาคต เป็นอีกครั้งหนึ่งที่พอลได้อธิบายถึงความสำคัญของพาร์ทเนอร์ต่อเรื่องราวความสำเร็จทางธุรกิจของเร้ดแฮท:

“ช่องทางจัดจำหน่ายคือหัวใจสำคัญของเร้ดแฮท  ถ้าหากไม่มีเครือข่ายพาร์ทเนอร์ เร้ดแฮทก็จะไม่ได้เป็นบริษัทดังวันนี้”

พาร์ทเนอร์เปรียบเสมือนเนื้อเยื่อที่เชื่อมต่อระหว่างเร้ดแฮทกับลูกค้า ซึ่งเป็นเช่นนี้มาโดยตลอดในเกือบทุกช่วงเวลาของประวัติการดำเนินงานของเร้ดแฮท รวมถึงในช่วงปี 2563 และจะเป็นเช่นนี้ต่อไปขณะที่เราร่วมกันขยายธุรกิจให้เติบโตในปี 2564  เร้ดแฮทและพาร์ทเนอร์ของเราพิสูจน์ให้เห็นถึงความยืดหยุ่นในการดำเนินงานในช่วงปีที่ผ่านมา แต่สิ่งที่โดดเด่นอย่างแท้จริงก็คือ แรงขับเคลื่อนที่เกิดจากพาร์ทเนอร์ในช่วงเวลาที่เต็มไปด้วยปัญหาท้าทายและความไม่แน่นอน

เมื่อโลกเปลี่ยนไป เร้ดแฮทได้พึ่งพาโครงสร้างพื้นฐานโอเพ่นซอร์สของเรา รวมถึงเครือข่ายพาร์ทเนอร์ที่กว้างขวาง เพื่อช่วยให้ลูกค้าดำเนินการปรับเปลี่ยนและปรับขนาดธุรกิจเพื่อตอบโจทย์ความต้องการใหม่ๆ  องค์กรต่างๆ ต้องปรับเปลี่ยนการดำเนินงานและบริการต่างๆ ภายในเวลาชั่วข้ามคืน และในหลายๆ กรณี จำเป็นต้องเร่งการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล (Digital Transformation)  ระบบโอเพ่นไฮบริดคลาวด์ (Open Hybrid Cloud) ไม่ได้เป็นเพียงแค่ทางเลือกสำหรับธุรกิจอีกต่อไป แต่เป็นมาตรการที่จำเป็นสำหรับการดำเนินธุรกิจ

ด้วยเหตุนี้ พาร์ทเนอร์ของเร้ดแฮทจึงมีบทบาทสำคัญเพิ่มมากขึ้นในการนำพาลูกค้าองค์กรทั่วโลกก้าวไปข้างหน้าสู่อนาคตที่เปิดกว้างและปลอดภัยมากขึ้น  และจากผลงานที่ผ่านมา เร้ดแฮทเชื่อมั่นในศักยภาพของพาร์ทเนอร์ซึ่งจะช่วยผลักดันความสำเร็จที่ยั่งยืนในอนาคต

เร้ดแฮท

ยอมรับความเปลี่ยนแปลง

อุตสาหกรรมเทคโนโลยีมีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงและมีการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง  แน่นอนว่าปี 2563 คือช่วงเวลาสำคัญที่เต็มไปด้วยความท้าทาย แต่เร้ดแฮทและพาร์ทเนอร์ของเราก็สามารถฟันฝ่าวิกฤติและเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์และปัญหาต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

เมื่อปีที่แล้ว เราได้เปิดตัว แพลตฟอร์ม Renewals Intelligence ซึ่งช่วยให้พาร์ทเนอร์ได้รับทราบข้อมูลที่ชัดเจน สามารถนำไปใช้งานในทางปฏิบัติ เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจในส่วนของการต่ออายุสัญญาการใช้บริการร่วมกับเร้ดแฮท  ตั้งแต่ข้อมูลผลการดำเนินงานในอดีตไปจนถึงข้อมูลคาดการณ์เกี่ยวกับการขาย แพลตฟอร์ม Renewals Intelligence ช่วยให้พาร์ทเนอร์ตรวจสอบติดตามโอกาสทางธุรกิจ เพื่อรักษาและขยายฐานลูกค้าที่มีอยู่  ปัจจุบันพาร์ทเนอร์ด้านช่องทางจัดจำหน่ายของเร้ดแฮทกว่า 180 รายกำลังใช้งานแพลตฟอร์ม Renewals Intelligence

ในปี 2563 องค์กรต่างๆ ทั่วโลกกำลังสานต่อหรือปรับเปลี่ยนโครงการดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น พาร์ทเนอร์ของเราได้ให้ความช่วยเหลือแก่องค์กรเหล่านี้เพื่อให้ประสบความสำเร็จในการดำเนินโครงการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มีการใช้ Red Hat OpenShift และ  Red Hat Ansible Automation Platform เป็นแพลตฟอร์มสำหรับรองรับเวิร์กโหลดอัตโนมัติที่ยืดหยุ่นและคล่องตัว โดยครอบคลุมเครือข่ายพาร์ทเนอร์ทั่วโลกของเรา

 

เสริมศักยภาพให้กับพาร์ทเนอร์ด้วยการฝึกอบรมและการรับรองความเชี่ยวชาญ

อีกหนึ่งองค์ประกอบสำคัญที่ช่วยให้พาร์ทเนอร์ประสบความสำเร็จก็คือ โครงการ Red Hat Online Enablement  Network (OPEN) ของเรา ซึ่งมีการจัดฝึกอบรมในหลากหลายหลักสูตรและการรับรองความเชี่ยวชาญ เพื่อช่วยให้พาร์ทเนอร์เพิ่มพูนทักษะเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ของเร้ดแฮท รวมไปถึงเทคโนโลยีโอเพ่นไฮบริดคลาวด์

ในปี 2563 เราได้เปิดตัวหลักสูตรใหม่และหลักสูตรปรับปรุง 131 หลักสูตร เช่น หลักสูตรที่เกี่ยวกับบริการแอพพลิเคชั่น, OpenShift, Ansible Automation Platform และ Quarkus เป็นต้น  นอกจากนี้ เร้ดแฮทยังได้ปรับปรุงประสบการณ์ผู้ใช้สำหรับระบบการฝึกอบรม Red Hat OPEN โดยเพิ่มเติมฟังก์ชั่นใหม่สำหรับการแชร์ข้อมูล เพื่อให้พาร์ทเนอร์สามารถแชร์ลิงค์ที่เชื่อมโยงไปยังทรัพยากรต่างๆ ได้อย่างง่ายดาย และยังมีตัวเลือกเพิ่มเติมสำหรับให้พาร์ทเนอร์ขอรับคำแนะนำเกี่ยวกับหลักสูตรการฝึกอบรมที่ควรเรียนรู้ โดยอ้างอิงจากหัวข้อที่สนใจเป็นพิเศษ

ที่สำคัญก็คือ เมื่อปีที่แล้ว มีพาร์ทเนอร์ของเร้ดแฮทได้รับการรับรองความเชี่ยวชาญด้านเทคนิคและการขายกว่า 44,000 รายการทั่วโลก

 

อนาคตข้างหน้า

สำหรับปีนี้ เร้ดแฮทมีแผนที่จะกระตุ้นการมีส่วนร่วมในเครือข่ายพาร์ทเนอร์ของเรา โดยใช้กลยุทธ์ที่มุ่งเน้นลูกค้า โดยเราจะร่วมมือกับพาร์ทเนอร์เพื่อผลักดันความสำเร็จที่ต่อเนื่องของลูกค้า โดยอาศัยเทคโนโลยีของเร้ดแฮทและนวัตกรรมของพาร์ทเนอร์  ด้วยการผสานรวมกลุ่มผลิตภัณฑ์โอเพ่นซอร์สชั้นนำของเร้ดแฮทเข้ากับทักษะความชำนาญเฉพาะด้านเพื่อตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา พาร์ทเนอร์จะสามารถสร้างโซลูชั่นแบบครบวงจร จัดจำหน่ายซอฟต์แวร์ที่มีอยู่ และนำเสนอบริการที่มอบมูลค่าทางธุรกิจที่เหนือกว่าให้แก่ลูกค้า

พาร์ทเนอร์หลายรายของเราเริ่มต้นจาก Red Hat Enterprise Linux (RHEL) แล้วต่อด้วย Red Hat OpenShift แต่เราทำงานอย่างจริงจังเพื่อช่วยให้พาร์ทเนอร์ขยายขีดความสามารถให้ครอบคลุมสถาปัตยกรรมโอเพ่นไฮบริดคลาวด์ทั้งหมด และตอนนี้ พาร์ทเนอร์มีโอกาสที่จะขยายผลิตภัณฑ์และบริการที่นำเสนอ เพื่อให้ได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่จากเทคโนโลยีของเร้ดแฮท นอกเหนือไปจาก RHEL และ OpenShift ซึ่งจะช่วยให้สามารถรองรับการจัดการเวิร์กโหลดในสภาพแวดล้อมคลาวด์หรือระบบที่ติดตั้งภายในองค์กร รวมไปถึงแอพพลิเคชั่นแบบคลาวด์เนทีฟ และอื่นๆ  ขั้นถัดไปเรามีแผนที่จะผลักดันในส่วนของระบบประมวลผลเอดจ์คอมพิวติ้ง (Edge Computing), บริการ Managed Services และระบบรักษาความปลอดภัย

เพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว เราได้ขยายกิจกรรมที่ดำเนินการร่วมกับพาร์ทเนอร์ทั่วโลก และยกระดับความสัมพันธ์กับพาร์ทเนอร์รายสำคัญที่ทำงานร่วมกันมาอย่างยาวนาน  เครือข่ายพาร์ทเนอร์ของเร้ดแฮทครอบคลุมขอบเขตที่กว้างขวาง ตั้งแต่ผู้ให้บริการโซลูชั่นไปจนถึงบริษัทซอฟต์แวร์อิสระ (ISV) และผู้ติดตั้งระบบ (SI) ทั้งยังมีความร่วมมือกับผู้ให้บริการคลาวด์สาธารณะอีกด้วย  ขณะที่เราก้าวเข้าสู่ปี 2564 ลูกค้าหลายรายกำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาไปสู่ไฮบริดคลาวด์ ขณะที่พาร์ทเนอร์ของเรากำลังเสริมสร้างทักษะและความเชี่ยวชาญในระดับที่สูงขึ้น และเราคาดหวังว่าจะประสบความสำเร็จร่วมกับพาร์ทเนอร์มากยิ่งขึ้นไปอีกในอนาคต

การดำเนินการของเราร่วมกับพาร์ทเนอร์มีความคืบหน้าอย่างเห็นได้ชัด โดยอาศัยเครื่องมือใหม่ๆ เช่นแพลทฟอร์ม Renewals Intelligence และการขยายการฝึกอบรมหลักสูตร OPEN และเรามีแผนที่จะพัฒนาต่อยอดเพื่อให้ครอบคลุมส่วนอื่นๆ ภายในระบบนิเวศน์ของเรา  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ISV และ SI มีความพร้อมที่จะเติบโตไปพร้อมๆ กับเร้ดแฮท ด้วยการสร้าง การจัดจำหน่าย และการให้บริการซัพพอร์ตสำหรับโซลูชั่นต่างๆ ร่วมกันในปี 2564

พร้อมกันนี้ เรามองว่าบริการ Managed Services เป็นองค์ประกอบสำคัญสำหรับการดำเนินงานบนระบบไฮบริดคลาวด์ และพาร์ทเนอร์ของเร้ดแฮทมีบทบาทหลักในการขับเคลื่อนธุรกิจในส่วนนี้  ผู้ให้บริการคลาวด์สาธารณะรายสำคัญได้นำเสนอ OpenShift Dedicated ในรูปแบบของบริการที่ได้รับการจัดการอย่างสมบูรณ์สำหรับ Red Hat OpenShift บน AWS, Google Cloud Platform และ Microsoft Azure  ขณะที่เราขยายขอบเขตการนำเสนอเทคโนโลยีโดยอาศัยความร่วมมือกับบริษัทต่างๆ รวมไปถึงผู้ให้บริการคลาวด์สาธารณะ เรามีเป้าหมายที่จะช่วยให้พาร์ทเนอร์และลูกค้าที่ใช้ระบบคลาวด์ใดๆ ก็ตามได้รับประโยชน์ทางธุรกิจอย่างเป็นรูปธรรม

นอกจากนี้ เร้ดแฮทยังมีการมอบรางวัล Red Hat ASEAN Partner Synergy Awards ประจำปี 2564 ให้แก่พาร์ทเนอร์ดูแลกลุ่มองค์กรธุรกิจและภาครัฐ เพื่อยกย่องความสำเร็จและความมุ่งมั่นในการพัฒนานวัตกรรมโซลูชั่นโดยใช้เทคโนโลยีของเร้ดแฮท เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าและปรับปรุงผลประกอบการทางด้านธุรกิจ สำหรับรางวัลในปีนี้ มีพาร์ทเนอร์ไทยได้รับรางวัลเจ็ดรายในแปดสาขาด้วยกัน คือ

บริษัท จีเอเบิล จำกัด [Advanced Partner of the Year], บริษัท ยิบอินซอย จำกัด

[Commercial Partner of the Year และ Strategic Products Partner of the Year], บริษัท อินแกรม ไมโคร (ประเทศไทย) จำกัด [Distributor of the Year], บริษัท วีเอสที อีซีเอส (ประเทศไทย) จำกัด [Net New Business Partner of the Year], บริษัท ฮิวเลตต์-แพคการ์ด (ประเทศไทย) จำกัด [OEM Partner of the Year], บริษัท สิริซอฟต์ จำกัด [Ready Partner of the Year] และ บริษัท วีโนฮาว (ประเทศไทย) จำกัด [Training Partner of the Year] รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับรางวัล

เกาะติดเทรนด์บ้าน 2021 “เช่า” มาแรงกว่าซื้อเพราะตอบโจทย์คนยุคนี้จริงหรือ?

DDProperty

เกาะติดเทรนด์บ้าน 2021 “เช่า” มาแรงกว่าซื้อเพราะตอบโจทย์คนยุคนี้จริงหรือ?

แม้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยจะยังคงชะลอตัว แต่การนำเข้าวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ก็ถือเป็นสัญญาณที่ดีที่คาดว่าจะช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายของผู้บริโภคและเร่งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้ในอนาคต

ข้อมูลจากศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนกุมภาพันธ์ 2564 อยู่ที่ 49.4 โดยปรับตัวดีขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 3 เดือน หลังจากการแพร่ระบาดฯ ระลอกใหม่ แม้ว่าจะยังไม่ดีเท่าที่ควร เนื่องมาจากยังไม่มีไทม์ไลน์ที่ชัดเจนของแผนการฉีดวัคซีนทั้งประเทศ ทำให้ผู้บริโภคยังมีความกังวลกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่มีผู้ติดเชื้ออย่างต่อเนื่อง ผู้บริโภคส่วนใหญ่จึงชะลอการซื้อสินค้าที่ไม่จำเป็นหรือสินค้าที่มีราคาสูงในช่วงนี้ออกไปก่อน

เห็นได้จากผลสำรวจพฤติกรรมการซื้อของคนไทยในสถานการณ์การแพร่ระบาดฯ ปี 2563 ของวันเดอร์แมน ธอมสัน และแดทเทล พบว่า ความตั้งใจในการซื้อสินค้าที่ต้องใช้ข้อมูลในการตัดสินใจซื้อ (High Involvement) เช่น ยานยนต์ อสังหาริมทรัพย์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ฯลฯ ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดฯ ของผู้บริโภคลดลงทุกกลุ่มสินค้า ผู้มีรายได้น้อยกว่า 40,000 บาทต่อเดือนมีแนวโน้มที่จะลดหรือหยุดการซื้อสินค้าและบริการออกไป และส่วนใหญ่ไม่มีแนวโน้มจะกลับมาซื้อสินค้าเหล่านี้ภายใน 1 ปี

สอดคล้องกับผลสำรวจล่าสุดจากวันเดอร์แมน ธอมสัน ณ เดือนกันยายน 2563 ที่ได้คาดคะเนพฤติกรรมของผู้บริโภคช่วงหลังการแพร่ระบาดฯ ว่าในอนาคตในระยะสั้น-กลาง (0-1 ปี) ผู้บริโภคจะมีพฤติกรรมไม่ชอบความเสี่ยง และเลือกที่จะถือเงินสดหรือฝากธนาคาร รวมถึงหารายได้เสริมจากช่องทางอื่น ๆ เพื่อเพิ่มความมั่นคงทางการเงินมากขึ้น

 

โควิด-19 ตัวแปรสำคัญ ดันอสังหาฯ ให้เช่าโตต่อเนื่อง 

ภาคอสังหาฯ ยังคงได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่องเช่นกัน เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นตัวแปรสำคัญที่มีอิทธิพลต่อความเชื่อมั่นในการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยของผู้บริโภค เนื่องจากบ้าน/คอนโดฯ เป็นทรัพย์สินที่มีราคาสูงและมีระยะเวลาผ่อนชำระยาวนาน แม้คนไทยจะมีประสบการณ์ตรงในการรับมือการแพร่ระบาดฯ ในรอบแรก แต่การแพร่ระบาดฯ ระลอกใหม่ที่มาอย่างไม่มีใครคาดคิด ทำให้ทุกคนต้องปรับแผนการใช้จ่ายอย่างรัดกุมอีกครั้ง

จากปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้เทรนด์การเช่าอสังหาฯ กลับมาเติบโตอย่างเห็นได้ชัดในช่วงนี้ ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ (DDproperty) เว็บไซต์มาร์เก็ตเพลสด้านอสังหาริมทรัพย์อันดับ 1 ของไทย เผยข้อมูลผู้เข้าเยี่ยมชมในเว็บไซต์ DDproperty.com ทั่วประเทศในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2564 พบว่า ความสนใจเช่าที่อยู่อาศัยมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากยอดเข้าชมประกาศที่อยู่อาศัยให้เช่าที่เพิ่มขึ้นถึง 31% เมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2563 ที่เริ่มมีการแพร่ระบาดฯ ระลอกใหม่ ในขณะที่ความสนใจซื้อมีการเติบโตในสัดส่วนเพียง 7% เท่านั้น เมื่อพิจารณาแนวโน้มประกาศที่อยู่อาศัยให้เช่าบนเว็บไซต์ (Supply) ในช่วงสองเดือนแรกของปีนี้พบว่า เพิ่มขึ้นมากกว่าครึ่ง (52%) เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2563 ซึ่งการแพร่ระบาดฯ ยังไม่แพร่หลายในไทย

“ความจำเป็น” ผลักให้ผู้บริโภคเลือกเช่าเพื่อรักษาเสถียรภาพทางการเงิน

ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ เผยปัจจัยแวดล้อมที่มีบทบาทสำคัญทำให้ผู้บริโภคยุคนี้หันมาพิจารณาและสนใจเลือกเช่าที่อยู่อาศัยมากกว่าการซื้อ แม้จะมีโปรโมชั่นสงครามราคาออกมากระตุ้นการซื้อมากมายก็ตาม ดังนี้

  • เศรษฐกิจชะลอตัวต่อเนื่อง กระทบความมั่นคงต่ออาชีพ ผลกระทบทางเศรษฐกิจตั้งแต่ปี 2562 รวมกับวิกฤติการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ตลอดปี 2563 กินระยะเวลายาวนานกว่าที่คาดการณ์ไว้ ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจปีนี้ยังคงไม่แน่นอน โดยข้อมูลจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ คาดว่าแนวโน้มผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศหรือ GDP ของปี 2564 จะขยายตัวอยู่ที่ 2.5%-3.5% ซึ่งเป็นการปรับตัวลดลงจากคาดการณ์เดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 3.5%-4.5% เนื่องจากยังมีผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจที่จะลงทุนและจ้างงานในอนาคต ทำให้ผู้บริโภคมีความกังวลกับความมั่นคงของอาชีพการงาน จึงให้ความสำคัญกับการวางแผนการเงินของครอบครัวมากขึ้น ปรับลดการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นเร่งด่วน เก็บเงินสำรองเพื่อลดปัญหาสภาพคล่องทางการเงินหากมีการเปลี่ยนแปลงด้านอาชีพ
  • ผู้บริโภคมองหาที่อยู่อาศัยในราคาที่เอื้อมถึง เนื่องจากความสามารถในการใช้จ่าย (Affordability) ของผูู้บริโภคในปัจจุบันลดลง ทำให้ต้องวางแผนการใช้จ่ายอย่างรัดกุมและให้ความสำคัญกับการมีเงินเก็บมากขึ้น ผู้บริโภคจึงใช้เวลาและความรอบคอบในการพิจารณาซื้อสินค้าและบริการต่าง ๆ มากตามไปด้วย โดยเน้นไปที่ความคุ้มค่าที่ได้รับบวกกับราคาที่เหมาะสม โดยเฉพาะทรัพย์สินที่มีราคาสูง มีการเปรียบเทียบความเหมาะสมของค่าใช้จ่ายและความคุ้มค่าที่จะได้รับเมื่อเลือกซื้อหรือเช่าบ้าน/คอนโดฯ โดยมีตัวแปรสำคัญ คือ กำลังซื้อที่มีจำกัดในเวลานี้ของผู้บริโภค ด้วยเหตุนี้จึงทำให้การเช่าที่อยู่อาศัยเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจมากกว่าการซื้อ นอกจากนี้อสังหาฯ ให้เช่าส่วนใหญ่จะมีการตกแต่งอย่างสวยงามและเฟอร์นิเจอร์พร้อมเข้าอยู่ทันที ช่วยให้ผู้บริโภคประหยัดค่าใช้จ่ายส่วนนี้ และไม่จำเป็นต้องมีเงินเป็นค่าบำรุงรักษา หรือเสียภาษีต่าง ๆ เหมือนการมีบ้านเป็นของตัวเอง
  • เลือกเช่าเพื่อลดภาระผูกพันในระยะยาว สร้าง Safe Zone ด้านค่าใช้จ่าย เพราะการเช่ามีภาระผูกพันที่น้อยกว่าการซื้อ ไม่มีสัญญาผูกมัดระยะยาว การเช่าที่อยู่อาศัยเป็นทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับผู้บริโภควัยเริ่มต้นทำงานที่กำลังเริ่มสร้างฐานะ หรือมีภาระค่าใช้จ่ายต่าง ๆ อยู่แล้ว เพราะช่วยลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นบางส่วน ช่วยให้ผู้บริโภคสามารถวางแผนการเงินเพื่อรองรับผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวและสร้าง Safe Zone ลดความเสี่ยงปัญหาค่าใช้จ่ายจากเหตุการณ์ฉุกเฉินต่าง ๆ ได้ เพราะการมีเงินออมเก็บไว้ถือเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคยุคนี้ไม่ควรมองข้าม การเช่าที่อยู่อาศัยจะช่วยให้ผู้บริโภคสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายในการผ่อนดาวน์ และสามารถนำเงินเก็บไปใช้ในเรื่องที่จำเป็นกว่าได้ ป้องกันปัญหาการเงินขาดสภาพคล่องจากความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต จึงช่วยให้ผู้บริโภคสามารถวางแผนการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายและเงินเก็บได้ดียิ่งขึ้น
  • มีความยืดหยุ่นในการโยกย้ายทำเล ได้ทดลองอยู่ก่อนซื้อขาด ปัจจุบันความต้องการเช่าที่อยู่อาศัยไม่ได้กระจุกตัวอยู่ในย่านศูนย์กลางธุรกิจของกรุงเทพฯ (CBD) อีกต่อไป เมื่อมีการขยายตัวของเมือง การพัฒนาระบบสาธารณูปโภคและระบบขนส่งมวลชนอย่างรถไฟฟ้า ทำให้การจ้างงานและแหล่งที่อยู่อาศัยมีการขยายไปในทำเลที่มีศักยภาพเป็นพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ (New CBD) และแถบชานเมืองมากขึ้น ผู้บริโภคจึงมีทางเลือกในการเช่าที่อยู่อาศัยที่มีราคาเหมาะสมในทำเลที่ไม่แออัด และเดินทางไปทำงานใจกลางเมืองได้สะดวก เมื่อมีความจำเป็นต้องเปลี่ยนงานหรือโยกย้ายทำเลก็ทำได้ง่ายกว่า เพราะการเช่าไม่มีสัญญาผูกมัดในระยะยาว และยังมีข้อดีตรงที่ช่วยให้ผู้บริโภคได้ทดลองอยู่อาศัยในทำเลที่สนใจเพื่อประเมินความพึงพอใจจากสภาพแวดล้อม ความเจริญในพื้นที่ รวมถึงการเดินทาง ก่อนที่จะตัดสินใจซื้อบ้าน/คอนโดฯ ในทำเลนั้น ๆ ในอนาคตได้ นอกจากนี้ยังสามารถเลือกเช่าที่อยู่อาศัยในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อปรับเปลี่ยนให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ที่แตกต่างไปในแต่ละช่วงวัยได้ง่ายขึ้น
  • คนรุ่นใหม่ยังออมเงินหวังซื้อบ้าน แต่คนโสดหันไปเลือกเช่ามากขึ้น การซื้อที่อยู่อาศัยยังคงเป็นหนึ่งในความต้องการอันดับต้น ๆ ของคนรุ่นใหม่อยู่เสมอ ข้อมูลล่าสุดจากผลสำรวจ DDproperty’s Thailand Consumer Sentiment Study พบว่า แผนการใช้จ่ายใน 1 ปีข้างหน้าของผู้บริโภคกลุ่มมิลเลนเนียล หรือ Gen Y นั้นมากกว่าครึ่ง (59%) ตั้งใจออมเงินเพื่อวางแผนซื้อบ้าน อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาจากความต้องการและความจำเป็นในการดำเนินชีวิตแล้ว การเลือกเช่าอสังหาฯ ก็ได้รับความนิยมและมีแนวโน้มเติบโตในกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีสถานภาพโสดเช่นกัน โดย 8% ของผู้บริโภคกลุ่มนี้ให้ความสนใจเช่าบ้าน/คอนโดฯ สูงกว่าคนรุ่นใหม่ที่มีสถานะอื่น ๆ การเช่าที่อยู่อาศัยช่วยให้คนโสดที่อยู่ตัวคนเดียว ไม่มีภาระผูกมัดทางครอบครัวมีความคล่องตัวในการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายมากกว่า เมื่อพิจารณาความเหมาะสมด้านอื่น ๆ แล้วถือว่าเพียงพอกับไลฟ์สไตล์ประจำวัน มีความคุ้มค่า ไม่เป็นการสร้างหนี้เกินกำลังอย่างไม่จำเป็น ตอบโจทย์ความต้องการใช้ชีวิตอิสระของคนโสดได้เป็นอย่างดี

คนชะลอการซื้อแต่ยังไม่พับแผน

แม้การเช่าที่อยู่อาศัยจะตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคที่ต้องการควบคุมค่าใช้จ่ายในขณะนี้ แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าส่วนใหญ่ยังอยากมีบ้านเป็นของตัวเองเมื่อมีความพร้อมมากพอ เนื่องด้วยความท้าทายจากสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันทำให้ผู้บริโภคที่วางแผนซื้อบ้านจะใช้เวลาในการตัดสินใจนานขึ้นเพื่อรอดูทิศทางสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เข้ามาอิทธิพลด้านการเงินและการงาน

ผลสำรวจล่าสุดเผยว่ามีผู้บริโภคเพียง 13% เท่านั้นที่ตัดสินใจจะซื้อที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองภายใน 1 ปี ในขณะที่อีก 18% ยังไม่มีแผนการซื้อที่อยู่อาศัยในช่วงระยะเวลาอันใกล้ โดยตั้งใจจะซื้อบ้าน/คอนโดฯ ในช่วงเวลามากกว่า 5 ปีหลังจากนี้ นอกจากนี้ในกลุุ่มผู้บริโภคที่เป็นผู้เช่ายังมีการวางแผนขยับขยายที่อยู่อาศัยในอนาคต เพื่อสร้างความมั่นคงและรองรับความต้องการของครอบครัว โดยกว่า 3 ใน 5 (64%) มีเหตุผลสำคัญในการวางแผนซื้อบ้านใหม่ คือ ต้องการมีบ้านเป็นของตัวเองแทนการเช่าในปัจจุบัน ตามมาด้วยต้องการพื้นที่ส่วนตัว และพื้นที่สำหรับพ่อแม่และบุตรหลานที่มากขึ้น (46% และ 31% ตามลำดับ)

จะเห็นได้ว่าความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยนั้นยังมีอยู่ ผู้บริโภคส่วนใหญ่ไม่ได้ตั้งใจพับแผนการซื้อแค่เลือกชะลอออกไปก่อน เพื่อเก็บเงินสดไว้กับตัวและรอดูแนวโน้มจากสถานการณ์ต่าง ๆ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับผู้ที่มองหาที่อยู่อาศัยและตัดสินใจได้อย่างมั่นใจยิ่งขึ้น ทั้งนี้เว็บไซต์ที่เป็นสื่อกลางอย่างดีดีพร็อพเพอร์ตี้ (https://www.ddproperty.com/) ได้รวบรวมข้อมูลที่น่าสนใจเและเป็นประโยชน์สำหรับผูู้บริโภคที่กำลังมองหาบ้าน/คอนโดฯ ให้เช่า โดยรวบรวมข้อมูลประกาศให้เช่า/ซื้อ (Listings for rent/sale) ที่น่าสนใจมากมายในหลากหลายทำเลครอบคลุมทั่วประเทศ พร้อมทั้งมี  “AreaInsider” ที่นำเสนอข้อมูลเชิงลึกของแต่ละทำเลครอบคลุมทั่วกรุงเทพฯ และปริมณฑล ช่วยให้ผู้บริโภคศึกษาข้อมูลทำเลที่สนใจได้อย่างง่ายดาย และตัดสินใจเลือกทำเลได้ตรงไลฟ์สไตล์มากขึ้น

นอกจากนี้ เมื่อผู้บริโภคมีความพร้อมในการซื้อที่อยู่อาศัยก็สามารถใช้เครื่องมือคำนวณยอดเงินกู้ที่จะได้รับเมื่อยื่นขอสินเชื่อจากธนาคาร (Affordability calculator) ช่วยประเมินความสามารถในการซื้อเพื่อเป็นข้อมูลล่วงหน้า เป็นการเตรียมความพร้อมก่อนการดำเนินการในขั้นตอนต่อไป พร้อมกันนี้ยังสามารถศึกษาข้อมูลเชิงลึก/ความรู้จากผู้เชี่ยวชาญในแวดวงอสังหาฯ ได้โดยตรงเพื่อช่วยให้ตัดสินใจซื้อ/เช่าที่อยู่อาศัยได้อย่างมั่นใจยิ่งขึ้น