“เศรษฐกิจซบเซา-กำลังซื้อยังไม่ฟื้น” อุปสรรคสำคัญของคนอาเซียนที่อยากมีบ้าน

DDProperty

"เศรษฐกิจซบเซา-กำลังซื้อยังไม่ฟื้น" อุปสรรคสำคัญของคนอาเซียนที่อยากมีบ้าน

ทุกประเทศในอาเซียนเจ็บป่วยจากวิกฤติการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่นอกจากจะส่งผลโดยตรงต่อด้านสาธารณสุขแล้วยังฉุดการเติบโตทางเศรษฐกิจ แม้จะมีการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมประชากร พร้อมออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจให้กลับมาฟื้นตัวเร็วที่สุดก็ตาม เห็นได้จากรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลกฉบับล่าสุด (World Economic Outlook) ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ที่ได้ปรับลดการคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของ 5 ประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, ไทย และเวียดนาม) ว่าจะขยายตัวเฉลี่ย 4.3% ลดลง 0.6% จากการคาดการณ์เมื่อ 3 เดือนที่แล้ว

นอกจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและภายในประเทศจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อกำลังซื้อและความเชื่อมั่นในการใช้จ่ายของผู้บริโภคแล้ว ภาคอสังหาฯ ก็ได้รับผลกระทบไปด้วยเช่นกัน แม้มีความต้องการเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยแต่ยังมีปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ ที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อในช่วงนี้ ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ (DDproperty) เว็บไซต์มาร์เก็ตเพลสด้านอสังหาริมทรัพย์อันดับ 1 ของไทย เผยผลสำรวจความคิดเห็นของผู้บริโภคที่มีต่อตลาดที่อยู่อาศัยในไทย DDproperty’s Thailand Consumer Sentiment Study ฉบับล่าสุด และผลสำรวจความคิดเห็นผู้บริโภคในอาเซียน (สิงคโปร์, มาเลเซีย และอินโดนีเซีย) จากเว็บไซต์ในเครือ PropertyGuru Group (พร็อพเพอร์ตี้กูรู กรุ๊ป) เผยว่าคะแนนความพึงพอใจต่อบรรยากาศตลาดที่อยู่อาศัยของผู้บริโภคในอาเซียนส่วนใหญ่มีแนวโน้มลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564 อันเป็นผลมาจากโควิด-19 กลายพันธุ์ที่กระจายเร็วและส่งผลรุนแรง โดยคะแนนความพึงพอใจในรอบล่าสุดของชาวอินโดนีเซียลดลงจาก 73% มาอยู่ที่ 69% ส่วนชาวสิงคโปร์ลดลงจาก 48% เหลือเพียง 41% ด้านชาวไทยลดลงจาก 48% เหลือ 43% มีเพียงชาวมาเลเซียที่ให้คะแนนความพึงพอใจเพิ่มขึ้นจาก 43% เป็น 46% อันเป็นผลมาจากการที่รัฐบาลได้ออกมาตรการมากมายเพื่อควบคุมการเก็งกำไรและป้องกันไม่ให้เกิดภาวะอุปทานล้นตลาดอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ มีเพียงผู้บริโภคในประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์ที่มองว่าอัตราดอกเบี้ยของสินเชื่อที่อยู่อาศัยปัจจุบันมีความเหมาะสม (41% และ 45% ตามลำดับ) ในขณะที่ชาวอินโดนีเซีย (44%) และชาวไทย (39%) มองว่าการกู้ซื้อที่อยู่อาศัยมีอัตราดอกเบี้ยสูง โดยแค่ 19% ของผู้บริโภคไทยคิดว่าอัตราดอกเบี้ยสมเหตุสมผลแล้ว ซึ่งต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับผู้บริโภคในประเทศอื่นในอาเซียน

สะท้อนให้เห็นถึงความท้าทายที่คนอยากมีบ้านต้องเผชิญซึ่งจำเป็นต้องพึ่งพาการเติบโตทางเศรษฐกิจและมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาฯ จากภาครัฐ ที่จะมีบทบาทสำคัญในการช่วยกระตุ้นการตัดสินใจซื้ออสังหาฯ ให้กลับมาดังเดิม

จับตากำลังซื้อชาวมิลเลนเนียล หันลงทุนสร้างความมั่นคงก่อนมีบ้าน

ดีดีพร็อพเพอร์ตี้เจาะลึกมุมมองความต้องการที่อยู่อาศัยและการวางแผนการเงินของผู้บริโภคกลุ่มมิลเลนเนียลหรือ Gen Y ในแถบอาเซียนที่อยู่ในช่วงวัยทำงานและเริ่มซื้อที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักในตลาดอสังหาฯ ท่ามกลางความท้าทายและอุปสรรครอบด้าน ทั้งจากโควิด-19 และสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลต่อการเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยในเวลานี้

     ●  หนี้ครัวเรือนฉุดชาวไทยไม่พร้อมย้ายออก สวนทางเพื่อนบ้าน ผลสำรวจพบว่า ชาวมิลเลนเนียลอาเซียนส่วนใหญ่มีความพร้อมและวางแผนที่จะย้ายออกจากบ้านพ่อแม่ในช่วง 1 ปีข้างหน้านี้ โดยชาวอินโดนีเซียมีความพร้อมมากที่สุด กว่า 4 ใน 5 (84%) ตั้งใจย้ายออกเพื่อไปหาที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง ในขณะที่กว่า 3 ใน 4 ของชาวมาเลเซียและชาวสิงคโปร์ต่างมีแนวโน้มจะย้ายออกจากบ้านเช่นกัน (79% และ 77% ตามลำดับ) สวนทางกับกลุ่มมิลเลนเนียลชาวไทยที่มากกว่าครึ่ง (58%) เผยว่ายังไม่มีแผนจะย้ายออกในช่วง 1 ปีข้างหน้านี้ สาเหตุมาจากปัญหาหนี้ครัวเรือนและค่าใช้จ่ายที่มากขึ้น สอดคล้องกับศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี (ttb analytics) ที่คาดการณ์ว่าระดับหนี้ครัวเรือนของไทยอาจเพิ่มขึ้นไปถึง 93% ในสิ้นปี 2564 โดยพบว่าสัดส่วนหนี้ครัวเรือนในไตรมาส 1 ของปี 2564 ใช้เพื่อซื้ออสังหาฯ สูงที่สุดถึง 34% นอกจากนี้ ลูกหนี้ที่เข้าโครงการรับการช่วยเหลือในช่วงไตรมาส 2 ของปีนี้ยังมาจากหนี้ที่อยู่อาศัยเป็นหลัก มียอดขอความช่วยเหลือรวมสูงถึง 4.5% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) เทียบกับยอดหนี้เสีย (Non-Performing Loan: NPL) ที่ 0.6% ของ GDP

     ●  “ปัญหาการเงิน-ไม่ได้แต่งงาน” อุปสรรคใหญ่เมื่อคิดมีบ้าน กลุ่มมิลเลนเนียลชาวอาเซียนที่อาศัยอยู่กับพ่อแม่เผยว่าสภาพคล่องทางการเงินและการครองตัวเป็นโสดเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ยังไม่ย้ายออก รวมทั้งมีปัจจัยอื่น ๆ ที่แตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ ปัญหาหลักที่ทำให้ชาวมาเลเซียไม่ย้ายออกไปซื้อบ้านของตัวเอง โดย 62% ของชาวมาเลเซียที่ทำแบบสอบถามฯ เผยว่ามีเงินเก็บไม่เพียงพอที่จะซื้อหรือเช่าบ้าน ตามมาด้วยไม่ย้ายออกเนื่องจากยังไม่ได้แต่งงาน (48%) และมองว่าราคาอสังหาฯ ยังมีราคาแพงเกินไป จึงขอเก็บเงินไว้ดีกว่าจะนำไปซื้อบ้าน (31%) ในขณะที่ชาวอินโดนีเซียมีมุมมองคล้ายกับชาวมาเลเซีย คือมีเงินไม่พอที่จะซื้อหรือเช่าที่อยู่ใหม่ของตัวเองทำให้ไม่ตัดสินใจย้ายออก (55%) ตามมาด้วยยังไม่ได้แต่งงาน (45%) ในขณะที่อันดับสามเผยว่าอยากอยู่ดูแลพ่อแม่ (31%)

         แตกต่างจากชาวสิงคโปร์และชาวไทยอย่างเห็นได้ชัด โดยชาวสิงคโปร์ส่วนใหญ่มองว่าการที่ยังไม่แต่งงานและโครงการที่อยู่อาศัยแบบ BTO (Build-to-Order) มีความล่าช้าเป็นอุปสรรคใหญ่ในสัดส่วนเท่ากันที่ 41% ตามมาด้วยปัญหาการเงิน (24%) ส่วนสาเหตุหลักที่ทำให้ชาวไทยไม่ย้ายออกจากบ้านพ่อแม่ เกือบครึ่ง (49%) เผยว่าต้องการอยู่กับครอบครัวและคอยดูแลพ่อแม่ ตามมาด้วยไม่มีเงินเพียงพอในการหาที่อยู่อาศัยใหม่ (43%) และตั้งใจที่จะรับช่วงต่อบ้านจากพ่อแม่อยู่แล้ว (22%) สะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมและรูปแบบการใช้ชีวิตแบบครอบครัวขยายที่หล่อหลอมความผูกพันและคุ้นเคยกับการอยู่ร่วมบ้านเป็นครอบครัวใหญ่มากกว่า

ดีดีพร็อพเพอร์ตี้

     ●  ความมั่นคงคือคำตอบ ดันเทรนด์เงินฉุกเฉินมาแรง เมื่อพูดถึงการวางแผนการใช้จ่ายใน 1 ปีข้างหน้าของกลุ่มมิลเลนเนียลในอาเซียน พบว่าเทรนด์เงินสำรองฉุกเฉิน ซึ่งเป็นอีกทางเลือกการออมเงินในบัญชีออมทรัพย์ดอกเบี้ยสูงหรือกองทุนมาแรงอย่างเห็นได้ชัด สะท้อนให้เห็นว่าชาวมิลเลนเนียลได้เรียนรู้จากประสบการณ์ที่ต้องเผชิญการแพร่ระบาดฯ ทำให้หันมาสนใจวางแผนการเงินเพื่อเตรียมพร้อมรับมือเหตุฉุกเฉินที่อาจส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องทางการเงินในอนาคตมากขึ้น กว่า 3 ใน 4 ของชาวสิงคโปร์ 76% วางแผนเก็บเงินไว้เป็นเงินสำรองฉุกเฉิน ตามมาด้วยเก็บเงินไว้ชำระหนี้ (39%) และนำไปใช้เพื่อท่องเที่ยวในวันหยุด (35%) ด้านชาวมาเลเซีย 65% ให้ความสนใจในการเก็บเงินเพื่อสร้างกองทุนฉุกเฉินมาเป็นอันดับแรกเช่นกัน อย่างไรก็ดี ครึ่งหนึ่ง (50%) เผยว่าจะนำเงินไปซื้อที่อยู่อาศัย และ 40% ต้องการนำเงินไปใช้หนี้ที่ค้างอยู่ ในขณะที่แผนการใช้จ่ายของชาวไทยยังคงให้ความสนใจไปที่การบริหารจัดการเงินให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดผ่านการสร้างกองทุนฉุกเฉิน 61% ตามมาด้วยนำเงินไปใช้จ่ายภายในครอบครัวในสัดส่วนไล่เลี่ยกันที่ 60% และเลือกเก็บเงินไว้ชำระหนี้ที่ค้างอยู่ 54% สะท้อนให้เห็นภาระหน้าที่ของผู้บริโภคในช่วงวัยนี้ที่มีบทบาทในการบริหารจัดการสภาพคล่องทางการเงินของครอบครัวและรับผิดชอบค่าใช้จ่ายส่วนอื่นมากขึ้น

ดีดีพร็อพเพอร์ตี้_DDproperty_ตลาดที่อยู่อาศัยซบเซา

แอสเซนด์ มันนี่ เผยมูลค่าบริษัททะยาน 1,500 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ หลังระดมทุนครั้งล่าสุด และก้าวสู่การเป็นฟินเทคยูนิคอร์นรายแรกของประเทศไทย

แอสเซนด์ มันนี่

แอสเซนด์ มันนี่ เผยมูลค่าบริษัททะยาน 1,500 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ หลังระดมทุนครั้งล่าสุด และก้าวสู่การเป็นฟินเทคยูนิคอร์นรายแรกของประเทศไทย

  • ล่าสุด นักลงทุนรายใหม่ โบว์ เวฟ แคปปิตอล แมเนจเมนท์ ร่วมกับ เครือเจริญโภคภัณฑ์ และ แอนท์ กรุ๊ป พาแอสเซนด์ มันนี่ สู่ทำเนียบยูนิคอร์น ในการระดมทุนรอบล่าสุดนี้
  • มุ่งขับเคลื่อนการเข้าถึงบริการทางการเงินผ่านการขยายบริการ ทรูมันนี่ วอลเล็ท (TrueMoney Wallet) และบริการทางการเงินดิจิทัลอื่น ๆ ทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงนวัตกรรมบริการทางการเงินเพื่อชีวิตที่ดีขึ้น เครือเจริญโภคภัณฑ์มองการลงทุนครั้งนี้เป็นการดันธุรกิจใหม่เข้าสู่ยุค 4.0 เสริมแพลตฟอร์มแห่งโอกาสรับการเปลี่ยนแปลงหลังโควิด
  • เผยยอดการทำธุรกรรมผ่านแพลตฟอร์ม (Total Payment Volume) รวม 6 ประเทศ สูงถึง 14,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ เมื่อปี 2563 
แอสเซนด์ มันนี่_ฟินเทค

แอสเซนด์ มันนี่ บริษัทฟินเทคชั้นนำของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เผยบริษัทฯ มีมูลค่าเพิ่มเป็น 1,500 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ ภายหลังระดมทุนรอบล่าสุดจำนวน 150 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ และก้าวสู่การเป็นบริษัทฟินเทคยูนิคอร์นรายแรกของประเทศไทย โดย แอสเซนด์ มันนี่ มีแผนเดินหน้าขับเคลื่อนการเข้าถึงบริการทางการเงินในระดับภูมิภาค เพื่อช่วยให้ผู้ที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินมีชีวิตที่ดีขึ้น ผ่านการเพิ่มจำนวนผู้ใช้ ทรูมันนี่ วอลเล็ท และขยายบริการทางการเงินดิจิทัลต่าง ๆ อาทิ สินเชื่อดิจิทัล การลงทุนดิจิทัล และการโอนเงินข้ามประเทศ ให้ครอบคลุมในระดับภูมิภาค

โดยในการระดมทุนครั้งล่าสุดนี้ ยังได้บริษัท โบว์ เวฟ แคปปิตอล แมเนจเมนท์ (Bow Wave Capital Management) จากสหรัฐอเมริกา มาลงทุนร่วมกับเครือเจริญโภคภัณฑ์ และ แอนท์ กรุ๊ป

นายศุภชัย เจียรวนนท์ ผู้ก่อตั้ง และ ประธานคณะกรรมการบริษัท แอสเซนด์ มันนี่ จำกัด กล่าวว่า “นับตั้งแต่การก่อตั้ง แอสเซนด์ มันนี่ เป็นบริษัทฟินเทคที่มุ่งมั่นในการช่วยเหลือผู้คน บริษัทฯ กำลังขยายแพลตฟอร์มและบริการต่าง ๆ เพื่อช่วยให้คนสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้อย่างสะดวกสบายมากขึ้น ซึ่งจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของพวกเขา ดังนั้น แอสเซนด์ มันนี่ จึงจัดว่าเป็น Financial Platform of Opportunity หรือ แพลตฟอร์มทางการเงินที่มอบโอกาสให้กับผู้คนที่เข้าไม่ถึงบริการทางการเงิน ซึ่งรวมถึงผู้ประกอบการรายย่อยทั่วทั้งภูมิภาค ความสำเร็จในการระดมทุนของ แอสเซนด์ มันนี่ ยังเป็นความภาคภูมิใจในระดับชาติ เพราะสะท้อนศักยภาพของไทย ในการสนับสนุนบริษัทฟินเทคและผู้ประกอบการสตาร์ทอัพในประเทศให้สามารถประสบความสำเร็จในการขยายธุรกิจไประดับนานาชาติได้”

ก่อนหน้านี้ เครือเจริญโภคภัณฑ์ได้รับการจัดอันดับให้เป็นองค์กรชั้นนำด้านความยั่งยืนของโลก UN Global Compact ระดับ LEAD การขับเคลื่อนด้านการระดมทุนครั้งนี้ถือเป็นการขยายแพลตฟอร์มแห่งโอกาส ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ธุรกิจ 4.0 ของเครือฯ ส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงินแก่คนทุกภาคส่วน และตอบโจทย์เป้าหมายด้านความยั่งยืนระดับภูมิภาค

ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2556 บริษัท แอสเซนด์ มันนี่ จำกัด ปัจจุบันเป็นฟินเทคสัญชาติไทยเพียงรายเดียวที่ให้บริการครอบคลุม 6 ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ ไทย เมียนมา กัมพูชา อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ทั้งนี้ แอสเซนด์ มันนี่ คือผู้ให้บริการ ทรูมันนี่ แพลตฟอร์มดิจิทัลเพย์เมนต์และบริการทางการเงินดิจิทัลชั้นนำที่ให้บริการผู้ใช้มากกว่า 50 ล้านราย ผ่านแอปพลิเคชั่น ทรูมันนี่ วอลเล็ท และเครือข่ายตัวแทนกว่า 88,000 รายทั่วภูมิภาค

นางสาวมนสินี นาคปนันท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) บริษัท แอสเซนด์ มันนี่ จำกัด กล่าวว่า “จากการที่ แอสเซนด์ มันนี่ เป็นบริษัทฟินเทคสัญชาติไทยที่ได้เติบโตในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภูมิภาคนี้เปรียบเสมือนบ้านเกิดของเรา บริษัทฯ จึงต้องการช่วยให้ผู้คนทั่วทั้งภูมิภาคสามารถเข้าถึงโอกาสที่มากขึ้นผ่านนวัตกรรมและบริการทางการเงินที่เรามอบให้ เพื่อช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของพวกเขา ที่ผ่านมา เราได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากผู้ถือหุ้นและนักลงทุนซึ่งมาร่วมเป็นพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ ในขณะเดียวกัน การได้ก้าวขึ้นเป็นบริษัทฟินเทคยูนิคอร์น ยังช่วยเพิ่มศักยภาพให้เราสามารถดำเนินพันธกิจให้สำเร็จตามเป้าหมายได้มากขึ้น ต่อจากนี้ เราจะร่วมกับพันธมิตรของเราในภูมิภาคเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนผ่านแพลตฟอร์มและบริการทางการเงินอันหลากหลายของเรา”

นายธัญญพงศ์ ธรรมาวรานุคุปต์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) บริษัท แอสเซนด์ มันนี่ จำกัด กล่าวว่า “แอสเซนด์ มันนี่ กำลังขับเคลื่อนสังคมไร้เงินสดและมอบบริการทางการเงินอันหลากหลายให้กับผู้ใช้ทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผ่านแอปพลิเคชั่น ทรูมันนี่ วอลเล็ท บริษัทฯ ได้ขยายธุรกิจและบริการครอบคลุมการเงินดิจิทัลอย่างครบครัน ได้แก่ บริการสินเชื่อดิจิทัล บริการเงินฝากดิจิทัล และบริการลงทุนแบบดิจิทัล ผ่านแพลตฟอร์มการเงินที่ทำให้การเงินเป็นเรื่องง่าย ซึ่งช่วยให้ผู้มีรายได้น้อย ผู้ไม่มีงานประจำ รวมถึงคนรุ่นใหม่ ที่ต้องการสร้างความมั่นคงทางการเงินให้สามารถเข้าถึงเครื่องมือทางการเงินได้โดยง่าย  นอกจากนี้ แอสเซนด์ มันนี่ ยังมีบริการโอนเงินภายในประเทศและโอนเงินข้ามประเทศผ่านเครือข่ายตัวแทน และได้ช่วยตัวแทนเหล่านี้ซึ่งส่วนมากเป็นผู้ประกอบการธุรกิจรายย่อยในท้องถิ่นให้มีรายได้เพิ่มมากขึ้น เราจะเดินหน้าพันธกิจของเรา ซึ่งก็คือการช่วยเหลือคนอีกหลายล้านให้มีชีวิตที่ดีขึ้น ผ่านการส่งมอบนวัตกรรม ประสบการณ์การใช้งาน และแพลตฟอร์มที่ลูกค้ามอบความไว้วางใจสูงสุด”

นายอิไท เลมแบร์เกอร์ ผู้ก่อตั้งและหัวหน้าคณะผู้บริหารฝ่ายการลงทุน บริษัท โบว์ เวฟ แคปปิตอล แมเนจเมนท์ กล่าวว่า “ผลกระทบจากการระบาดใหญ่ได้เร่งการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เราภูมิใจที่ได้สนับสนุน แอสเซนด์ มันนี่ ให้บรรลุพันธกิจสำคัญในการขับเคลื่อนการเข้าถึงบริการทางการเงินเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนของภูมิภาค”

แอสเซนด์ มันนี่ เติบโตอย่างก้าวกระโดดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เมื่อปี 2563 บริษัทฯ มียอดการทำธุรกรรมผ่านแพลตฟอร์ม (Total Payment Volume) รวม 6 ประเทศ อยู่ที่ 14,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ โดยประเทศไทยมีอัตราการเติบโตของยอดการทำธุรกรรมรวมสูงสุดที่ 84% ระหว่างปี 2562 – 2563

กฎหมายต้องรู้ก่อนซื้อบ้าน เสริมเกราะความมั่นใจ ไม่ต้องกลัวโดนเท

กฎหมายต้องรู้ก่อนซื้อบ้าน เสริมเกราะความมั่นใจ ไม่ต้องกลัวโดนเท

การซื้อที่อยู่อาศัยมีปัจจัยหลายประการที่ผู้บริโภคจะพิจารณาไม่ว่าจะเป็นทำเล พื้นที่ใช้สอย การออกแบบรวมไปถึงความคุ้มค่าด้านราคา และยังมีปัจจัยสำคัญอีกเรื่องหนึ่งที่หลายคนอาจมองข้ามไป คือข้อกฎหมาย โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการควบคุมดูแลการก่อสร้างโครงการบ้านจัดสรรและคอนโดมิเนียมโดยตรง ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องศึกษาและตรวจสอบความถูกต้องให้แน่ใจก่อนตัดสินใจซื้อ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของตนเองและป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาในภายหลัง

ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ (DDproperty) เว็บไซต์มาร์เก็ตเพลสด้านอสังหาริมทรัพย์อันดับ 1 ของไทย ขอแนะนำข้อกฎหมายหลัก ๆ เกี่ยวกับบ้านจัดสรรและคอนโดมิเนียมที่ผู้บริโภคควรรู้ เพื่อวางแผนและสร้างความมั่นใจก่อนตัดสินใจซื้อบ้าน รวมทั้งช่วยหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดข้อพิพาทในภายหลังโดยไม่คาดคิด

กฎหมายจัดสรร และกฎหมายควบคุมอาคาร” เรื่องที่คนซื้อบ้านห้ามมองข้าม

ในการซื้อบ้านสักหลัง ผู้ซื้อจำเป็นต้องมีข้อมูลและความเข้าใจข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจตามมาภายหลัง โดยกฎหมายหลัก ๆ ที่น่าสนใจจะมี พระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน หรือกฎหมายจัดสรรเพื่อควบคุมและจำกัดสิทธิของการจัดสรรที่ดินประเภทต่าง ๆ โดยมีประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับสาธารณูปโภคตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 (ปว.286) มีใจความสำคัญว่า “สาธารณูปโภคซึ่งผู้จัดสรรที่ดินจัดให้มีขึ้นเพื่อการจัดสรรที่ดินตามแผนผังและโครงการที่ได้รับอนุญาต เช่น ถนน สวนสาธารณะ สนามเด็กเล่น ให้ถือว่าตกอยู่ในภาระจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินจัดสรร และให้เป็นหน้าที่ของผู้จัดสรรที่ดินหรือผู้รับโอนกรรมสิทธิ์คนต่อไป ที่จะบำรุงรักษากิจการดังกล่าวให้คงสภาพดังเช่นที่ได้จัดทำขึ้นโดยตลอดไป และจะกระทำการใด ๆ อันเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวกมิได้”

ภายหลังมีการแก้ไขปรับปรุงตราพระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 ออกใช้บังคับแทน โดยมีใจความสำคัญเดิมที่ยังคงกำหนดให้สาธารณูปโภคที่จัดให้มีขึ้นในโครงการจัดสรรต้องคงสภาพเดิมตลอดไป ซึ่งประเด็นนี้โครงการอสังหาฯ ส่วนใหญ่จะไม่ได้แจ้งผู้ซื้อถึงความเป็นมาของที่ดินว่าเคยเป็นที่ดินจัดสรรเก่าตามกฎหมายที่ไม่สามารถนำมาใช้เชิงพาณิชย์หรือไม่ ดังนั้นก่อนที่จะซื้อบ้านจัดสรร ผู้ซื้อจึงควรตรวจสอบหาข้อมูลกับสำนักงานที่ดินในท้องที่นั้น ๆ ก่อน ว่าที่ดินในโครงการดังกล่าวทำถูกกฎหมายจัดสรรหรือไม่ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาตามมาในภายหลัง

นอกจากนี้ยังมี พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร ที่ผู้ซื้อแม้จะเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์บ้านนั้นโดยตรง แต่การต่อเติมเพิ่มนั้นจะต้องดำเนินการภายใต้กฎหมายควบคุมการก่อสร้างและดัดแปลงอาคาร โดยหลัก ๆ แล้วเจ้าของบ้านไม่สามารถต่อเติมบ้านจนเต็มพื้นที่ได้ เนื่องจากกฎหมายได้กำหนดระยะร่นและที่เว้นว่างสำหรับอาคารและเขตที่ดินไว้ ซึ่งเจ้าของบ้านจะต้องทำเรื่องขออนุญาตกับเจ้าพนักงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก่อน พร้อมแนบแบบแปลนที่ได้รับการรับรองจากสถาปนิกและวิศวกรผู้ควบคุมการก่อสร้างมาประกอบ นอกจากนี้การต่อเติมหรือขยายรั้วโครงการโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของโครงการ ยังถือว่าผิดกฎหมาย เนื่องจากรั้วโครงการสร้างขึ้นมากำหนดขอบเขตแยกระหว่างพื้นที่ส่วนตัวของบ้านและพื้นที่ของโครงการ จึงถือเป็นทรัพย์สินส่วนกลางและกรรมสิทธิ์ของเจ้าของโครงการโดยตรงเช่นกัน

อยากเป็นเจ้าของคอนโดฯ ควรศึกษากฎหมายอะไรบ้าง

คอนโดมิเนียมเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับความนิยมทั้งในกลุ่มผู้บริโภคที่เพิ่งมีบ้านหลังแรกหรือนักลงทุน มีโครงการใหม่ ๆ ออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง ที่เปิดให้จองห้องก่อนที่จะมีการก่อสร้างเกิดขึ้นจริง ถือเป็นช่วงโอกาสทองที่ผู้บริโภคจะได้จองห้องที่มีราคาถูก โปรโมชั่นที่คุ้มค่า และยังเลือกตำแหน่งห้องได้มากกว่า อย่างไรก็ตามการจองจากกระดาษมีความเสี่ยงกว่าการซื้อโครงการที่ก่อสร้างเสร็จแล้ว เพราะอาจเกิดเหตุไม่คาดคิดที่ทำให้การก่อสร้างถูกระงับหรือต้องเลื่อนเวลาส่งมอบออกไป ก่อนตัดสินใจจองหรือซื้อคอนโดฯ ผู้บริโภคจึงควรศึกษาว่าโครงการนั้น ๆ ปฏิบัติตามข้อบังคับของพระราชบัญญัติอาคารชุด และพระราชบัญญัติควบคุมอาคารครบถ้วนหรือไม่ โดยมีข้อควรพิจารณาหลัก ๆ ดังนี้

      ●  ใบอนุญาตก่อสร้างคอนโดฯ ส่วนใหญ่โครงการฯ จะต้องได้รับการอนุมัติรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA ก่อนจึงจะยื่นขอใบอนุญาตก่อสร้างคอนโดฯ ได้ โดยผู้สนใจสามารถสอบถามได้จากฝ่ายขายโครงการฯ นั้น

      ●  การจดทะเบียนเป็นอาคารชุด มีผลในด้านกรรมสิทธิ์ในห้องชุด การจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม การตั้งนิติบุคคลอาคารชุด ปัจจัยเหล่านี้ทำให้คอนโดฯ มีความแตกต่างจากอะพาร์ตเมนต์ และทำให้ผู้ซื้อสามารถถือครองกรรมสิทธิ์เป็นเจ้าของร่วมในโครงการฯ นั้น ๆ ได้

      ●  กฎหมายควบคุมอาคารด้านความปลอดภัย นอกจากจะส่งผลโดยตรงต่อความปลอดภัยของผู้อยู่อาศัยในระยะยาว ยังแสดงให้เห็นถึงความรับผิดชอบของเจ้าของโครงการที่มีต่อชุมชนข้างเคียง โดยโครงการจะต้องมีรายละเอียดแผนการปฏิบัติตามกฎหมายควบคุมอาคารด้านความปลอดภัย อาทิ ระบบป้องกันอัคคีภัย ระบบระบายอากาศ ระยะร่นของอาคาร ระบบบำบัดน้ำเสียก่อนปล่อยลงสู่ทางระบายน้ำสาธารณะ เป็นต้น

      ●  การกำหนดแนวร่นอาคารวัดจากกึ่งกลางถนนสาธารณะ โครงการที่มีอาคารติดกับถนนสาธารณะต้องมีระยะร่นของอาคารจากกึ่งกลางของถนนสาธารณะนั้นตามความกว้างที่กำหนด โดยแตกต่างกันไปตามความกว้างของถนนที่โครงการตั้งอยู่

นอกจากนี้ เมื่อแบ่งตามประเภทคอนโดฯ แบบไฮไรส์ (High Rise) และคอนโดฯ แบบโลว์ไรส์ (Low Rise) ยังมีข้อกฎหมายควบคุมที่แตกต่างกันออกไป ดังนี้

คอนโดฯ โลว์ไรส์ (Low Rise)

      ●  การกำหนดที่ว่างภายนอกอาคาร โครงการที่สูงไม่เกิน 8 ชั้น ต้องมีที่ว่างภายนอกอาคารไม่น้อยกว่า 30% ของพื้นที่ชั้นใดชั้นหนึ่งที่มากที่สุดของอาคาร

      ●  ระยะร่น กำหนดไว้ว่าโครงการฯ ที่มีความสูงไม่เกิน 8 ชั้น ด้านที่ชิดกับที่ดินอื่นจะต้องทำช่องเปิด ประตู หน้าต่าง ช่องระบายอากาศ หรือที่ริมระเบียงชั้น 2 ลงมา หรือคอนโดฯ ที่สูงไม่เกิน 9 เมตร ต้องมีระยะห่างจากเขตที่ดินอื่นไม่น้อยกว่า 2 เมตร และสำหรับชั้นที่ 3 ขึ้นไปหรือสูงเกินกว่า 9 เมตรแต่ไม่ถึง 23 เมตร ผนังหรือระเบียงต้องอยู่ห่างเขตที่ดินไม่น้อยกว่า 3 เมตร

คอนโดฯ ไฮไรส์ (High Rise)

      ●  การกำหนดที่ว่างภายนอกอาคาร กฎหมายกำหนดไว้ว่าคอนโดฯ ที่เป็นอาคารขนาดใหญ่หรือสูงเกิน 23 เมตรขึ้นไป หรือที่มีพื้นที่อาคารรวมกันทุกชั้นในหลังเดียวกันตั้งแต่ 10,000 ตารางเมตรขึ้นไป ต้องมีที่ว่างไม่น้อยกว่า 30% ของพื้นที่ดินที่ใช้เป็นที่ตั้งของอาคาร

      ●  ข้อกำหนดด้านความปลอดภัยในการก่อสร้าง ในการกำหนดระยะร่นของโครงการที่มีความสูงเกิน 23 เมตรขึ้นไป หรือมีพื้นที่ใช้สอยรวมกันทั้งหมดตั้งแต่ 10,000 ตารางเมตรขึ้นไป จะต้องมีระยะห่างจากที่ดินผู้อื่นมากกว่า 6 เมตรขึ้นไป

      ●  ความกว้างของที่ดินด้านหน้าอาคารและขนาดถนน ที่ดินด้านหน้าโครงการจะต้องมีความกว้างของที่ดินหน้าอาคารและมีขนาดของถนน ดังนี้

            ○  อาคารที่มีพื้นที่อาคารรวมกันทุกชั้นไม่เกิน 30,000 ตารางเมตร จะต้องมีด้านหนึ่งด้านใดของที่ดินยาวไม่น้อยกว่า 12 เมตร ติดถนนสาธารณะที่กว้างไม่น้อยกว่า 10 เมตร ยาวต่อเนื่องกันโดยตลอดจนไปเชื่อมต่อกับถนนสาธารณะอื่นที่มีเขตทางกว้างไม่น้อยกว่า 10 เมตร

            ○  อาคารที่มีพื้นที่อาคารรวมกันทุกชั้นมากกว่า 30,000 ตารางเมตรขึ้นไป จะต้องมีด้านหนึ่งด้านใดของที่ดินยาวไม่น้อยกว่า 12 เมตร ติดถนนสาธารณะที่มีเขตกว้างไม่น้อยกว่า 18 เมตร ยาวต่อเนื่องกันโดยตลอดจนไปเชื่อมต่อกับถนนสาธารณะอื่นที่มีเขตกว้างไม่น้อยกว่า 18 เมตร

            ○  ที่ดินด้านที่ติดถนนสาธารณะของที่ดินทั้งสองกรณี จะต้องมีความกว้างไม่น้อยกว่า 12 เมตร ยาวต่อเนื่องกันโดยตลอดจนถึงบริเวณที่ตั้งของอาคาร และที่ดินนั้นจะต้องว่างไว้เพื่อใช้เป็นทางเข้าออกของรถดับเพลิงได้สะดวกด้วย

โครงการผ่าน “EIA” การันตีไม่กระทบสิ่งแวดล้อม

นอกจากกฎหมายควบคุมที่แตกต่างกันไปของโครงการบ้านจัดสรรและคอนโดฯ แล้ว โครงการทั้งสองประเภทจำเป็นต้องผ่านการอนุมัติรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment Report หรือ EIA) ซึ่งเป็นรายงานที่ภาครัฐและเอกชนจำเป็นต้องจัดทำขึ้นก่อนการก่อสร้างบ้านจัดสรร คอนโดมิเนียม และโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่แทบทุกประเภท โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันไม่ให้โครงการก่อสร้างดังกล่าวก่อให้เกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม และสุขอนามัยของชุมชนโดยรอบในระยะยาว ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ทั้งในระหว่างทำการก่อสร้าง และหลังก่อสร้างแล้วเสร็จ

พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ได้กำหนดไว้ว่า โครงการก่อสร้างขนาดใหญ่จะสามารถดำเนินการก่อสร้างได้เมื่อผ่านการอนุมัติ EIA แล้วเท่านั้น ผู้พัฒนาอสังหาฯ จึงมักนำผลการอนุมัติ EIA นี้มาเป็นอีกจุดขายเพื่อดึงดูดความสนใจและเสริมสร้างความมั่นใจให้กับผู้ซื้อตั้งแต่ก่อนจองซื้อ ว่าโครงการนี้สามารถดำเนินการก่อสร้างได้จริงแน่นอน ในขณะที่โครงการอสังหาฯ ใดที่ทำ EIA ไม่ผ่าน ก็ไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างต่อได้ แม้จะเปิดให้ผู้ซื้อจองไปก่อนหน้าแล้วก็ตาม จึงถือเป็นความเสี่ยงที่ผู้ซื้อต้องแบกรับไว้หากตัดสินใจเลือกจองและผ่อนดาวน์โครงการที่ยังไม่ผ่านการอนุมัติ EIA ซึ่งพร้อมที่จะถูกยกเลิกการก่อสร้างได้ทุกเมื่อ

สำหรับโครงการที่อยู่อาศัยที่กฎหมายกำหนดให้ต้องผ่านการอนุมัติ EIA นั้น หากเป็นโครงการบ้านจัดสรรจะต้องมีพื้นที่ในโครงการมากกว่า 100 ไร่ หรือแบ่งแปลงที่ดินตั้งแต่ 500 แปลงขึ้นไป ในขณะที่โครงการคอนโดมิเนียมที่ต้องทำ EIA จะต้องเป็นโครงการที่มีพื้นที่ใช้สอยรวมกันตั้งแต่ 4,000 ตารางเมตรขึ้นไป หรือมีจำนวนห้องชุดตั้งแต่ 80 ห้องขึ้นไป ทำให้โครงการคอนโดฯ แบบไฮไรส์ (High Rise) ส่วนใหญ่จะต้องทำ EIA เพื่อประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมทั้งหมด ในขณะที่โครงการคอนโดฯ แบบโลว์ไรส์ (Low Rise) บางโครงการอาจไม่ต้องทำ EIA เลย

อย่างไรก็ตาม การเลือกซื้อบ้านเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้บริโภคต้องตัดสินใจอย่างรอบคอบและถี่ถ้วน เนื่องจากเป็นทรัพย์สินที่มีราคาสูงและมีระยะเวลาผ่อนชำระที่ยาวนาน การศึกษาข้อกฎหมายเพื่อนำมาประกอบการพิจารณาเพื่อช่วยลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นก่อนตัดสินใจซื้อ จึงถือเป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม เพราะในช่วงชีวิตของผู้บริโภคอาจไม่ได้ทำการซื้อที่อยู่อาศัยบ่อยนัก เว็บไซต์มาร์เก็ตเพลสด้านอสังหาริมทรัพย์อันดับ 1 ของไทยอย่างดีดีพร็อพเพอร์ตี้ (https://www.ddproperty.com) ได้รวบรวมบทความที่น่าสนใจเพื่อเป็นแหล่งรวมความรู้สำหรับคนอยากมีบ้าน พร้อมอัปเดตข่าวสารในแวดวงอสังหาฯ และรวบรวมประกาศซื้อ/ขาย/เช่าครอบคลุมหลากหลายทำเลทั่วประเทศ รวมทั้งรีวิวโครงการใหม่ที่น่าสนใจ เพื่อช่วยให้ผู้ที่อยากมีบ้าน/คอนโดฯ เป็นของตัวเอง สามารถเลือกที่อยู่อาศัยที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตได้ตรงใจมากที่สุด

สมาคมฟินเทคประเทศไทย จับมือ 10×1000 นำเสนอหลักสูตรด้านฟินเทคระดับโลก ให้กับผู้ประกอบการไทย

10x1000 Flex for Inclusion

สมาคมฟินเทคประเทศไทย จับมือ 10x1000 นำเสนอหลักสูตรด้านฟินเทคระดับโลก ให้กับผู้ประกอบการไทย

10X1000 Tech for Inclusion แพลตฟอร์มที่รวบรวมการอบรมและการเรียนรู้ด้านฟินเทค ได้ประกาศความร่วมมือกับพันธมิตรผู้นำด้านฟินเทค นักลงทุน และอุตสาหกรรมด้านการเงินการลงทุนจากทั่วโลก เพื่อนำเสนอหลักสูตรที่จะให้องค์ความรู้ ให้แนวคิดเกี่ยวกับฟินเทคและได้เรียนรู้จากประสบการณ์ตรงของผู้นำองค์กรระดับนานาชาติ

10X1000 ได้รับความร่วมมือจาก IFC หรือ International Finance Corporation หนึ่งในสมาชิกของ World Bank Group และ Alipay ในปี 2018 ร่วมนำเสนอหลักสูตรที่มีชื่อว่า “Flex” ตั้งเป้ารับสมัครผู้อบรมที่มีคุณสมบัติและผ่านการคัดเลือกเข้าจำนวน 1,000 รายจากทั่วโลก ซึ่งเตรียมเปิดการอบรมในเดือนตุลาคม 64 โดยหลักสูตรดังกล่าวนี้จะเป็นการเรียนการสอนออนไลน์เต็มรูปแบบ

ผู้เข้าอบรม 1,000 รายชื่อจากทั่วโลกในหลักสูตร Flex จะมาจากการคัดเลือกของกลุ่มพันธมิตร เช่น IFC, United Nations Development Programme, United Nations Economic Commission of Africa, SME Final Forum, Dubai International Financial Centre, Malaysia Digital Economy Corporation, KPMG และสมาคมฟินเทค แห่งฮ่องกง มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และ ประเทศไทย

10x1000 Flex for Inclusion
10x1000 Flex for Inclusion

นายชลเดช เขมะรัตนา นายกสมาคมฟินเทคประเทศไทย (TFA) กล่าวว่า รู้สึกเป็นเกียรติที่ได้ร่วมมือกับพันธมิตรจากทั่วโลก ในการนำเสนอหลักสูตรของ 10X1000 และเชื่อว่าการพัฒนาอุตสาหกรรมฟินเทคในประเทศไทย จะสามารถทำให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตได้อย่างยั่งยืน โดยในปัจจุบัน ประเทศไทยยังมีบุคลากรด้านฟินเทคอยู่ในวงที่จำกัดมาก ดังนั้น ความร่วมมือในครั้งนี้จึงเป็นโอกาสดีในการสร้างรากฐานความรู้ด้านฟินเทคให้แก่ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ผ่านการเรียนรูปแบบออนไลน์โดยตรงกับผู้เชี่ยวชาญด้านฟินเทคระดับสากล ซึ่งเป้าหมายของ 10×1000 นั้น ตรงกับเป้าหมายและแผนงานที่ TFA ได้วางไว้ ในเรื่องการเสริมความรู้ด้านฟินเทค ทั้งในระดับพื้นฐาน และเชิงลึกให้ครอบคลุมมากที่สุด จึงถือได้ว่าการร่วมมือในครั้งนี้เป็นการนำร่องในการพัฒนาความรู้ด้านฟินเทคให้แก่คนไทย ก่อนที่จะก้าวไปเรียนรู้ด้านฟินเทคในเชิงปฏิบัติการจากประสบการณ์จริง ซึ่ง TFA มีแผนที่จะเปิดตัวหลักสูตรในช่วงต้นปี 2565 หากสถานการณ์โควิดมีแนวโน้มที่ดีขึ้น

10x1000 Flex for Inclusion

หลักสูตร Flex เหมาะสำหรับผู้ที่มีพื้นฐานด้านฟินเทค หรืออยู่ในแวดวงอุตสาหกรรมนี้มาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี ความพิเศษของหลักสูตรนี้คือการได้เรียนกับตัวจริงระดับโลก เน้นสอนผ่าน Case Study ด้วยการเชิญผู้นำในองค์กรด้านการเงินและเทคโนโลยี ที่ประสบความสำเร็จมาแบ่งปันความรู้ด้านฟินเทค ผ่านการเรียนที่ค่อนข้างยืดหยุ่นต่อผู้เรียน เพราะเป็นการเรียนรูปแบบออนไลน์ที่ผู้เรียนสามารถเลือกได้ว่าต้องการเริ่มเรียนในช่วงไหน ระหว่าง 11 ตุลาคม, 25 ตุลาคม, 1 พฤศจิกายน  หรือ 8 พฤศจิกายน โดยจะเรียนในวันเวลาไหนก็ได้ แต่ต้องเรียนผ่านวีดีโอ 8 บทเรียน และทำแบบทดสอบ 3 ชุด ให้เสร็จภายใน 3 สัปดาห์ เพื่อรับ Certificate ของหลักสูตร ซึ่งในโปรแกรมจะเรียนเป็นภาษาอังกฤษ และภายในเนื้อหาจะครอบคลุมทั้งในเรื่องเทคโนโลยีและการเงิน รวมไปถึงกลยุทธ์การต่อยอดและขยายธุรกิจด้วย โดยการเรียนจะเน้นให้ผู้เรียนมี Mindset ที่ถูกต้อง มีความรู้ และได้ฝึกทักษะที่จำเป็นด้านฟินเทค เพื่อให้ผู้เรียนสามารถนำไปปรับใช้และต่อยอดกับธุรกิจของตนเองได้

Eric Jing ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Ant Group เจ้าของแพลตฟอร์มด้านการเงิน Alipay กล่าวว่า รู้สึกยินดีที่ได้ร่วมมือกับสมาคมฟินเทคประเทศไทย เพื่อให้ 10×1000 เติบโตไปอีกก้าวนึงผ่านการร่วมมือกันในครั้งนี้ โดยเราตั้งเป้าหมายร่วมกันลดช่องว่างทางความสามารถด้านเทคโนโลยีดิจิทัล หรือ Digital Skills Gap ในประเทศไทย โดย 10×1000 นั้นมีความมุ่งมั่นที่จะสร้างบุคลากรและผู้นำด้านเทคโนโลยีและการเงิน ปีละ 1,000 คน เป็นเวลา 10 ปี เพื่อบรรลุเป้าหมายด้าน SDGs หรือการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (UN) ทั้งในเรื่องการศึกษา การส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจ และการลดความเหลื่อมล้ำ โดยเรามั่นใจว่าผู้ที่จบหลักสูตร Flex ของ 10×1000 จะสามารถนำความรู้ที่ได้ไปปรับใช้และพัฒนาระบบนิเวศน์ด้านการเงิน และฟินเทคในประเทศของตนเองได้ ซึ่งถ้าทำได้ดังนี้จริงก็จะช่วยให้ 10×1000 สามารถเข้าใกล้เป้าหมายด้าน SDGs ได้มากขึ้นเช่นกัน

ชลเดช ทิ้งท้ายว่า สมาคมฟินเทคประเทศไทย จะคัดเลือกผู้เรียนจากผู้สมัครที่เหมาะสมที่สุด 100 ที่นั่ง ซึ่งจะเลือกจากรายชื่อผู้สมัครที่เป็นสมาชิกของ สมาคมฟินเทคประเทศไทย และต้องมีประสบการณ์ที่เกี่ยวกับฟินเทคหรือสาขาที่เกี่ยวข้องมาเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 3 ปี โดยวางแผนเปิดรับสมัครในวันที่ 20 กันยายน – 4 ตุลาคม 2564 ผ่านทาง www.thaifintech.org และประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิ์เข้าเรียนในวันที่ 8 ตุลาคม 2564 ผ่านทางอีเมลที่สมัครมา ทั้งนี้ผู้ที่สนใจสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://thaifintech.org

“การจัดการพลังงานไฟฟ้าอัจฉริยะ” ช่วยสร้างความยั่งยืนแก่ธุรกิจและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

“การจัดการพลังงานไฟฟ้าอัจฉริยะ” ช่วยสร้างความยั่งยืนแก่ธุรกิจและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

โดย นางสุวรรณี สิงห์ฤาเดช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและซีอีโอ ซีเมนส์ ประเทศไทย

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2563 จนถึงวันนี้ ได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงไปยังทุกภาคส่วน ภาครัฐและเอกชนต่างมุ่งจัดการปัญหาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดที่ล้วนเป็นเรื่องเร่งด่วนในทุก ๆ ด้าน อย่างไรก็ตามเราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกและสิ่งแวดล้อม” เป็นอีกปัญหาใหญ่ที่ต้องได้รับการจัดการอย่างเร่งด่วนเช่นกัน จากเหตุภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นบ่อยและมีความรุนแรงมากขึ้น อันเป็นผลจากสภาวะโลกร้อนในหลายประเทศทุกภูมิภาคทั่วโลก

แท้จริงแล้วภาคอุตสาหกรรมมีบทบาทสำคัญต่อประเด็นนี้ เนื่องจากกระบวนการผลิตที่ใช้พลังงานมากถึงหนึ่งในสามของการใช้พลังงานทั้งหมดในโลก ซึ่งเทคโนโลยีการจัดการพลังงานไฟฟ้าที่ก้าวหน้าไปมากในปัจจุบันช่วยให้ภาคอุตสาหกรรมมีส่วนสำคัญช่วยลดสภาวะโลกร้อนโดยอาศัยการจัดการพลังงานอย่างชาญฉลาดด้วยเทคโนโลยี
ดังกล่าว

การจัดการพลังงานไฟฟ้าสำหรับภาคอุตสาหกรรมมีส่วนช่วยลดสภาวะโลกร้อนได้อย่างไร

เรามาถึงจุดเปลี่ยนสำคัญซึ่งทุกภาคส่วนเห็นร่วมกันชัดเจนถึงความจำเป็นที่จะต้องร่วมมือกันอย่างเต็มที่ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) ในขณะที่ภาคส่วนอื่น ๆ อาทิ การผลิตพลังงานไฟฟ้า การเกษตร และการบริโภคในครัวเรือน ได้เริ่มลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาระดับหนึ่งแล้ว แต่ภาคอุตสาหกรรมนั้นแทบจะไม่มีการปรับเปลี่ยนเลย แม้แต่ในประเทศเยอรมนีที่เป็นผู้นำในโลกอุตสาหกรรมยุคใหม่เองก็ตาม

เพื่อจัดการปัญหานี้ ซีเมนส์เห็นแนวทางขับเคลื่อนสำคัญ 3 ประการที่จะช่วยให้ภาคอุตสาหกรรมสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนี้

  1. การสร้างความยืดหยุ่นในการนำพลังงานมาใช้ เช่น การใช้โซลูชั่นการกักเก็บพลังงานและการใช้ระบบโรงไฟฟ้าเสมือน (Virtual Power Plants : VPP)

  2. การปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานให้เป็นดิจิทัล เพื่อให้มั่นใจว่าการใช้พลังงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งสามารถทำได้โดยการติดตั้งอุปกรณ์ IoT (Internet of Things) เซ็นเซอร์ และซอฟต์แวร์ควบคุม

  3. การนำการจัดการพลังงานไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Electrification) มาใช้ ในการดำเนินงานให้ครอบคลุมทุกกระบวนการทำงาน

จากสามแนวทางข้างต้น “การจัดการพลังงานไฟฟ้าอัจฉริยะ” เป็นหนทางที่ดีที่สุดในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ทั้งยังสามารถสร้างประโยชน์สูงสุดจากปัจจัยการขับเคลื่อนที่เหลือ

ในการจัดการพลังงานไฟฟ้าอัจฉริยะนั้น มี 2 ปัจจัยที่ต้องคำนึงถึง ได้แก่ หนึ่ง – ความเป็นไปได้ที่จะนำพลังงานสะอาด ซึ่งไม่มีการปล่อยคาร์บอนสู่สิ่งแวดล้อมมาป้อนเข้าสู่สถานประกอบการอุตสาหกรรม อาทิ พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานน้ำ และ สอง – การจัดการพลังงานของสถานประกอบการอุตสาหกรรม เช่น การจัดการความต้องการใช้พลังงานด้วยซอฟต์แวร์ เป็นต้น

เหตุผลที่การจัดการพลังงานไฟฟ้าอัจฉริยะมีผลอย่างมากต่อการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ก็คือ เมื่อจัดการการใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพจะทำให้สามารถเพิ่มการใช้พลังงานสะอาดซึ่งสามารถผลิตไฟฟ้าได้โดยไม่ก่อมลภาวะ แทนที่การผลิตไฟฟ้าด้วยเทคโนโลยีแบบเดิม เช่น เครื่องกำเนิดไฟฟ้าพลังงานดีเซลที่มีการก่อมลภาวะสูง

การจัดการพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพคือ “หัวใจสำคัญ” ในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในภาคอุตสาหกรรม
กรณีศึกษาจากบริษัท Gestamp ผู้ผลิตชิ้นส่วนโลหะยานยนต์ในสเปนซึ่งมีหลายกระบวนการผลิตที่ต้องใช้พลังงานเป็นจำนวนมากแต่ขาดข้อมูลการใช้พลังงานที่ชัดเจนทำให้โรงงานต้องเผชิญกับค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้นเรื่อยๆ

แต่ด้วยการติดตั้งอุปกรณ์มาตรวัดพลังงานและการใช้โซลูชันการสื่อสารรับส่งข้อมูลขนาดใหญ่จากโรงงาน 15 แห่งใน 6 ประเทศแล้วนำมาวิเคราะห์ Gestamp สามารถระบุ
จุดที่เป็นปัญหาและปรับปรุงการดำเนินงาน ทำให้สามารถลดการใช้ไฟฟ้าลงถึง 15 เปอร์เซ็นต์และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงได้ถึง 14,000 ตันต่อปี

การจัดการพลังงานไฟฟ้าอัจฉริยะช่วยให้การผลิตมีความยืดหยุ่นมากขึ้น ช่วยในบริหารรอบการทำงานให้ได้ประโยชน์สูงสุดและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต นอกเหนือจากนั้น
ยังลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของภาคอุตสาหกรรม พร้อมเพิ่มโอกาสใหม่ ๆ ในการนำพลังงานไฟฟ้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมาปรับใช้อย่างมีประสิทธิภาพ

ปัจจุบันการจัดการพลังงานไฟฟ้าให้มีประสิทธิภาพสูงทำได้ง่ายขึ้น ด้วยการปรับกระบวนการจัดการให้เป็นระบบดิจิทัล (Digitalization) และนำการจัดการพลังงานไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Electrification) มาใช้ ผลที่ตามมาไม่เพียงแต่เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน แต่ยังเพิ่มความยืดหยุ่นในการดำเนินงานและทำให้การใช้ทรัพยากรเกิดประโยชน์สูงสุด

ยิ่งไปกว่านั้น การปรับกระบวนการทำงานเป็นระบบดิจิทัล (Digitalization) ทำให้เราสามารถพัฒนาระบบดิจิทัลทวิน (Digital Twin) สำหรับระบบไฟฟ้าของโรงงานได้
และเมื่อควบรวมกับระบบอัตโนมัติทางอุตสาหกรรม ผู้วางระบบงานสามารถทดสอบการจำลองสถานการณ์การทำงานต่าง ๆ เพื่อหาจุดที่เหมาะสมที่สุดในการวางระบบงาน
เพื่อลดความผิดพลาดและลดต้นทุนในการวางแผนงาน การก่อสร้าง และการบำรุงรักษา

วิกฤติการณ์การแพร่ระบาดทำให้เราต้องพิจารณาอีกครั้งเกี่ยวกับวิธีการดำเนินงานทางธุรกิจของเรา สำหรับอุตสาหกรรม ถึงเวลาแล้วที่จะสร้างรากฐานธุรกิจในอนาคตด้วยการผสมผสานการจัดการพลังงานไฟฟ้าอัจฉริยะเข้ากับแผนงานของกิจการ ผลลัพธ์ที่ได้จะไม่ใช่แค่ตัวเลขทางธุรกิจเท่านั้น แต่ยังเป็นการสร้างอนาคตที่มั่นคงและยั่งยืน ครอบคลุม ตั้งแต่ลูกค้า ชุมชน ประเทศ ไปจนถึงสังคมและสิ่งแวดล้อมในโลกของเราด้วย

แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม:
     ●  Gestamp reference:
     ●  Siemens DEGREE sustainability framework: