อาลีบาบา กรุ๊ป ผลงานวิจัยพบว่า ผู้บริโภคเจ็ดในสิบราย พร้อมเปลี่ยนเพื่อแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม
- ผลงานวิจัยอิสระแสดงให้เห็นว่า อุปสรรคสำคัญที่ทำให้ผู้บริโภคไม่ซื้อสินค้าที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนเพิ่มขึ้น คือ การขาดข้อมูลและราคาที่สูงเกินไป
- ภาคธุรกิจมีบทบาทสำคัญในการช่วยให้ผู้บริโภคตัดสินใจเลือกสินค้าที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนได้ง่ายขึ้น และได้รับความไว้วางใจจากผู้บริโภคมากขึ้น
- รายงาน ESG ฉบับล่าสุดของอาลีบาบา กรุุ๊ป เผยให้เห็นว่าผู้บริโภคกว่า 180 ล้านคนมีส่วนร่วมลดการปล่อยคาร์บอนผ่านแพลตฟอร์มบัญชีแยกประเภทคาร์บอนของอาลีบาบา
ผลงานวิจัยอิสระที่สนับสนุนโดยอาลีบาบา กรุ๊ป พบว่า ผู้บริโภคส่วนใหญ่ (73%) ต้องการดำเนินชีวิตด้วยแนวทางที่ยั่งยืนมากขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่ในตลาดเกิดใหม่ในเอเชีย (87%) แต่ต้องพบอุปสรรคสำคัญด้านค่าใช้จ่ายที่สูงเกินไปและความไม่สะดวกด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับสินค้าที่เน้นความยั่งยืน
“The Sustainability Trends Report 2023” เป็นงานวิจัยที่สำรวจผู้บริโภคมากกว่า 14,000 รายจากตลาด 14 แห่งในเอเชีย ยุโรป และตะวันออกกลาง การวิจัยพบว่าความสะดวกด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับสินค้าที่เน้นความยั่งยืน (53%) และค่าใช้จ่ายที่รับได้ (33%) มีความสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคให้ดำเนินไปตามวิถีความยั่งยืน และธุรกิจต่าง ๆ ก็สามารถช่วยให้ผู้บริโภคมีทางเลือกที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนได้ง่ายขึ้น
ทั้งนี้ 38% ผู้ของบริโภคเชื่อว่าความสนใจส่วนบุคคลเป็นตัวขับเคลื่อนให้เกิดความสนใจเรื่องความ “ยั่งยืน” ของสินค้าที่ธุรกิจต่าง ๆ นำเสนอ มีเพียง 15% ที่เชื่อคำกล่าวอ้างทั้งหมดที่เกี่ยวกับความยั่งยืนของผลิตภัณฑ์ ดังนั้นธุรกิจต้องทำงานอย่างหนักเพื่อให้ผู้บริโภคไว้วางใจ โดยเฉพาะผู้บริโภคที่อาศัยอยู่ในตลาดยุโรป
นายหลิว เว่ย หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์ด้าน ESG ของอาลีบาบา กรุ๊ป กล่าวว่า “ในฐานะที่อาลีบาบาเป็นบริษัทด้านดิจิทัลแพลตฟอร์ม เรามีจุดยืนที่เป็นเอกลักษณ์และให้คำมั่นที่จะจัดการความท้าทายที่เกี่ยวกับความแตกต่างระหว่างสิ่งที่พูดกับสิ่งที่ทำได้จริงในทางปฏิบัติ (say-do gap) ด้วยการลดอุปสรรคที่จะกระทบต่อความสะดวกด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับสินค้าที่เน้นความยั่งยืน เพิ่มทางเลือกด้านความยั่งยืนให้มากขึ้น และปรับปรุงซัพพลายเชนต่าง ๆ เพื่อให้คงราคาที่สมเหตุสมผลให้กับผู้บริโภค เพราะการบริโภคอย่างยั่งยืนมีความสำคัญมากต่อสิ่งแวดล้อม และในขณะเดียวกันก็สร้างโอกาสที่ยิ่งใหญ่ให้ธุรกิจ รวมถึงเศรษฐกิจดิจิทัลในภาพรวม เพื่อการพัฒนาที่ยืนยาวไปสู่อนาคตที่ยั่งยืนให้กับทุกฝ่าย”
อาลีบาบาเผยแพร่รายงานด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ฉบับล่าสุดเมื่อปลายเดือนกรกฎาคม และเป็นครั้งแรกที่เปิดเผยความคืบหน้าของกระบวนการลดคาร์บอนใน Scope 3+ นับจากเริ่มบุกเบิกแนวคิดนี้ในปี 2564 เพื่อขยายคำมั่นในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนให้ครอบคลุมระบบนิเวศทั้งหมดของบริษัทฯ
รายงาน ESG ล่าสุดนี้ยังเผยให้เห็นข้อมูลจากแพลตฟอร์มบัญชีแยกประเภทคาร์บอนของอาลีบาบาที่ระบุว่ามีผู้บริโภค 187 ล้านคนเข้าร่วมกิจกรรมลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนในช่วง 12 เดือน (นับถึงวันที่ 31 มีนาคม 2566) โดยมีสินค้า 1.91 ล้านรายการจากแบรนด์ 409 แห่งที่นำเสนอบน Tmall และ Taobao ผ่านโปรแกรมสินค้าคาร์บอนต่ำที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (ข้อมูล ณ เดือนมีนาคม 2566)
ผู้บริโภคที่อยู่ในตลาดเกิดใหม่ในเอเชีย ยินดีเรียนรู้วิธีซื้อของออนไลน์ด้วยวิถียั่งยืนมากขึ้น
ผู้บริโภคทั่วโลกยอมรับการใช้ชีวิตด้วยวิถีความยั่งยืนมากขึ้น แต่ในแต่ละภูมิภาคต่างมีระดับการมีส่วนร่วม วิถีการดำเนินชีวิต และการจับจ่ายซื้อของที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนแตกต่างกัน
ผลงานวิจัยพบว่าผู้บริโภคประมาณสามในสี่ (76%) ยินดีรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีการที่จะช่วยให้มีความยั่งยืนมากขึ้น โดยมีสัดส่วนสูงสุดในฟิลิปปินส์ (93%) ตามด้วยอินโดนีเซีย (91%) และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (90%)
ผู้บริโภคมากกว่าครึ่ง (58%) กล่าวว่าพวกเขาได้มีส่วนร่วมด้านความยั่งยืนแล้ว และรู้สึกว่าตนกำลังทำสิ่งที่ดีและถูกต้อง นอกจากนี้ยังเปิดกว้างเพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติทางออนไลน์เพื่อความยั่งยืน โดยเฉลี่ย 73% กล่าวว่ายินดีรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีการซื้อสินค้าออนไลน์ที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนมากขึ้น
ผู้ตอบแบบสำรวจที่อยู่ในตลาดเกิดใหม่ในเอเชีย (88%) เต็มใจเรียนรู้วิธีการที่จะช่วยให้สามารถซื้อสินค้าออนไลน์ที่เน้นเรื่องความยั่งยืนได้มากขึ้น มากกว่าตลาดที่พัฒนาแล้วในเอเชีย (66%) และในยุโรป (66%) นอกจากนี้ พฤติกรรมการช้อปปิ้งออนไลน์ที่เน้นเรื่องความยั่งยืนยังแตกต่างกันไปในแต่ละภูมิภาค เช่น ตลาดเกิดใหม่ในเอเชีย (47%) มีแนวโน้มเลือกบรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืนมากกว่า ในขณะที่ในยุโรป (47%) มีแนวโน้มเลือกการรีไซเคิลมากกว่า
ผู้บริโภคครึ่งหนึ่งจะเลือกซื้อสินค้าที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนก็ต่อเมื่อมีความสะดวกด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับสินค้าประเภทนี้ และหนึ่งในสามเชื่อว่าสินค้าประเภทนี้มีราคาแพงเกินไป
อุปสรรคสำคัญที่ทำให้ผู้บริโภคไม่ซื้อสินค้าที่ให้ความสำคัญด้านความยั่งยืนเพิ่มขึ้น คือ ขาดข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับความยั่งยืนของสินค้า (48%) และราคาของสินค้าที่เน้นความยั่งยืนมีราคาสูงเกินไป (45%)
ผู้บริโภคที่ตอบแบบสำรวจมากกว่าครึ่ง (53%) กล่าวว่าพวกเขาจะเลือกให้ความสำคัญต่อความยั่งยืนก็ต่อเมื่อพวกมีความสะดวกด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับสินค้ากลุ่มนี้ โดยในกลุ่มคำตอบนี้ผู้บริโภคในตลาดเอเชียมีสัดส่วนสูง (61%) เมื่อเทียบกับตลาดยุโรปที่น้อยกว่า (36%) นอกจากนี้หนึ่งในสามของผู้ตอบแบบสำรวจ (33%) กล่าวว่า การใช้ชีวิตวิถียั่งยืนนั้นมีค่าใช้จ่ายสูงเกินไป โดยผู้ตอบแบบสำรวจไทยนำมาในกลุ่มนี้ (84%) ตามด้วยสหรัฐอาหรับเอมิเตรส์ (41%) และสเปน (37%)
รายงานระบุว่า ท่ามกลางความรู้สึกของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ธุรกิจจะมีบทบาทสำคัญในการช่วยให้ผู้บริโภคเลือกแนวทางด้านความยั่งยืนได้อย่างถูกต้องได้ง่ายขึ้น ผู้บริโภคกล่าวว่า สิ่งที่ธุรกิจสามารถทำได้เพื่อสนับสนุนให้ผู้บริโภคได้ใช้สินค้าและบริการที่เน้นความยั่งยืนคือ ทำให้สินค้าที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนมีราคาที่ผู้บริโภครับได้มากขึ้น (61%) ใช้พลาสติกและบรรจุภัณฑ์ที่ใช้ได้ครั้งเดียวให้น้อยลง (55%) และให้ทางเลือกสินค้าและบริการที่เน้นความยั่งยืนมากขึ้น (47%)
รายงานยังระบุว่า ธุรกิจต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อทำให้ผู้บริโภคเชื่อว่าสินค้าของตนมีความยั่งยืนจริงตามที่ได้กล่าวอ้างไว้ โดยเฉพาะกลุ่มผู้บริโภคที่อาศัยอยู่ในตลาดยุโรป ทั้งนี้ 23% ของผู้บริโภคกล่าวว่าพวกเขา “ไม่เชื่อถือนัก” กับคำกล่าวอ้างของธุรกิจต่าง ๆ ว่าสินค้านั้น ๆ ให้ความสำคัญกับความยั่งยืน โดยประเทศที่มีความเห็นนี้ในสัดส่วนสูงสุดคือ ฝรั่งเศส (31%) สเปน (31%) เยอรมนี (30%) และสหราชอาณาจักร (30%)
ผู้บริโภคเกือบสองในห้า (38%) คลางแคลงใจว่าอะไรคือแรงจูงใจที่ซ่อนอยู่ในความ “ยั่งยืน” ของสินค้าที่ธุรกิจกล่าวอ้าง โดยรายงานพบว่าตลาดสามอันดับแรกที่มีสัดส่วนในข้อนี้สูงสุด คือ ไทย (56%) ฝรั่งเศส (48%) และสิงคโปร์ (47%) ซึ่งระบุว่า สินค้าที่กล่าวอ้างว่าให้ความสำคัญกับความยั่งยืน เป็นเพียงวิธีการที่บริษัทต่าง ๆ ใช้ เพื่อให้ขายสินค้าได้ในราคาสูงขึ้น
นายหลิว เว่ย เสริมว่า “เราเชื่อว่าบริษัทต่าง ๆ จะได้รับความไว้วางใจจากผู้บริโภคมากขึ้น ด้วยการจัดการกับช่องว่างของสิ่งที่พูดกับสิ่งที่ทำได้จริงในทางปฏิบัติ เช่น โปร่งใสมากขึ้น รับผิดชอบต่อการ กล่าวอ้างด้านความยั่งยืนของตน และใช้ข้อมูลเป็นฐานสนับสนุนแนวปฏิบัติด้านความยั่งยืน ซึ่งจะนำมาซึ่งความใส่ใจและความเข้าใจผู้บริโภคมากขึ้น ตลอดเส้นทางสู่ความยั่งยืนร่วมกันของเรา”
เกี่ยวกับการสำรวจ
“The Sustainability Trends Report 2023” จัดทำโดย Yonder Consulting บริษัทที่ปรึกษาในสหราชอาณาจักร โดยมี The Purpose Business ที่ปรึกษาด้านความยั่งยืนในฮ่องกงสนับสนุนด้านคำแนะนำและการวิเคราะห์ รายงานนี้จัดทำขึ้นระหว่างวันที่ 26 มกราคม ถึง 14 กุมภาพันธ์ 2566 โดยอ้างอิงคำตอบจากผู้บริโภคจำนวน 14,125 ราย ที่ตอบแบบสำรวจออนไลน์
ผู้ตอบแบบสำรวจมาจากสิบสี่ตลาดในเอเชีย ยุโรป และตะวันออกกลาง ได้แก่ เยอรมนี, ฝรั่งเศส, อิตาลี, สเปน, สหราชอาณาจักร, อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, ไทย, เกาหลีใต้, เขตบริหารพิเศษฮ่องกง, ญี่ปุ่น, สิงคโปร์ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
ตลาดที่พัฒนาแล้วในเอเชียที่อ้างถึงในงานวิจัยนี้ ได้แก่ เขตบริหารพิเศษฮ่องกง, ญี่ปุ่น, สิงคโปร์ และเกาหลีใต้ ส่วนตลาดเกิดใหม่ในเอเชียหมายถึง อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์ และไทย