การเชื่อมโยงข้อมูลด้วยเทคโนโลยี AI ในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม

บทความโดย อิซาเบลลา กุสุมาวาตี, รองประธานและกรรมการผู้จัดการ ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเกาหลี, อินฟอร์

มีการคาดการณ์ว่า ภายในปี พ.ศ. 2569 ตลาดปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มจะมีมูลค่าสูงถึง 29.94 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ  การใช้งาน AI โดยผู้บุกเบิกธุรกิจในอุตสาหกรรมนี้ทำให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า AI กำลังเป็นที่รู้จักในหลาย ๆ ด้าน มีผลต่อซัพพลายเชนอาหารในทุกแง่มุม ช่วยขับเคลื่อนการตัดสินใจที่ชาญฉลาด และทำให้สามารถตัดสินใจได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น พร้อมช่วยให้ธุรกิจมีความได้เปรียบในทุกการแข่งขันที่สำคัญ

แม้ว่าคนส่วนใหญ่ในอุตสาหกรรมฯ จะเคยได้ยินเรื่องของ AI มาบ้างแล้วก็ตาม แต่ก็ยังมีความสับสนค่อนข้างมากเกี่ยวกับวิธีการและประโยชน์ต่าง ๆ ที่จะได้รับจากการปรับใช้เทคโนโลยี AI  อธิบายง่าย ๆ คือ AI มีศักยภาพในการปรับกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการผลิตอาหารทั้งหมดให้เหมาะสม, เอื้ออำนวยต่อการใช้งานแอปพลิเคชันอัจฉริยะที่ออกแบบเฉพาะให้กับแต่ละอุตสาหกรรม เพื่อปรับปรุงทุกส่วนของซัพพลายเชน ตั้งแต่แหล่งกำเนิดไปจนถึงมือผู้บริโภค รวมถึงพัฒนาให้ซัพพลายเชนต่าง ๆ มีความคล่องตัว และขับเคลื่อนให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้น

หลายคนคิดว่า AI เป็นสมองกลและเทคโนโลยีสำหรับปฏิบัติงานที่ซับซ้อน ซึ่งเคยต้องใช้สติปัญญาของมนุษย์จึงจะสำเร็จ แต่ AI ทำได้มากกว่านั้น ทำให้เกิดแนวทางใหม่ ๆ ในการวิเคราะห์ข้อมูลที่ไม่สามารถกระทำแบบแมนนวลได้  และนี่เองคือจุดเริ่มต้นที่ AI เข้ามามีบทบาทในการให้คำแนะนำที่ถูกต้อง และทันเวลาสำหรับงานเกือบทุกด้านของซัพพลายเชนอาหาร  โดยใช้ความสามารถในการพิจารณาคุณค่าของข้อมูล, พารามิเตอร์, สถานการณ์แบบ what-if และปัจจัยสนับสนุนอื่น ๆ ที่มากมายมหาศาล  และท้ายที่สุด ก็จะทำให้ธุรกิจเกิดความได้เปรียบในการแข่งขันที่ไม่สามารถเลียนแบบได้เลย หากปราศจากการใช้เทคโนโลยี AI

AI ในอุตสาหกรรมอาหารประกอบด้วยเทคโนโลยีหลากหลายชนิด ตั้งแต่หุ่นยนต์ไปจนถึงแมชชีนเลิร์นนิง แล้วเราจะเห็นอุตสาหกรรมอาหารใช้งาน AI ในด้านใด และเทคโนโลยีนี้ก่อให้เกิดผลกระทบอะไรบ้าง

การเกษตรแม่นยำ

การใช้เทคโนโลยี AI ทำให้การเกษตรมีความแม่นยำมากขึ้น  ด้วยเหตุนี้ การวิเคราะห์ข้อมูลการเก็บเกี่ยวที่ผ่านมาทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพควบคู่ไปกับการพยากรณ์อากาศ ทำให้สามารถกำหนดพื้นที่และเวลาสำหรับให้น้ำหรือใส่ปุ๋ยได้อย่างเหมาะสม  สำหรับภาคการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ มีฟาร์มเลี้ยงกุ้งแห่งหนึ่งใช้เทคโนโลยี AI ในการจัดการปริมาณอาหารสำหรับเลี้ยงกุ้งให้เหมาะสม เพื่อป้องกันการให้อาหารที่มากหรือน้อยจนเกินไป ช่วยลดอัตราส่วนอาหารต่อการผลิต (Feed conversion ratio – FCR) ทำให้วงจรการผลิตกุ้งสั้นลง และเพิ่มผลิตผลขึ้นได้ถึงสองเท่าโดยไม่ต้องใช้ระบบที่มีความเข้มข้นสูง

สำหรับภาคการเกษตรของประเทศไทย ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ระบุว่า ผลการศึกษาของ Association of Equipment Manufacturers (AEM) พบว่า การเกษตรแม่นยำ (Precision Farming) สามารถเพิ่มผลผลิตได้ราว 6% ช่วยประหยัดการใช้ปุ๋ยและสารปราบศัตรูพืชได้เกือบ 15% และ ลดการใช้น้ำได้ถึง 21% ดังนั้น การนำ Precision Farming มาใช้จึงเป็นโอกาสที่ดีในการเพิ่มประสิทธิภาพของภาคการเกษตรไทย โดยเฉพาะในปัจจุบันที่ราคาปุ๋ยมีแนวโน้มแพงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

EIC มองว่า หากส่งเสริมนวัตกรรมเทคโนโลยีเข้าสู่ภาคการเกษตรไทยได้สำเร็จ ไม่เพียงแต่จะช่วยเหลือเกษตรกรไทยเท่านั้น แต่ยังช่วยเหลือส่วนต่าง ๆ ในระบบนิเวศที่เกี่ยวข้องกับภาคการเกษตรได้อีกด้วย ซึ่งจะส่งผลให้การยกระดับภาคการเกษตรไทยทั้งหมดแข็งแกร่งขึ้น อนึ่ง ภาคการเกษตรนั้นเป็น 1 ใน 5 ของภาคส่วนที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด การนำเทคโนโลยีมาปรับรูปแบบของการเกษตรจะสามารถลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงส่งเสริมให้ภาคการเกษตรมีความสามารถในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่นับวันมีแนวโน้มที่จะรุนแรง และแปรปรวนมากขึ้นในอนาคตอีกด้วย

กลยุทธ์ด้านราคา

เมื่อพิจารณาถึงปัจจัยหลาย ๆ ประการ ก็จะพบว่าเทคโนโลยี AI ยังสามารถกำหนดกลยุทธ์ด้านราคาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย  โดยแอปพลิเคชัน AI สามารถวิเคราะห์ตัวแปรทั้งหมดที่เกี่ยวข้องได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ เช่น ฤดูกาล, ราคาคู่แข่ง, โปรโมชัน, ความต้องการของลูกค้า ฯลฯ ทำให้เห็นภาพที่ชัดเจนของการตั้งราคาและแนวโน้มต่าง ๆ ที่ผ่านมา พร้อมให้คำแนะนำเกี่ยวกับชนิดของสินค้าและราคาที่ควรขาย เพื่อเพิ่มรายได้สูงสุด  ปัจจุบันมีบริษัทส่วนผสมเบเกอรีชั้นนำของยุโรปใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมชนิดนี้ เพื่อให้ได้คำแนะนำด้านราคาที่ดีที่สุดสำหรับสินค้าที่หลากหลายของบริษัท 

บรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์ที่คาดไม่ถึง

ความผันผวนของซัพพลายเชนอาหารส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อการผลิตอาหารและเครื่องดื่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสองปีที่ผ่านมา  ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นอีกหนึ่งคุณสมบัติของ AI ที่ช่วยให้ค้นพบวิธีการทำงานใหม่ ๆ ที่ดีกว่าได้  เช่น เครื่องมือ AI ที่เหมาะสมจะสามารถคาดการณ์เวลาที่เรือเดินทะเลจะมาถึง ช่วยให้ผู้ผลิตคำนวณเวลาที่วัตถุดิบจะมาถึงได้แม่นยำยิ่งขึ้น  และเป็นการให้รายละเอียดในระดับที่สามารถสร้างความแตกต่างได้อย่างสิ้นเชิง  เพราะไม่เพียงแต่ผู้ผลิตจะเห็นภาพตอนที่ส่วนผสมจะมาถึงได้ถูกต้องมากขึ้นเท่านั้น แต่เทคโนโลยียังสามารถนำปัจจัยต่าง ๆ มาพิจารณาร่วมด้วย เช่น ระยะเวลาขนถ่ายสินค้าที่โรงงานที่ช่วยให้กำหนดตารางเวลาการผลิตได้แม่นยำขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานและเพิ่มผลผลิตสูงสุด เป็นต้น

จะเห็นได้ว่า ข้อมูลที่ละเอียดขนาดนี้เป็นสิ่งที่ทำให้ AI เป็นรากฐานสำคัญของซัพพลายเชนที่แม่นยำ คล่องตัวและคาดการณ์ได้มากขึ้น ช่วยให้ธุรกิจสามารถวางแผนสำหรับเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นทั้งหมด รวมทั้งให้ข้อมูลเชิงลึกที่จำเป็นและนำไปใช้ได้จริง เพื่อจะได้ก้าวล้ำนำหน้าคู่แข่งไปอีกก้าว

ความยั่งยืน

นอกจากนี้ AI ยังส่งผลดีในประเด็นความยั่งยืนต่ออุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มอีกด้วย  โดยธุรกิจสามารถใช้ข้อมูลเชิงลึกที่สร้างขึ้น โดยแอปพลิเคชัน AI ควบคุมการใช้น้ำและพลังงานให้น้อยที่สุด ทำให้มั่นใจได้ถึงการผลิตที่ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ควบคู่ไปกับการลดของเสียที่อาจเกิดขึ้นในกระบวนการผลิตทั้งหมด  ในทำนองเดียวกัน การจับคู่ข้อมูลจำเพาะแบบแมชชีนเลิร์นนิงและการจัดสรรสต็อก จะช่วยทำให้ผู้ผลิตสามารถใช้สต็อกที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยยังคงรักษามาตรฐานได้ตามที่ลูกค้าต้องการ 

สำหรับธุรกิจที่มองการณ์ไกลยังมีการใช้ AI กำหนดวันหมดอายุแบบไดนามิกที่ปรับได้ตามคุณภาพของผลิตภัณฑ์ โดยใช้ข้อมูลที่มีคุณภาพร่วมกับข้อมูลอายุการเก็บรักษาของส่วนผสม  ดังนั้น AI จึงตอบโจทย์ที่ว่า ‘เราจะสามารถยืดอายุการเก็บรักษาได้อย่างปลอดภัย โดยพิจารณาจากคุณภาพของวัตถุดิบที่มีอยู่ได้หรือไม่’ ซึ่งท้ายที่สุดแล้วจะทำให้สินค้ามีอายุการขายที่นานขึ้น พร้อมลดของเสียและเพิ่มรายได้ไปในตัว ขณะเดียวกันเทคโนโลยี AI สามารถทำให้ซุปเปอร์มาร์เก็ตใช้ชั้นวางของอัจฉริยะได้ โดยมีการปรับเปลี่ยนราคาสินค้าไปตามอายุการเก็บรักษาที่เหลืออยู่และประวัติระบบขายหน้าร้าน ซึ่งจะช่วยลดของเสียและเพิ่มผลกำไรได้อีกทางหนึ่ง

เพิ่มผลผลิตสูงสุด

ยิ่งไปกว่านั้น AI ยังสามารถสร้างความแตกต่างได้อย่างชัดเจนในด้านการเพิ่มผลผลิต ด้วยการใช้อุปกรณ์ที่เชื่อมต่อ Internet of Things (IoT) ร่วมกับแมชชีนเลิร์นนิง ที่ทำให้การตั้งค่าเครื่องเป็นไปอย่างเหมาะสมเพื่อเพิ่มผลผลิตสูงสุด เช่น ผู้ผลิตสามารถสอบถามถึงวิธีการเพิ่มผลผลิตสูงสุด โดยพิจารณาจากคุณภาพของส่วนผสมและสภาวะต่าง ๆ ของกระบวนการ  ผู้ผลิตสามารถใช้ AI เพื่อเพิ่มผลผลิตของกระบวนการให้สูงสุดในทุกขั้นตอน โดยพิจารณาจากพารามิเตอร์ของกระบวนการต่าง ๆ ที่มากมายมหาศาล

AI คือการเชื่อมโยงข้อมูลต่าง ๆ เข้าด้วยกัน ใช้ข้อมูลปริมาณมหาศาลที่ภาคอาหารและเครื่องดื่มสร้างขึ้น และใช้เทคโนโลยี AI วิเคราะห์ข้อมูลเหล่านี้ เพื่อทำความเข้าใจตัวแปรซับซ้อนจำนวนมากที่เกิดในอุตสาหกรรมได้ดียิ่งขึ้น  เมื่อมีธุรกิจจำนวนมากขึ้นลงทุนในเทคโนโลยี AI ซัพพลายเออร์ก็จะสามารถพัฒนาโซลูชัน AI ที่สร้างสรรค์ได้มากขึ้น  โดยจะนำการเรียนรู้และประสบการณ์ของผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่มมาใช้เป็นเทมเพลต AI ที่สามารถนำไปปรับใช้กับธุรกิจที่คล้ายคลึงกัน  เพื่อส่งมอบข้อมูลเชิงลึกที่จำเป็นต่อการเพิ่มประสิทธิภาพสูงสุดและเพิ่มรายได้ให้กับธุรกิจ

AI ต้องใช้ข้อมูลในการวิเคราะห์ ตราบใดที่มีข้อมูล AI จะสามารถระบุแนวโน้มและรูปแบบของข้อมูล ถอดบทเรียนจากข้อมูลเชิงลึกเหล่านี้เพื่อให้ธุรกิจนำไปใช้งานต่อ การประยุกต์ใช้ข้อมูลเชิงลึกนี้จะทำให้การดำเนินงานดีขึ้น เร็วขึ้น และให้ผลกำไรมากขึ้นในทุกขั้นตอนของซัพพลายเชน ส่งผลให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มที่พร้อมตอบสนองและยืดหยุ่นไปทั่วโลก