“ความต้องการที่อยู่อาศัยกับวิถีชีวิตดิจิทัล” มีความท้าทายมากน้อยแค่ไหน เมื่อ COVID-19 เข้ามาเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภค
วิถีชีวิตดิจิทัลกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินชีวิตปัจจุบัน โดยมีตัวแปรสำคัญอย่างการแพร่ระบาดของโควิด-19 นวัตกรรมเข้ามามีบทบาทและเปลี่ยนแปลงการใช้ชีวิต รวมถึงรูปแบบธุรกิจไปสู่บริบทใหม่ที่ทุกคนต้องปรับตัวเข้าหา ซึ่งทำให้ผู้คนปรับตัวให้คุ้นเคยกับการใช้ชีวิตแบบรักษาระยะห่างและดูแลสุขอนามัยมากขึ้น และยังทำให้ทัศนคติบางอย่างเปลี่ยนไปเช่นกัน เห็นได้จากแบบสอบถาม DDproperty’s Thailand Consumer Sentiment Study รอบล่าสุด ที่เผยให้เห็นทัศนคติและพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปจากผลกระทบของโควิด-19 โดย 2 ใน 3 ของผู้บริโภค (66%) หลีกเลี่ยงการอยู่ในพื้นที่แออัดมากขึ้น ตามมาด้วยเกือบครึ่ง (42%) เลือกที่จะหลีกเลี่ยงการไปรับประทานอาหารนอกบ้านบ่อย ๆ โดยเกือบ 1 ใน 3 ของผู้บริโภค (31%) ยังคงกังวลใจเกี่ยวกับการแพร่ระบาดฯ เนื่องจากผู้ใกล้ชิดได้รับผลกระทบ ในขณะที่มีผู้บริโภคเพียง 1% เท่านั้นที่มองว่าโควิด-19 ไม่ได้มีผลต่อการดำเนินชีวิตเลย
โควิด-19 ปัจจัยเร่งคนหาบ้านก้าวเข้าสู่วิถีชีวิตดิจิทัล?
ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ (DDproperty) เว็บไซต์มาร์เก็ตเพลสด้านอสังหาริมทรัพย์อันดับ 1 ของไทย เผยข้อมูลที่ได้จากแบบสอบถามความคิดเห็นของผู้บริโภคที่มีต่อตลาดที่อยู่อาศัย DDproperty’s Thailand Consumer Sentiment Study รอบล่าสุด สะท้อนผลกระทบของโควิด-19 ที่กลายมาเป็นปัจจัยเร่งให้ผู้บริโภคเปลี่ยนมุมมองและพฤติกรรมการเลือกที่อยู่อาศัยไปจากก่อนยุค New Normal โดยมองหาบ้านที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตยุคใหม่ด้วยเช่นกัน
- Work from Home ทำให้เกิดการลาออกระลอกใหญ่ (The Great Resignation) มาตรการล็อกดาวน์ส่งผลให้การ Work from Home เป็นภารกิจประจำวันและแม้สถานการณ์จะเริ่มคลี่คลายและมีการกลับมาทำงานที่ออฟฟิศตามปกติแล้วก็ตาม ผู้บริโภคจำนวนมากได้ทบทวนรูปแบบการทำงานและวิถีชีวิตที่ต้องการมากขึ้น จนเกิดกระแสการลาออกระลอกใหญ่ของมนุษย์เงินเดือน (The Great Resignation) ในสหรัฐฯ ซึ่งก็มีความเป็นไปได้ในประเทศไทย เห็นได้จากผู้บริโภคมากกว่าครึ่ง (59%) เผยว่าตั้งใจหางานที่อนุญาตให้ Work from Home ได้มากขึ้น เนื่องจากเห็นความสำคัญของการได้ใช้ชีวิตกับครอบครัวและต้องการรักษาระยะห่างในสังคม นอกจากนี้ในช่วง Work from Home ที่ผ่านมา ผู้บริโภคต่างได้ปรับปรุงพื้นที่ใช้สอยเพื่อสร้างบรรยากาศที่บ้านให้รองรับการทำงานออนไลน์ไปแล้ว จึงอาจยังไม่เห็นความจำเป็นในการกลับไปทำงานที่ออฟฟิศ
- โลกออนไลน์มีบทบาทในการซื้อขายอสังหาฯ มากขึ้น จากเดิมที่ช่องทางออนไลน์เคยเป็นเพียงแหล่งค้นหาข้อมูลโครงการที่อยู่อาศัย แต่การแพร่ระบาดฯ เป็นอุปสรรคสำคัญในการออกไปเยี่ยมชมโครงการฯ ทำให้ผู้พัฒนาอสังหาฯ ต้องปรับกลยุทธ์ในการเชื่อมต่อโลกออนไลน์เพื่ออำนวยความสะดวกและกระตุ้นให้เกิดการตัดสินใจซื้อมากขึ้น ส่งผลให้ผู้บริโภคและนักลงทุนต้องเรียนรู้และปรับตัวตามไปด้วย โดยมากกว่าครึ่งของผู้บริโภคเลือกใช้ช่องทางออนไลน์ในการคัดเลือกโครงการที่อยู่อาศัยที่สนใจ (54%) และเยี่ยมชมโครงการเสมือนจริง (52%) นอกจากนี้ยังพบว่า 1 ใน 5 ของผู้บริโภค (20%) มีการเซ็นสัญญาซื้อขายผ่านออนไลน์ สะท้อนให้เห็นการปรับตัวและใช้ประโยชน์จากโลกออนไลน์ทั้งในฝั่งผู้ซื้อและผู้ขายได้เป็นอย่างดี
- Cryptocurrency เพิ่มโอกาสให้คนรุ่นใหม่ซื้อบ้าน การเข้ามามีบทบาทของสกุลเงินดิจิทัล หรือ Cryptocurrency ที่นอกจากจะเป็นการลงทุนที่เห็นผลตอบแทนเร็วแล้ว ผลตอบแทนจากการลงทุนในสกุลเงินนี้ยังถือเป็นช่องทางที่สร้างโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้เป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยที่มีราคาสูงได้ง่ายขึ้นอีกด้วย จากแบบสอบถามฯ พบว่า มากกว่าครึ่งของผู้บริโภค (57%) สนใจที่จะใช้สกุลเงินดิจิทัลในการซื้อบ้าน/คอนโดฯ โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ซึ่งเปิดรับเทคโนโลยีและเรียนรู้สิ่งใหม่ได้เร็วนั้น มีแนวโน้มสนใจซื้อบ้านด้วยสกุลเงินดิจิทัลสูงตามไปด้วย โดยกลุ่มช่วงอายุ 22-29 ปี ให้ความสนใจถึง 71% ในขณะที่ช่วงอายุ 30-39 ปี สนใจถึง 61%
ดีมานด์อสังหาฯ ยังโต ปัจจัยสนับสนุนเพียบ
ข้อมูลจากแบบสอบถาม DDproperty’s Thailand Consumer Sentiment Study รอบล่าสุด เผยให้เห็นว่า ความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยของผู้บริโภคยังคงมีแนวโน้มเติบโตถึงแม้จะมีผลกระทบจากโควิด-19 ผู้บริโภคที่มีความพร้อมด้านการเงินเริ่มมีการวางแผนซื้อที่อยู่อาศัยโดยคำนึงถึงแผนการใช้ชีวิตในระยะยาวมากขึ้น
- “มาตรการภาครัฐ” ปัจจัยบวกดันความต้องการซื้อบ้าน จากสภาพเศรษฐกิจยังคงไม่ฟื้นตัว ผู้บริโภคจึงเลือกที่จะวางแผนการเงินอย่างรัดกุมและชะลอการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออกไปก่อน เนื่องจากต้องการรักษากระแสเงินสดเอาไว้ อย่างไรก็ดี มาตรการจากภาครัฐที่ออกมาสนับสนุนการซื้อขายในตลาดอสังหาฯ อาทิ การลดค่าโอนกรรมสิทธิ์และค่าจดจำนองทั้งบ้านใหม่และบ้านมือสอง การผ่อนคลายมาตรการควบคุมสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (LTV) ชั่วคราวของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้กลายเป็นปัจจัยบวกที่มีแนวโน้มจะส่งผลให้ความต้องการซื้อของผู้บริโภคเติบโต โดย 7 ใน 10 ของผู้บริโภคเผยว่าตั้งใจจะซื้อที่อยู่อาศัยในอนาคต หลังจากที่ผู้บริโภคได้มีการปรับตัวและเรียนรู้ที่จะอยู่กับโควิด-19 ได้ดีขึ้น ประกอบกับช่วงที่ผ่านมาต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างที่อยู่อาศัยเริ่มปรับตัวสูงขึ้น และผู้พัฒนาอสังหาฯ มีแนวโน้มปรับราคาขายเพิ่มขึ้นเช่นกัน รวมไปถึงผลกระทบจากปัญหาความขัดแย้งนอกประเทศที่อาจส่งผลให้แนวโน้มราคาสินค้าและภาวะเงินเฟ้อในไทยปรับตัวสูงขึ้น ได้กลายเป็นอีกปัจจัยเร่งให้เกิดการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัย เห็นได้จากการที่ผู้บริโภควางแผนซื้อที่อยู่อาศัยภายใน 2 ปีมีถึง 45% ซึ่งเพิ่มขึ้นจากผลสำรวจรอบที่แล้ว (39%) สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการซื้อบ้านที่มีแนวโน้มสูงขึ้น
- คนวางแผนซื้อบ้านเพิ่ม รองรับแผนเกษียณ พบผู้บริโภคมากกว่า 3 ใน 4 (78%) ที่เป็นเจ้าของบ้านอยู่แล้วยังคงต้องการซื้อที่อยู่อาศัยเพิ่ม โดยมองว่าการซื้ออสังหาริมทรัพย์เพิ่มนั้นไม่ได้ตอบโจทย์การอยู่อาศัยเท่านั้น แต่วางแผนต่อยอดการใช้ชีวิตเพื่อความมั่นคงในอนาคตด้วย โดยเป้าหมายยอดนิยมของการซื้อบ้านเพิ่มอันดับต้น ๆ ของผู้บริโภค คือ ซื้อไว้รองรับแผนเกษียณอายุในอนาคต (31%) ตามมาด้วยการซื้อให้ญาติหรือพี่น้อง (28%) และซื้อปล่อยเช่าสร้างรายได้ระยะยาว (26%) นอกจากนี้ ยังพบว่า 46% ของผู้บริโภคที่เป็นเจ้าของบ้านปัจจุบันนั้นยังมีแผนที่จะซื้อที่อยู่อาศัยเพิ่มภายในช่วง 1 ปีข้างหน้านี้ สะท้อนให้เห็นว่ากลุ่มผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อและมีความพร้อมทางการเงินกลับมามีความมั่นใจที่จะจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น
- “สุขภาพ” ยังคงมีบทบาทสำคัญเมื่อมองหาที่อยู่อาศัย การแพร่ระบาดฯ ที่ยาวนานส่งผลให้เกือบ 2 ใน 3 ของผู้บริโภคปัจจุบัน (63%) หันมาให้ความสำคัญกับไลฟ์สไตล์ที่ส่งเสริมการสร้างสุขภาพที่ดีอย่างต่อเนื่อง โดยมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นในกลุ่มผู้สูงอายุ เนื่องจากมองว่าการมีร่างกายที่แข็งแรงและพฤติกรรมสุขภาพที่ดีจะช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกาย และช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัส นอกจากการดูแลสุขภาพแล้ว ผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังตระหนักถึงความสำคัญของการมีสถานบริการสุขภาพอยู่ใกล้ที่อยู่อาศัยแม้ว่าการแพร่ระบาดฯ จะหมดไปก็ตาม โดยแผนการดูแลสุขภาพในอนาคตของผู้บริโภคถึง 88% เผยว่าต้องการเช่าหรือซื้อที่อยู่อาศัยที่อยู่ใกล้โรงพยาบาลมากที่สุด ตามมาด้วย 45% มองหาที่อยู่อาศัยใกล้ร้านขายยา และ 37% มองหาที่อยู่อาศัยใกล้ศูนย์บริการด้านสุขภาพเฉพาะทาง เพื่อวางแผนรองรับการใช้ชีวิตระยะยาวที่ต้องการความสะดวกสบายในการเดินทางไปพบแพทย์หรือตรวจเช็กสุขภาพ
- รถยนต์ไฟฟ้ายังมาแรง ตัวแปรสำคัญเมื่อคิดซื้อบ้าน เมื่อภาครัฐมีการกำหนดทิศทางการพัฒนาและขับเคลื่อนมาตรการสนับสนุนฯ รถยนต์ไฟฟ้าที่ชัดเจนมากขึ้น ส่งผลให้กระแสความสนใจซื้อรถยนต์ไฟฟ้าในไทยกลับมาอีกครั้ง โดย 2 ใน 3 ของคนหาบ้าน (67%) เผยว่ายินดีที่จะจ่ายเงินเพิ่มขึ้นเพื่อซื้อบ้าน/คอนโดฯ ที่มีจุดชาร์จรถยนต์ไฟฟ้ารองรับ เนื่องจากผู้บริโภคคำนึงถึงความยั่งยืนของการใช้ชีวิตในอนาคต การซื้อที่อยู่อาศัยแต่ละครั้งถือเป็นเรื่องใหญ่ จึงต้องคิดอย่างรอบคอบ มองไปถึงฟังก์ชั่นการใช้งานที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตในระยะยาวให้ได้มากที่สุด นอกจากนี้ รถยนต์ไฟฟ้ายังช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเติมน้ำมันที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายได้อีกทางหนึ่ง