ผู้รับผิดชอบด้านการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลขององค์กร ให้ความสำคัญกับกลยุทธ์ไฮบริดคลาวด์มากขึ้น
บทความโดย อาร์วิน สวามี, ผู้อำนวยการฝ่ายอุตสาหกรรมบริการทางการเงิน ประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิค เร้ดแฮท
เร้ดแฮททำการสำรวจความคิดเห็นของผู้นำองค์กรและผู้มีอำนาจตัดสินใจด้านไอทีทุกปี โดยถามความเห็นเกี่ยวกับเป้าหมายด้านไอที และเทคโนโลยีที่องค์กรต่าง ๆ ให้ความสำคัญเป็นลำดับแรก ๆ ในปีที่จะมาถึง รวมถึงความคืบหน้าในการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลขององค์กรนั้น ๆ
รายงาน Red Hat 2022 Global Tech Outlook ประจำปีนี้ มีข้อมูลเชิงลึกที่น่าสนใจหลายประการ เช่น AI/ML, เอดจ์ (Edge) และการประมวลผลโดยไม่ต้องพึ่งพาเซิร์ฟเวอร์ เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่องค์กรที่ตอบแบบสำรวจจัดให้มีความสำคัญเป็นลำดับแรก ๆ ในปีนี้ และผู้ตอบแบบสำรวจระบุว่า ช่องว่างด้านทักษะเป็นอุปสรรคสำคัญที่สุดต่อการเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัล
ผลสำรวจยังเผยให้เห็นสิ่งสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ องค์กรที่เป็นผู้นำด้านการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลกำลังวางแผนใช้กลยุทธ์ไฮบริดคลาวด์ แทนที่จะต้องพึ่งพาไพรเวท หรือพับลิคคลาวด์เพียงอย่างเดียว
ผลสำรวจสำคัญจาก Red Hat 2022 Global Tech Outlook
ช่วงต่าง ๆ ของการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล
การสำรวจครั้งนี้ได้มีการถามคำถามที่เจาะจงว่าบริษัทที่ตอบแบบสำรวจอยู่ในช่วงใดของเส้นทางการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล ซึ่งผลสำรวจพบว่าส่วนใหญ่อยู่ในระดับที่ดี เช่น อยู่ในช่วงที่กำลังทำการเปลี่ยนแปลง ช่วงเร่งการเปลี่ยนแปลง หรือช่วงที่เป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลง โดยตัวเลขผลสำรวจชี้ให้เห็นว่า องค์กรที่อยู่ในช่วง “เร่งการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว” และ “กำลังเปลี่ยนแปลง” เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา
สิ่งที่น่าสนใจประการหนึ่งจากผลสำรวจคือ มีบริษัทเพียงไม่กี่แห่งที่อยู่ในช่วง “หยุดกลางคัน” หรือ “ไม่มีแผน” ในการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา
ผลสำรวจจากผู้ตอบแบบสำรวจที่เป็นลูกค้าและที่ไม่ใช่ลูกค้าของเร้ดแฮท
การสำรวจครั้งนี้ยังได้จำแนกคำตอบเหล่านี้เป็นคำตอบจากผู้ตอบแบบสำรวจที่เป็นลูกค้าของเร้ดแฮท และจากผู้ที่ไม่ใช่ลูกค้าของเร้ดแฮท เพื่อเปรียบเทียบผลที่ได้ และผลสำรวจที่โดดเด่นที่สุดคือ เกือบสองเท่าของเปอร์เซ็นต์ของผู้ตอบแบบสำรวจที่เป็นลูกค้าเร้ดแฮทพิจารณาว่าตนเองอยู่ในช่วง “เป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลง” ในกระบวนการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล
ผลสำรวจที่ได้นี้ สืบเนื่องจากผู้ตอบแบบสำรวจที่เป็นลูกค้าของเร้ดแฮท (53%) ระบุว่าเหตุผลหลักคือการมีช่องว่างด้านทักษะน้อยกว่าองค์กรที่ไม่ใช่ลูกค้าของเร้ดแฮท รวมถึงมีอุปสรรคที่แตกต่างกัน (เช่น หนี้ทางเทคนิค) และวิธีการวัดความสำเร็จ (เช่นให้บริการด้านไอทีได้เร็วขึ้น)
กลยุทธ์ด้านไฮบริดคลาวด์ กับ ไพรเวทคลาวด์
ผลสำรวจพบว่ามีองค์กรที่ตอบแบบสำรวจเพียง 5% เท่านั้นที่ยังไม่มีการวางแผนกลยุทธ์ในการใช้คลาวด์ และแม้ว่ามีองค์กรส่วนหนึ่ง (18%) ยังคงอยู่ในช่วงการสร้างกลยุทธ์ แต่ส่วนใหญ่มีแผนกลยุทธ์ในการใช้คลาวด์อยู่แล้ว รวมถึง 30% ที่ตัดสินใจใช้กลยุทธ์ไฮบริดคลาวด์
หากเรารวมองค์กรที่เลือกใช้มัลติคลาวด์ ซึ่งเป็นคำที่หลายคนใช้สลับกันกับไฮบริดคลาวด์แล้ว จำนวนโดยรวมขององค์กรที่เลือกกลยุทธ์คลาวด์ที่ต้องใช้คลาวด์มากกว่าหนึ่งประเภทจะเพิ่มขึ้นเป็น 43%
ซึ่งสูงขึ้นห้าเปอร์เซ็นต์จากปีที่แล้ว
องค์กรที่เป็นผู้นำในการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลและกลยุทธ์คลาวด์
เมื่อพูดถึงกลยุทธ์คลาวด์ องค์กรที่ประเมินตนเองว่าอยู่ในช่วงที่เป็น “ผู้นำในการเปลี่ยนแปลง” หรือ กำลัง “เร่งการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว” ในการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลให้ความสำคัญกับไฮบริดคลาวด์อย่างมาก
ในทางกลับกัน องค์กรที่อยู่ในช่วงเริ่มต้นการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลมีแนวโน้มใช้ไพรเวทคลาวด์เป็นอันดับแรก สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าองค์กรที่เป็นผู้นำด้านการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลมีความเข้าใจ และสามารถใช้ประโยชน์จากความยืดหยุ่น และได้สัมผัสประสบการณ์การทำงานที่เข้ากันได้ของแพลตฟอร์มโอเพ่นไฮบริดคลาวด์
ลำดับความสำคัญระหว่าง นวัตกรรม ความเรียบง่าย และ ค่าใช้จ่าย
องค์กรที่ประเมินตัวเองว่าอยู่ในช่วงเป็น “ผู้นำในการเปลี่ยนแปลง” ในการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลจำนวน 33% พิจารณาว่า “นวัตกรรม” เป็นสิ่งสำคัญลำดับสูงสุด มีเพียง 6% เท่านั้นที่เลือก “ความเรียบง่าย” และมีเพียง 2% ที่เลือก “ค่าใช้จ่าย” ซึ่งตรงข้ามกันอย่างสิ้นเชิงกับกับองค์กรที่อยู่ในช่วง “หยุดกลางคัน” บนเส้นทางการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล ซึ่ง 13% ให้ความสำคัญสูงสุดกับ “นวัตกรรม” ในขณะที่ 11% ให้ความสำคัญกับ “ความเรียบง่าย” และ 13% ให้ความสำคัญกับ “ค่าใช้จ่าย”
ข้อมูลดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าโครงการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลต่าง ๆ เริ่มต้นจากความพยายามให้การทำงาน
มีประสิทธิภาพ แต่หลังจากนั้นจึงรับรู้ได้ว่าเป็นองค์ประกอบหลักในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน การเติบโตของรายได้ และการมอบประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้า
เพราะเหตุใดจึงเลือกใช้กลยุทธ์โอเพ่นไฮบริดคลาวด์
ประโยชน์สูงสุดของกลยุทธ์ไฮบริดคลาวด์ คือ สามารถเลือกใช้โซลูชันที่ดีที่สุดสำหรับแต่ละงานหรือแต่ละเวิร์กโหลดได้ เช่น องค์กรหนึ่ง ๆ อาจใช้โครงสร้างพื้นฐานที่อยู่ภายในองค์กรเพื่อจัดเก็บข้อมูลสำคัญ แต่ใช้บริการพับลิคคลาวด์เพื่อพัฒนาหรือโฮสต์แอปพลิเคชัน เป็นต้น
องค์กรยังสามารถใช้บริการจากผู้ให้บริการพับลิคคลาวด์หลายรายพร้อมกัน เพื่อให้เป็นไปตามข้อบังคับในท้องถิ่นที่แตกต่างกัน หรือสามารถย้ายเวิร์กโหลดจากระบบหนึ่งไปยังอีกระบบหนึ่ง เพื่อให้ได้ราคาและใช้งานได้เหมาะสมตามความต้องการ องค์กรบางแห่งอาจสนใจการประมวลผลที่เอดจ์ เพื่อกระจายการประมวลผลและการจัดเก็บข้อมูลไปทำงานให้ใกล้กับแหล่งข้อมูลและผู้ใช้งานมากขึ้น เพื่อมอบประสบการณ์ที่ดีให้ลูกค้า และทำการตัดสินใจทางธุรกิจได้แบบเรียลไทม์
กลยุทธ์โอเพ่นไฮบริดคลาวด์ช่วยให้องค์กรสามารถทำสิ่งเหล่านี้ได้ทั้งหมด ด้วยแพลตฟอร์มที่มีความเสถียรในการรันเวิร์กโหลดที่สามารถโยกย้ายไปใช้งานในสภาพแวดล้อมที่แตกต่างได้ ทำให้มีความยืดยุ่น มีความสามารถในการปรับขนาดการทำงาน และมีประสิทธิภาพมากขึ้นตามความต้องการที่เพิ่มมากขึ้นและที่เปลี่ยนแปลงไปขององค์กร
กล่าวได้ว่า ไม่มีผู้ให้บริการคลาวด์หรือสภาพแวดล้อมภายในองค์กรใดที่จะตอบสนองความต้องการทั้งหมดขององค์กรได้ และโซลูชันที่มีกรรมสิทธิ์ก็เป็นตัวจำกัดทางเลือกและความสามารถในการปรับตัวในอนาคต ดังนั้นเพื่อให้องค์กรปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงได้โดยไม่ต้องปรับปรุงสิ่งที่จะทำให้เกิดค่าใช้จ่ายสูง องค์กรควรเลือกใช้ไฮบริดคลาวด์ที่สร้างบนโครงสร้างพื้นฐานที่ใช้หลักเกณฑ์ของโอเพ่นซอร์ส ซึ่งช่วยให้ทีมที่ดูแลด้านการดำเนินงาน การพัฒนา และระบบความปลอดภัย สามารถสร้างและบริหารจัดการกลุ่มงานด้านไอทีทั้งหมดบนแพลตฟอร์มมาตรฐานหนึ่งเดียว ที่สามารถทำงานได้ทั้งกับระบบที่อยู่ภายในองค์กร เวอร์ชวลแมชชีน ไพรเวทคลาวด์ พับลิคคลาวด์ และเอดจ์